“มงคลกิตติ์” จับมือ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตฯ ลงพื้นที่สมุทรปราการ ตรวจสอบข้อร้องเรียนประชาชน หลังมีบริษัทปล่อยขยะไหลทับคลองสาธารณะมา 3 ปี พร้อมเสนอให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามกฎหมาย
วันนี้ (7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) โดย นาวาเอก บัญชา รัตนาภรณ์ เลขาธิการ ภตช. พร้อมด้วย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยศรีวิไลย์, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรม, นางสาวภคอร จันทรคณา รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และ นายวิวัฒน์ เจริญพาณิชย์ศิริ เลขาธิการพรรคไทยศรีวิไลย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของประชาชน ว่า บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด เจ้าของ บ่อขยะในพื้นที่เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ปล่อยให้ขยะไหลทับคลองทับนาง (คลองสาธารณะ) ยาว 0.5 กิโลเมตร กว้าง 20 เมตร ยังไม่มีการแก้ไขกว่า 3 ปี ซึ่งปิดทางน้ำคลองตามธรรมชาติ น้ำไม่สามารถไหลผ่านคลองได้ ในช่วงฤดูฝนส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ฤดูแล้งไม่มีน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ยังไม่มีการแก้ไข สาเหตุ เกิดมาจากบริษัทเอกชนเจ้าของบ่อขยะ นำขยะมาทิ้งเป็นจำนวนมากกว่าวันละ 500 ตัน กำจัดได้เพียง 150 ตัน เหลือวันละ 350 ตัน จึงเกิดขยะสะสมเป็นล้านตัน จนเกินพื้นที่ทิ้งขยะ 150 ไร่ จนกลายเป็นภูเขาขยะ รับขยะเกินภาระจนสไลด์ทับคลองทับนางทั้งเส้น ในพื้นที่เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ด้าน นายธฤต สำราญเวทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายอนุรักษ์ ผ่องโอสถ ปลัดเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ รักษาราชการ นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ จะเร่งออกหนังสือถึง ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ให้ดำเนินการคืนคลองทับนาง และปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นดังเดิม ให้กับพี่น้องประชาชนตามเดิมภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการก็จะดำเนินคดีอาญา-แพ่ง ตามกฎหมายต่อไป
นายมงคลกิตติ์ กล่าวเสริมว่า ตนได้ทราบเรื่องแล้วเห็นว่าเป็นความจริงทุกประการตามข้อร้องเรียนของประชาชน จึงแนะให้ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ บริษัทเอกชนเจ้าของบ่อขยะ เร่งแก้ไขโดยด่วนให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งเสนอให้ ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ตรวจสอบภูเขาขยะ ว่า เป็นขยะที่ได้รับอนุญาตให้ทิ้งและกำจัดตามใบอนุญาตกับทางราชการหรือไม่ เป็นไปตามการควบคุมกำกับ ของ พ.ร.บ.โรงงาน หรือไม่ อีกทั่งตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน รอบโรงงาน มลภาวะทางอากาศแต่ละช่วงเวลาว่าเป็นไปตามมาตรฐาน ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือไม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป