เชียงราย - ภาคเอกชนเมืองพ่อขุนฯ รุมค้านสุดตัว..หลังข่าวแพร่สะพัดผู้บริหาร ทอท.อ้างผลขาดทุน จ่อยุบท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย รวมทั้งท่าอากาศยานหาดใหญ่ เชื่อเป็นไปไม่ได้ ชี้ถ้าขาดทุนจริงควรลดต้นทุน-ลดโบนัส-จัดโปรฯ ดึงลูกค้าแทน
นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยถึงข่าวที่แพร่สะพัดออกมาว่าผู้บริหารบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) จำกัด (มหาชน) มีแผนจะยุบท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย-ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ด้วยเหตุผลเรื่องผลประกอบการว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรจะทำอย่างยิ่งและเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
กรณีท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง อยู่คู่กับพื้นที่มานานและที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ทอท.เองก็มีวางแผนจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท และได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนหากว่าต้องยุบก็เหมือนละลายงบประมาณที่ตัวเองลงทุนไปแล้วด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
นายอนุรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จะมีสายการบินภายในประเทศ 12 สายการบิน ทำการบินวันละหลายสิบเที่ยวแล้ว ยังมีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากเกาหลีใต้ และในอดีตก็เคยมีมาจากประเทศจีนอยู่เนืองๆ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ได้ผลักดันเส้นทางการบินเพิ่มเติมจากเชียงราย-ตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศพม่า และเชื่อมโยงไปยังเมืองฮานอย และโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามด้วย เนื่องจากเชียงรายถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมหลายด้านของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจการค้า การคมนาคมและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมาก
“ข้อมูลเรื่องการจะยุบเลิกอาจเกิดจากความเข้าใจผิดบางประการก็เป็นไปได้ ซึ่งทางหอการค้าและภาคเอกชนจะสอบถามข้อมูลและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป”
โดยจากการหารือกับผู้ใหญ่ในจังหวัดฯ ยังทราบอีกว่าท่าอากาศยานแห่งนี้ได้รับพระราชทานชื่อเป็นท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ดังนั้นการจะดำเนินการใดๆ ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน รวมทั้งปีที่ผ่านมาเชียงรายมีการท่องเที่ยวที่ดีมาก เป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองรองที่ทำรายได้เข้าจังหวัดได้มากที่สุด การให้ข้อมูลใดๆ จึงควรคำนึงถึงบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวหรือสิ่งที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าเรื่องนี้ควรจะพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนมากกว่านี้ หากเกิดปัญหาขึ้นจริงก็ควรหาวิธีการอื่นทดแทนมากกว่ายุบ อย่างกรณีท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของรัฐในการค้าขายลุ่มแม่น้ำโขงด้านเชียงราย พบว่ามีการสร้างท่าเรือใหญ่โตแต่ขาดเพียงคนยกสินค้าที่รัฐยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ต้องมีการไปเช่าเครนภาคเอกชนจากเขต อ.เมืองเชียงราย หรือไกลถึงพะเยา ไปยกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขึ้น-ลงเรือ จนต้นทุนสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนในที่สุด
กรณีสนามบินนี้ก็เช่นกัน ตนเห็นว่าหากผู้โดยสารมีจำนวนลดลงก็คงจะเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งมีขึ้นและลง ส่วนการแก้ไขปัญหาควรคิดหาวิธีการสร้างแรงจูงใจ หรือจัดโปรโมชัน หรือลดค่าใช้จ่าย เช่น โบนัส ฯลฯ แทนการยุบเลิกซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่าได้
สำหรับท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 3,042 ไร่ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2535 มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี และสามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ปานกลางและใหญ่ เช่น โบอิ้งขนาดต่างๆ แอร์บัส ฯลฯ ได้ ปัจจุบันมีสายการบินใช้บริการจำนวน 12 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบินและระหว่างประเทศ 6 สายการบิน ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางระหว่างเชียงราย-กรุงเทพฯ (ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง) วันละประมาณ 40 เที่ยวบิน นอกจากนี้ยังมีเชียงราย-หาดใหญ่ เชียงราย-ภูเก็ต ฯลฯ
ในปี 2562 มีเที่ยวบิน 20,511 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 2,953,254 คน ทำให้ ทอท.มีแผนเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัดในปี 2561- 2565 ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางขับขนาน งานปรับปรุงทางขับ หลุมจอด การก่อสร้างทางเชื่อมทางวิ่ง งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ถนน งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารบำรุงรักษา และงานก่อสร้างอาคารดับเพลิงกู้ภัย ด้วยงบประมาณ 726 ล้านบาท นอกจากนี้มีโครงการร่วมลงทุนภาครัฐ และเอกชน โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน และโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถยนต์ รวมทั้งมีแผนพัฒนาต่อเนื่องเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 ทอท.ประกาศว่าได้มีการอนุมัติแผนพัฒนาด้วยงบประมาณ 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือระยะที่ 1 วงเงินลงทุนประมาณ 3,700 ล้านบาท มีเป้าหมายพัฒนาสนามบินให้รองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.3 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 1,900 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี
โดยการพัฒนาแบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานเขตการบินจะมีการก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศใต้และซ่อมปรับปรุงลานจอดอากาศยานเดิม ก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือและทางขับทางเชื่อมต่อทางวิ่งให้สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ได้ 12 ลำ กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารจะมีการปรับปรุงอาหารผู้โดยสารหลังเดิมและสร้างส่วนขยายอาคารด้านทิศเหนือ และชานชลารับส่งผู้โดยสารรวมทั้งสร้างหลุมจอดประชิดอาคารรวม 5 หลุมจอด
และกลุ่มงานระบบสนับสนุนท่าอากาศยานโดยจะมีการปรับปรุงระบบถนนภายในจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ก่อสร้างขยายอาคารคลังสินค้า ก่อสร้างขยายโรงซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวยังเพื่อแบ่งเบาความแออัดของท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่อยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย