เมืองไทยฯ
กำหนดการตรวจราชการตามนโยบายรัฐบาล และการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี อย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะได้เปิดเผยออกมาแล้ว โดยกำหนดลงพื้นที่ในวันที่ 11-12 พฤศจิกายน นี้ แม้จะเป็นกำหนดการคร่าวๆ แต่ในทางการเมืองถือว่ามีความชัดเจนและมีความหมายอย่างยิ่ง
กำหนดการดังกล่าวเริ่มจากวันที่ 11 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจราชการและพบปะประชาชน มีการเยี่ยมชมตลาดน้ำ วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยววิถีชุมชน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการร่วมงานลอยกระทง เป็นต้น จากนั้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน จะมีการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจงหวัดภาคกลางตอนล่าง(กาญจนบุรี ราชบุรีและสุพรรณบุรี) และการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ตามลำดับ
หากพิจารณาตามกำหนดการแล้วการลงพื้นที่ของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเน้นพบปะมวลชนใน “ภาคกลาง”เป็นสำคัญ ซึ่งล้วนแต่มี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล แทบทุกจังหวัดรวมไปถึงจังหวัดที่มีคะแนนเสียงดีแบบ “เกือบได้” ส.ส.เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้นทางการเมืองแม้ว่าหน้าฉากย่อมเป็นการตรวจราชการตามนโยบายรัฐบาล แต่ใครก็ย่อมมองออกว่ามี “การเมือง” แฝงไปด้วยแน่นอน
เมื่อพิจารณาไปทีละรายจังหวัดก็ย่อมเห็นภาพชัดเจนขึ้น เริ่มจากจังหวัดราชบุรีก็เป็นพื้นที่ของ ส.ส.คนดัง อย่าง ปารีณา ไกรคุปต์ ส่วนกาญจนบุรีก็มี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐครอบครองพื้นที่ รวมไปถึงเป็นบ้านเกิดของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่ด้วย
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเมื่อมองเข้าในฟากของพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ที่ในช่วงเดือนสองเดือนผ่านมานี้ มีปัญหาความขัดแย้งภายในออกมาให้เห็นชัดเจน รวมไปถึงระดับแกนนำพรรค เช่น พรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จากการเลือกตั้งคราวที่แล้วทำให้ต้องลดบทบาทในสภา จนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามไปด้วย อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากขวัญและกำลังภายในพรรคเมื่อพิจารณาจากท่าที “วางเฉย” ของ ทักษิณ ชินวัตร ในรอบสองสามปีที่ผ่านมาทำให้ “ท่อน้ำเลี้ยงไม่ไหล” ทำให้ ส.ส.ในพรรคหลายคนเริ่มมีอาการแห้งเหี่ยว และอย่าได้แปลกใจที่ได้เห็นปรากฏการณ์การย้ายพรรค รวมไปถึงมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องง “งูเห่า” ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ
สำหรับความเคลื่อนไหวในพรรคอนาคตใหม่ล่าสุดก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง มีปัญหาภายในแบบที่เหนือความคาดหมาย ล่าสุดก็มีการทยอยยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคของบรรดาพวกอดีตผู้สมัครของพรรคพร้อมกันถึง 120 คน และยังมีรายงานข่าวอีกว่าในราววันที่ 30 ตุลาคมจะมีสมาชิกพรรคลาออกอีกชุดหนึ่ง ส่วนจะมีจำนวนกี่คนยังไม่มีการระบุแน่ชัด
แต่ด้วยการที่บรรดาอดีตสมาชิกเหล่านั้นให้เหตุผลในการพร้อมใจกันลาออกในครั้งนี้เป็นเพราะปัญหาการบริหารภายในพรรคไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มีความเป็นเผด็จการ ไม่มีการรับฟังความเห็นของสมาชิกพรรค การบริหารไม่ต่างจากบริษัทเพราะมีการส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทของหัวหน้าพรรคไปควบคุมการบริหารงานภายในสาขาพรรคทั่วประเทศจนสร้างความอึดอัดกับบรรดาผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกพรรค และที่สำคัญก็คือก่อนการลาออกคนพวกนี้ได้ “โยนระเบิด” ใส่โครมใหญ่
แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวย่อมส่งผลสะเทือนต่อพรรคอนาคตใหม่ ในด้านของความนิยมที่ก่อนหน้านี้ยอมรับว่าพรรคนี้ถือว่า “มาแรง” เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวน ส.ส.จากการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีจำนวนถึง 80 คน ทั้งที่เพิ่งตั้งมาเพียงแค่ปีเศษเท่านั้น ย่อมเรียกเสียงฮือฮา และถูกจับตามองแบบน่าสนใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองนี้จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
อย่างไรก็ดีผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นก็มีคำถามและมีการประเมินกันว่าเป็นเพราะมี “หลายเงื่อนไข” ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบทำให้มีการเทคะแนนไหลไปทางพรรคอนาคตใหม่ ประกอบกระแสของ หัวหน้าพรรคคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเลขาธิการพรรค ปิยบุตร แสงกนกกุล กลายเป็นกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่
เมื่อวกกลับมามาที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล ที่กำลังเปิดเกมรุกแบบขนานใหญ่อีกรอบ โดยคราวนี้เป็นการรุกขยายพื้นที่ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นการรุกพื้นที่เพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่ ที่พรรคพลังประชารัฐและฝ่ายรัฐบาลกำลังแย่งชิงอยู่กับพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ซี่งความเคลื่อนไหวคราวนี้สำหรับ “ลุงตู่” มองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับการฉวยจังหวะที่ฝ่ายค้านกำลังรวน มีการจัดเต็มแบบที่ฝ่ายตรงข้ามได้แต่อ้าปากค้าง !!