เมืองไทยฯ
จะเป็นเพราะผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ กติกาใหม่ ที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างที่เห็นคือบรรดา “มวยหลัก”ระดับขาใหญ่ที่มีประสบการณ์สูงแบบ“เขี้ยวลากดิน”ต้องสอบตกกันเป็นแถว ที่เห็นได้ชัดก็คือพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ที่พวกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่สามารถได้เป็นส.ส.แม้แต่คนเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากระบบการคิดคำนวณคะแนนการเลือกตั้งแบบใหม่
ซึ่งจะด้วยผลที่ออกมาแบบนี้หรือเปล่า ที่ส่งผลให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน คือพรรคเพื่อไทยถูกลดทอนบทบาทลงไปมาก เนื่องจากบทบาทในสภาเป็นของบรรดา ส.ส.เขต ที่ส่วนใหญ่หากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นที่ผ่านมาก็เป็นพวกส.ส.หรือสมาชิกพรรคระดับ “แถวสองแถวสาม”เท่านั้น
เมื่อพิจารณาจากบทบาทและสถานะภายในพรรคในอดีตเป็นต้นมา พวกเขาก็ไม่ค่อยมีบทบาททั้งในพรรคและในสภาเลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่พวกที่เรียกขานกันเองว่า“ดาวสภา”นั้น บทบาทที่ผ่านมาก็เป็นแค่คอยทำหน้าที่ประท้วงขัดจังหวะการอภิปรายของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ยังไม่เคยมีบทบาท หรือได้รับโอกาสอภิปรายในเรื่องหลักๆ มาก่อน ความ หมายก็คือ พวกเขายังถือว่า“ชื่อชั้น”ยังไม่ถึง
อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์บังคับหรือที่เรียกว่ามีความจำเป็นต้อง “เลื่อนชั้น”แม้ว่าเมื่อพิจารณากันตามศักยภาพส่วนตัวแล้วยังไม่พร้อมก็ตาม แต่ผลงานที่ผ่านมามันก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ยังไม่ค่อยเข้าตานัก หรือที่เรียกกันว่า “ยังไม่เวิร์ก”นั่นแหละ
เพราะหากพิจารณาให้คะแนนของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่าง "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" ที่เพิ่งได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่ง และต้องมาทำหน้าที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ก็ต้องยอมรับความจริงว่า “ยังไม่โดดเด่น”ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่พร้อม หรือความไม่ถนัดงานในสภาฯ ทำให้ผลงานออกมาอย่างที่เห็น กลายเป็นว่าบทบาทนำกลายเป็นของพรรคการเมืองอีกพรรคที่มีขนาดเล็กกว่า
ขณะเดียวกันเมื่อโฟกัสไปที่การทำงานของพรรคฝ่ายค้านในระดับที่รองลงมาจนถึงพรรคขนาดเล็ก ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้แตกต่างกันนัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ในตอนแรกที่ผลการเลือกตั้งออกมาตามกติกาใหม่ ทำให้ได้ส.ส.จำนวนมากถึง 80 คน ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเพียงแค่ปีเศษเท่านั้น โดยในช่วงแรกสังคมก็ตั้งความหวังให้กับแกนนำของพรรคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรค และ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรค น่าจะมีบทบาทที่เป็นแก่นสาร หรือเป็นหลักมีผลงานได้น่าประทับใจมากกว่านี้ แต่กลายเป็นว่ามีความเคลื่อนไหวในทางโค่นล้ม หรือทำหน้าที่ไม่ต่างจาก“ฝ่ายแค้น”
และเมื่อพูดถึงพรรคอนาคตใหม่ที่เวลานี้กำลังมีปัญหารุมเร้าโดยเฉพาะปัญหาคามขัดแย้งภายในพรรค ที่ส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น หลังจากมี ส.ส.ของพรรคนับสิบคน โหวตสวนมติพรรคในร่างกฎหมายสำคัญ และล่าสุด ก็มีการยกขบวนลาออกจากพรรค พร้อมกันนับร้อยคน พร้อมทั้งมีการแฉโพยการบริหารจัดการภายในพรรคของ ธนาธร กับพวกสวนทางกับแนวทางที่ประกาศเอาไว้ หรือสวนทางกับคำพูด หรือท่าทีให้พวกเขาแสดงออกให้สังคมได้เห็นนั่นคือ มีการ“รวบอำนาจ บริหารแบบเผด็จการ”รวมไปถึงไม่ต่างการการบริหารในรูปแบบบริษัท เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้ ที่น่าจับตากันก็คือหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคนี้กำลังถูกร้องดำเนินคดีสำคัญ หลายคดีที่ล้วนมีผลต่ออนาคตทางการเมือง รวมทั้งมีผลต่อความเสี่ยงถูกยุบพรรคทั้งสิ้น รวมไปถึงอาจมีคดีใหม่เข้ามา ล่าสุดในเรื่องของการ “บริจาคเงิน”เข้าพรรคโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
และจะด้วยถูกโจมตีกล่าวหาจากพวกเดียวกันที่เคยเป็นสมาชิกพรรค เคยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันว่าเป็น “เผด็จการ”ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะด้วยสาเหตุในเรื่องนี้หรือเปล่า ที่ทำให้บรรดาฝ่ายค้าน ที่เดิมมักเรียกตัวเองว่า“ฝ่ายประชาธิปไตย”และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเป็น “เผด็จการ” มาวันนี้ถึงกับเงียบกริบ ไม่พูดถึงเรื่องนี้กันอีกเลย
ที่น่าสนใจและเริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นก็คือ บทบาทของหัวหน้าพรรครองลงมา อย่าง "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่ยังยืนยันต้องเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ทำให้มีข้อสงสัยว่า การเสนอ ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเขายืนยันว่า ได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายและมีอำนาจในการเรียกบุคคลดังกล่าวมาชี้แจง หากไม่มาถือว่ามีความผิด
แต่เมื่อพิจารณาจากความรู้สึกของสังคมกลับมองไปอีกทาง ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่สมควรจบไปแล้ว หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว อีกทั้งยังเห็นว่าการเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีความย้อนแย้งกันเอง เนื่องจากก่อนหน้านั้น เขาได้โหวตให้ความเห็นชอบ ในร่าง พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากผลงานโดยรวมของบรรดาพรรคฝ่ายค้านที่เน้นเฉพาะพรรคแกนนำหลักที่เห็นมาก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน ถือว่ายังไม่ประทับใจ “ออกทะเล”ยังไม่มีแก่นสารเป็นชิ้นเป็นอัน หรือลักษณะการเคลื่อนไหวถูกมองว่าเป็นเพียงทำหน้าที่ไม่ต่างจาก“ฝ่ายแค้น”เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อผลงานออกมาอย่างที่เห็นแบบนี้ ในทางตรงกัน ข้าม มันก็ส่งผลให้ในซีกของฝ่ายรัฐบาล มีความมั่นคงหรือทำงานง่ายกว่าเดิม !!