ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แยกเขี้ยวขู่ฟ่อๆ เป็นรายวัน
ประเด็นยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) เรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2562 เป็นต้นไป โดยสมัยประชุมจะมีเวลาราว 4 เดือน
เท่ากับว่าสมัยประชุมนี้จะสิ้นสุดราวช่วงปลายเดือน ก.พ.63
ทั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ “จองกฐิน” ขอยื่น “ซักฟอก” กันไว้ตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว โดยมีกระแสข่าวว่าได้นัดหมายวันเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า จะระเบิดศึกซักฟอกได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค.62 แล้วด้วยซ้ำ
เรียกว่าเป็น “ไฟท์บังคับ” ให้ต้องยื่น เพราะกลัว “เสียสิทธิ์” ด้วยเป็นสมัยประชุมสุดท้ายของปีเท่านั้น
อย่างไรก็ดีการตั้งท่าขอยื่นซักฟอกรัฐบาลของฝ่ายค้านนั้น ก็ถูกมองว่าเป็นการทำตามหน้าที่เพื่อไม่ให้ “เสียสิทธิ์” การใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรถล่มรัฐบาลเท่านั้น เพราะ “รัฐบาลใหม่” ยังทำงานมาได้ไม่ถึงครึ่งปีดีด้วยซ้ำ ประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
โดยเฉพาะที่ผ่านมาเรื่อง “ทุจริตคอร์รัปชัน” ที่ดูเหมือนฝ่ายค้านชุดนี้จะยังไม่สามารถเปิดแผลรัฐบาลได้เลย
ยิ่งจับท่าที “แกนนำฝ่ายค้าน” ในซีกของพรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้านเบอร์ 1 ที่ให้ข้อมูลในอารมณ์เลียบค่าย ไม่สามารถเจาะจงไปได้ว่าจะอภิปรายเรื่องใด หรือมีประเด็นไหนที่เป็น “จุดสลบ” ของรัฐบาล มีเพียงการสาดเป้าไปที่ “พี่น้อง 3 ป.” ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
ตั้งประเด็นเบาหวิว “ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ” ส่วนเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ก็อ้อมแอ้มว่า มีแน่นอน แต่ขออุบไว้ก่อน
จนถูกปรามาสล่วงหน้าว่ากฐินซักฟอกงวดนี้ทำท่าจะ “บ่มิไก๊” อีกแล้ว
หลังจากเคยกลัว “เสียสิทธิ์” จน “เสียของ” มาแล้ว กับการยื่นอภิปรายโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนของรัฐบาล ที่โหมโรงเสียดิบดี พอฉายจริงกลับไม่เร้าใจอย่างที่คิด ไม่ต่างจากการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวาระที่ 1 ที่จืดชืดอย่างไม่น่าเชื่อ
สำคัญว่าไม่เพียงเจาะยางรัฐบาลให้ซวนเซได้เท่านั้น “อาฟเตอร์ช็อก” หลังลงมติ กลับทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีปัญหาจน “ออกอาการ” มากกว่า จากกรณี ส.ส.ลงคะแนนสวนมติพรรค
ทำเอา “รัฐบาลลุงตู่” ที่เป็น “เรือเหล็กปริ่มน้ำ” ถึงกลับยิ้มกริ่มเลยทีเดียว
ทีนี้ก็ต้องมาเจาะดูว่า เหตุใดการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาฯ ถึงเข้าขั้น “ด้อยประสิทธิภาพ” ทั้งที่เสถียรภาพของรัฐบาลในสภาฯก็ไม่สู้ดีนัก มีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งเพียงไม่กี่เสียง
งานนี้โทษใครไม่ได้ คงต้องชี้เป้าไปที่ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน ที่มี ส.ส.เป็นอันดับ 1 อีกทั้งยังมีประสบการณ์ทำงานการเมืองมากกว่าพรรคอื่นๆทั้งหมดอีกด้วย
แต่ในช่วงแรกของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หลังไม่มีสภาฯมานาน กลับเป็นฝ่าย “เดินตามเกม” ของน้องใหม่ “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ ตลอดจน “ค่ายเสรี” พรรคเสรีรวมไทย ที่มุ่งเน้นประเด็นเชิงเทคนิค ที่เป็นนามธรรม มากกว่าการจุดประเด็นความเดือดร้อนของประชาชน หรือการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นรูปธรรม มี “ใบเสร็จ” มากกว่า
มีการวิเคราะห์ลงไปอีกว่า เหตุที่ “คนเพื่อไทย” โชว์ฟอร์มไม่สมราคา ก็ด้วยการบริหารจัดการภายในมีปัญหาประเภท “ไม่รู้ว่าใครใหญ่”
แน่นอนว่า “ค่ายสีแดง” ยังอยู่ในอาณัติของ “คนแดนไกล” ที่รู้กันดีว่าไม่พ้น “เสี่ยแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีอยู่ที่ต่างประเทศ แต่ตามประสา “น้ำไกลไม่อาจดับไฟใกล้” การสั่งการใดๆจึงมีปัญหาพอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบหมายให้ “คุณหญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค ต่อเนื่องหลังจากประสบความล้มเหลวจากการเลือกตั้ง จนมีการตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมี “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค พ่วงผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ
ยิ่งทำให้เกิดความสับสนในการบริหารงาน เพราะลูกพรรคไม่รู้จะฟังใคร ส่งผลให้เกิดภาวะ “ปีนเกลียว” กันระหว่าง “ทีมเจ๊หน่อย-ทีมเฮียพงษ์” มาตลอด เพราะต่างก็อ้าง “อาญาสิทธิ์” จาก “คนแดนไกล” เหมือนกัน
อีกทั้งยังมี ส.ส.เพื่อไทย ไม่น้อยที่ไม่ปลาบปลื้ม “คุณหญิงเจ๊” เป็นทุนเดิม บวกกับความไม่พอใจในเรื่องการแบ่งเวลาอภิปรายแสดงบทบาทในสภาฯ หรือการแบ่งงานแบบเลือกที่รักมักที่ชัง กระทั่งการวางตัว ส.ส.ในคณะกรรมาธิการของสภาฯ และการแบ่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการฯ ที่สร้างความไม่พอใจภายในให้กับ ส.ส.เป็นอย่างมาก
แล้วยังต้อง “เสียความรู้สึก” กับแนวทางการทำงานของต้นสังกัด เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หรือนิกเนมว่า “กมธ.ปราบโกง” ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นงานรัฐบาล และมีอำนาจในการเรียกเอกสารหลักฐานเกี่ยวการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐ ได้เป็นอย่างดี ไปตกอยู่มือพรรคอื่น
โดย พรรคเพื่อไทย เลือกไม่ยึด กมธ.ปราบโกง ไว้เอง พร้อมประเคนให้ “บิ๊กตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน กมธ. ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เมื่อ “เสรีพิศุทธิ์” เลือกที่จะใช้อำนาจ กมธ.มุ่งไปที่ประเด็นทางเทคนิคอย่างกระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณ และสถานะของรัฐบาล มากกว่าการตรวจสอบปราบโกง ที่มีเรื่องร้องเรียนเป็นหางว่าว
ถึงขนาด ส.ส.เพื่อไทย หลายคนเลือกที่จะ “เกียร์ว่าง” ดีกว่า หรือบางคนก็อาศัยเวทีที่ประชุมพรรคโวยวาย แต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับจากหัวโต๊ะ
ไม่เพียงเท่านั้นปี่กลองเลือกตั้งท้องถิ่นที่โหมประโคมกันอยู่ในขณะนี้ ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งภายใน “ค่ายเพื่อไทย” หยั่งลึกลงไปอีก เมื่อเกิดจังหวะ “ผิดคิว” ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่การชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่เต็งหามของพรรคอย่าง “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เลือกที่จะชิ่งไปลงสมัครในนามอิสระ โดยมีการยืนยันว่าได้รับ “ไฟเขียว” จาก “คนแดนไกล” แล้ว
แต่อีกด้าน “เด็กเจ๊” กลับออกมาแถลงข่าวว่า ที่ประชุม ส.ส.กทม.ของพรรคเพื่อไทย มีมติให้พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เช่นกัน จน “สมพงษ์” ในฐานะหัวหน้าพรรคต้องออกมาแตะเบรกแทบไม่ทัน
พร้อมทั้งมีข่าวว่า “หญิงหน่อย” ต้องแบกฉายา “เจ้าแม่นครบาล” ไปพบ “ทักษิณ” เพื่อขอความเห็นใจถึงต่างแดน ด้วยมองว่าหากไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็จะกระทบฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส.กทม.ถึง 10 ชีวิต อีกทั้งยังเสียฟอร์ม “เจ้าแม่นครบาล” ด้วย
ไม่เท่านั้น พื้นที่ “เมืองหลวงสีแดง” อย่าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ในส่วนของการส่งผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ก็ยังมีปัญหาอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้ง “ส.ว.ก๊อง” ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ที่เชียงใหม่ หรือ “มาดามยิ้ม” วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ที่เชียงราย
ทั้งคู่ก็ได้ไฟเขียวจาก “นายใหญ่” ไม่ต่างจาก “ชัชชาติ” แต่ปรากฏว่า ก็มีการปล่อยข่าวว่า พรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจส่งผู้สมัครรายอื่น ทั้งชื่อของ “เสี่ยโต๊ะ” บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่คนปัจจุบัน ที่แม้มีข่าวว่าปันใจให้ “ค่ายพลังประชารัฐ” ไปนานแล้ว แต่ก็มี ส.ส.เชียงใหม่ ของพรรคเพื่อไทย ยังถือหางอยู่ โดยเฉพาะรายของ “ส.ส.กุ้ง” ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เขต 1 ที่เป็นหลาน “นายกฯโต๊ะ” ซึ่งมีข่าวว่าใกล้ชิดกับ “หญิงหน่อย” ไม่น้อย
หรือกระทั่ง “มาดามยิ้ม” ที่มีศักดิ์เป็น “สะใภ้หัวหน้าพรรค” ก็ยังถูกท้าทายโดย สามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย ที่สอบตกจากสนามใหญ่ โดยว่ากันว่า “เจ๊หน่อย” ถือหางฝ่ายหลังด้วย
และว่ากันว่าการช่วงชิงขอลงสมัคร นายก อบจ.ในพื้นที่อื่นๆ ในนามพรรคเพื่อไทย ก็มีปัญหาไม่แพ้กัน
ความวุ่นวายจากปัญหาภายในของ พรรคเพื่อไทย นอกจากส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายค้านแล้ว ยังเหมือนเป็นการสะสมความคุกรุ่นที่รอวันระเบิดเท่านั้น
น่าเหลือเชื่อว่า กระทั่ง ส.ส.หรือคนในพรรคเพื่อไทยเองกลับส่ง “เสียงแช่ง” ให้เกิดการแตกหักสิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลยดีกว่า เพื่อที่ว่าประวัติศาสตร์จะได้จารึกว่า “ค่ายเพื่อไทย” ต้องถึงกาลอวสาน ในยุคที่มี “ซือเจ๊” กุมบังเหียนพรรค
ยิ่ง ส.ส.หลายคนชัก “ตาร้อน” พรรคพวกที่ “แปรพักตร์” ไปอิ่มหมีพีมันที่ฝ่ายรัฐบาล ทู่ซี้อยู่ไปแบบที่ “คนในประเทศ” ไม่เห็นหัว “คนต่างแดน” ก็ขาดส่ง (น้ำเลี้ยง)
สู้แช่งๆ ให้ “พรรคเจ๊ง” ไปเลย จะได้ขยับขยายไปลืมตาอ้าปากที่อื่นกับเขาบ้างดีกว่า
หรือบรรดา “งูเห่า” ก็จะได้ออกลายได้ถนัดถนี่ อ้างเพราะความแตกแยกในพรรค จึงจำเป็นต้องย้ายค่าย-เปลี่ยนขั้ว ไปอยู่กับรัฐบาล เพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชนและส่วนรวม
ส่วนที่ตราหน้า หรือขู่ว่าเป็น “คนทรยศ” แล้วสอบตกนั้น นาทีนี้ไม่ค่อยมีใครกลัวเท่าไร ทั้งปากท้องตัวเองสำคัญแล้ว ยังมีตัวอย่างที่เป็นกำลังใจดีๆ อย่าง จ.กำแพงเพชร หรือ จ.เพชรบูรณ์ ที่ “อดีตเพื่อนร่วมพรรค” แปรพักตร์ไปแล้ว ก็ยังเอาตัวรอดชนะยกจังหวัดได้
กลายเป็นว่า นาทีนี้ “เสียงแช่ง” ในพรรคเพื่อไทย ดังกว่าข้างนอกซะอีก.