xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯแฉโกง-ค้านแปรรูป จี้“บินไทย”ลดเก้าอี้ระดับบิ๊ก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สหภาพฯการบินไทย” หนุนคงสภาพ “รัฐวิสาหกิจ” ค้านแนวทางแปรรูปแยกหน่วยธุรกิจออกจากกัน เปิดทางเอกชนฮุบ แนะเร่งปรับโครงสร้างองค์กร-ลดตำแหน่งบริหารซ้ำซ้อน ปูดทุจริตขายตั๋วผ่านเอเยนต์สูญรายได้หมื่นล้าน จ้องซื้อเครื่องบินทำหนี้พุ่ง

จากแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในสภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่อง ซึ่ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบแล้ว โดยเบื้องต้นคาดว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะต้องประกันเงินกู้ให้กว่า 50,000 ล้านบาท และกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะฟื้นฟูสายการบินแห่งชาติแห่งนี้นั้น

สหภาพฯบินไทยค้านแปรรูป

วานนี้ (7 พ.ค.) ได้มีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก TG UNION ที่ดำเนินการโดย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.การบินไทย ที่ได้โพสต์ข้อความว่า สหภาพฯการบินไทย ขอแสดงจุดยืนในการดูแลบริษัทฯ โดยเน้นในเรื่องของสถานภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัทฯและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์รวมถึงสวัสดิการของสมาชิก และพนักงานบริษัทฯ ทุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้สหภาพฯขอแสดงความเห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กร การเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย การกำจัดอิทธิพลทางการเมือง ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ รวมถึงการลดขนาดขององค์กรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และด้วยความสมัครใจของพนักงาน ตามแผนฟื้นฟูบริษัทฯ ที่จะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และไม่กระทบกับสภาพการจ้างของพนักงานบริษัทฯ

“สหภาพฯการบินไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟูบริษัทฯ โดยขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทฯ ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจ ของบริษัทฯออกจากกัน และ/หรือมีผลให้บริษัทฯ ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น” เฟซบุ๊ก TG UNION ระบุ

หนุนปรับโครงสร้าง-ลดเก้าอี้บริหาร

ด้าน นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพฯการบินไทย กล่าวเสริมว่า สหภาพฯและพนักงานพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งในมุมมองพนักงานนั้นเห็นว่า การฟื้นฟูบริษัทฯ ไม่ใช่เพียงกู้เงินหรือเพิ่มทุนเท่านั้น แต่จะต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทก่อน เพื่อตอบโจทย์ให้ได้ว่า การดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร โครงสร้างเป็นอย่างไร ขนาดองค์กรแค่ไหน และมีพนักงานเท่าไร เพราะหากโครงสร้างและวิธีการทำงานยังเหมือนเดิม ใส่เงินเข้าไปเท่าไรก็สูญเปล่า และทุกอย่างก็จะแย่เหมือนเดิม

“ที่ผ่านมา การบินไทย มีแผนฟื้นฟู เมื่อปี 2552-2554 แต่ล้มเหลวเพราะมีหนี้สินและมีผลขาดทุนเพิ่ม ต่อมาปี 2558 มีแผนฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ก็ยังเหมือนเดิม สาเหตุคือ แผนเขียนไว้อย่าง แต่ทำอีกอย่าง แผนให้หารายได้เพิ่ม ขายตั๋วผ่านออนไลน์เพิ่ม แต่ทำไม่ได้ โครงสร้างองค์กรที่มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาซ้ำซ้อน เพิ่มตำแหน่งระดับบริหาร ที่มีผลตอบแทนสูงมากๆ รวมถึงการปรับระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) จากพนักงานเป็นสรรหาและใช้สัญญาจ้าง ที่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม” นายนเรศ กล่าว

เอื้อฯเอเยนต์ขายตั๋วสูญหมื่นล้าน

ส่วนกรณีที่ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแล บมจ.การบินไทย แต่งตั้ง พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (อดีต ผบช.น.) เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการและปัญหาการทุจริตภายในการบินไทยนั้น นายนเรศ เปิดเผยว่า สหภาพฯ เตรียมเข้าพบ รมช.คมนาคม เพื่อให้ข้อมูลและมอบหลักฐานความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับขบวนการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่าย (เอเยนต์) ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้บริษัทฯได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯขาดทุน นอกเหนือไปจากปัญหาการจัดซื้อเครื่องบิน

“เบื้องต้นสหภาพฯ พบว่าฝ่ายการพาณิชย์ ซึ่งดูแลเรื่องการขายตั๋วทำให้บริษัทฯสูญเสียรายได้จากการขายตั๋วโดยสารปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมาบริษัทฯไม่เน้นการขายตั๋วเอง แต่เน้นการขายตั๋วโดยสารผ่านเอเยนต์ และส่วนใหญ่จะเป็นพวกผู้มีอิทธิพล เป็นคนที่มีเส้นสายทางการเมือง” นายนเรศ ระบุ

จ้องซื้อเครื่องบินใหม่ทำหนี้พุ่ง

นายนเรศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะมีการรายงานถึงปัญหาการจัดซื้อเครื่องบินของรัฐบาลในอดีต ที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญทำให้การบินไทยขาดทุน โดยช่วงปี 2554 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแผนจัดหาเครื่องบิน 75 ลำ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 37 ลำ วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งได้จัดซื้อไปแล้ว และระยะที่ 2 อีก 38 ลำ ที่ยังไม่ได้มีการจัดซื้อมาจนถึงขณะนี้ โดยก่อนการจัดซื้อเครื่องระยะแรก การบินไทยมีหนี้ราว 1 แสนล้านบาท แต่หลังการจัดซื้อจนถึงปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินสะสมพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 2.45 แสนล้านบาท เนื่องจากมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุน

“ทุกรัฐบาลจ้องแต่จะเข้ามาซื้อเครื่องบิน รัฐบาลนี้ก็จะซื้ออีก 38 ลำ แต่ยังซื้อไม่ได้ เพราะบริษัทฯมีปัญหาฐานะทางการเงิน จึงต้องทำแผนฟื้นฟูก่อน ต่อให้แผนฟื้นฟูทำออกมาจะดีขนาดไหน ถ้ายังมีการเขียนแผนฟื้นฟูเพื่อซ่อนเงื่อนซื้อเครื่องบินใหม่ หาส่วนต่างคอมมิชชั่น สุดท้ายการบินไทยก็ลงเอยแบบเดิมขาดทุนอยู่ดี” ประธานสหภาพฯการบินไทย กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น