ผู้จัดการรายวัน360- “ศักดิ์สยาม”ยันไม่ยุบสนามบินแม่ฟ้าหลวง-หาดใหญ่ พร้อมเดินหน้าลงทุนเพิ่ม เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทั้ง 6 สนามบิน ส่วนเทอร์มินอล 2 วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท มั่นใจไม่สะดุด ชี้ต้องกล้าตัดสินใจเพราะจำเป็น คาดชง สศช.ได้ในภายในเดือนพ.ย.นี้ และจะก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกินปี 65 ขณะเดียวกันกำชับให้ ทอท.-ทย.จับมือ สนับสนุนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ลดค่าแลนด์ดิ้ง 50% ให้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ จูงใจช่วงไฮซีซั่น 3 เดือน และพิจารณาฟื้นแผนโอนกระบี่ให้ ทอท. เร่งเชียงใหม่,ภูเก็ต แห่งที่ 2
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ว่า ปัจจุบัน ทอท.มีแผนลงทุนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถสนามบินในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ 180 ล้านคน (ระหว่างประเทศ 150 ล้านคน และในประเทศ 30 ล้านคน) โดยปัจจุบันทั้ง 6 แห่ง มีขีดรองรับที่ 101 ล้านคน ขณะที่มีผู้โดยสารจริง รวม 141.87 ล้านคน/ปี
ทั้งนี้ มีสนามบิน 5 แห่ง ที่มีผู้โดยสารเกินขีดการรองรับ ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน /ปี แต่ใช้บริการจริง 64.71 ล้านคน, ดอนเมือง รองรับได้ 30 ล้านคน ใช้บริการจริง 41.01 ล้านคน, เชียงใหม่รองรับได้ 8 ล้านคน ใช้บริการจริง 11.32 ล้านคน ภูเก็ตรองรับได้ 12.5 ล้านคน ใช้บริการจริง 17.85 ล้านคน หาดใหญ่รองรับได้ 2.5 ล้านคน ใช้บริการจริง 4.03 ล้านคน และเชียงราย รองรับได้ 3 ล้านคน ใช้บริการจริง 2.95 ล้านคน
"ให้ทอท.เร่งแผนการพัฒนาขีดความสามารถทุกแห่งให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ในปี 2567 ขีดความสามารถจะรับได้ที่ 171.5 ล้านคน/ปี และยืนยันว่า 6 สนามบิน ของทอท.ไม่มีแผนหยุดการพัฒนาแต่อย่างใดเพราะเชื่อว่าศักยภาพประเทศไทยในการขนส่งทางอากาศยังมีอีกมาก เพียงแต่จะพัฒนาได้ทันหรือไม่เท่านั้น" นายศักดิ์สยาม กล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,081.564 ล้านบาทนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่ให้เรียกเทอร์มินอล 2 เพราะว่าเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต่อขยายไป ด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) ซึ่งยืนยันเดินหน้า เพราะมีความจำเป็น แม้ว่าจะมีการเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซทเทิลไลท์) หลังที่ 1 แต่ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทอท.ได้ทำเวิร์คชอปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ หมดแล้ว รวมถึงผู้แทนสภาสถาปนิกแล้ว ซึ่งทอท.จะสรุปโครงการให้กระทรวงได้ในเดือน พ.ย.62 โดยตามขั้นตอนจะต้องเสนอ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือเสร็จไม่เกินปี 65
ฟื้นแผนโอนสนามบินกระบี่
นอกจากนี้ ทอท. ยังมีแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ แห่งที่ 2 รวมทั้งการ บริหารสนามบิน ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี กระบี่ แม่สอด และ บุรีรัมย์ ซึ่งได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม พิจารณารูปแบบบริหารที่เหมาะสม เช่น รับจ้างบริหาร (Management contract) หรือ โอนให้ทอท.บริหารเต็มรูปแบบ
สั่งลดค่าแลนด์ดิ้งชาเตอร์ไฟท์ 50%
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในการสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาล จะมีการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Fee) ให้แก่สายการบินที่ให้บริการ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) 50% โดยให้ ร่วมมือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการบูรณาการ จัดตารางการบิน (Slot) ร่วมกันเพื่อให้นำ Charter Flight ที่ไม่สามารถไปลงที่สนามบินหลักของทอท. ไปลงสนามบินของ ทย.ที่อยู่ใกล้เคียงได้ จะดำเนินการภายในช่วง 3 เดือนก่อนสิ้นปี 2562 หากสามารถเพิ่มจำนวนนักท่อง เที่ยวได้จะพิจารณาขยายเวลาออกไปอีก โดยทอท.จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ในเดือนพ.ย.นี้ จากปัจจุบัน ทอท. จัดเก็บค่าแลนด์ดิ้งสำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก 10,000 บาท และเครื่องบินขนาดใหญ่ประมาณ 60,000 บาท
พร้อมกันนี้ ให้แนวทางในการพิจารณา บทปรับกรณีที่สายการบินมีการจอง Slot หรือกำหนดตารางบินแล้ว แต่ไม่ทำการบินได้จริง โดยปัจจุบัน สายการบินจะยกเลิกSlot ได้ ก็ต่อเมื่อไม่ทำการบิน 20% ของเที่ยวบินที่ขอไป ซึ่งไม่อยากให้รอถึง 20% หากกฎหมายหรือระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ เพื่อทำให้สายการบินบริหารจัดการ Slot ที่ได้ไป และ เพื่อไม่ให้ทอท. สูญเสียโอกาสในการใช้สนามบิน เพราะยังมีสายการบินอีกมากที่ต้องการ Slot แต่เราไม่มีให้
นอกจากนี้ ให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Visa) เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมต่อระบบราง รถ เรือ อากาศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มราคา