xs
xsm
sm
md
lg

การทำให้สิ่ง “อปกติ” ( abnormal) กลายเป็นสิ่ง “ปกติเก่า” (old normal)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

มหาระบาดของโรคในลักษณะเดียวกันกับโควิด 19 เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งปกติแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งยกเว้นที่อุบัติขึ้น ณ กาลเวลาหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งยังไม่มีวิทยาการใดที่มีอยู่ในขณะนี้จะสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ การกล่าวว่ามหาระบาดเยี่ยงนี้จะเกิดขึ้นซ้ำภายใน ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี จึงเป็นเพียงการวิเคราะห์ภายใต้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่จำกัดเท่านั้น

เป็นความจริงที่ว่า มหาระบาดของโรคได้ทำลายวิถีชีวิตปกติของมนุษย์ลงไปในช่วงเวลาที่โรคยังสำแดงอิทธิฤทธิ์และมนุษย์ยังไม่มีวิทยาการที่ควบคุมความร้ายแรงของโรคลงได้ สังคมได้รับผลกระทบไม่น้อยโดยเฉพาะด้านทางเศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ และการใช้ชีวิตทางสังคมของมนุษย์

โควิดอาจทำให้บริษัทบางแห่ง ผู้ประกอบการบางคนล้มละลาย และอุตสาหกรรมบางสาขาหยุดชะงักลงชั่วคราว เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ การบริการ การคมนาคม การบันเทิงแบบกลุ่ม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ธุรกิจบางอย่างขยายตัวและเติบโต เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรค ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และการส่งมอบสินค้า เป็นต้น

บางธุรกิจก็มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตการซื้อขาย และการจัดส่งสินค้าเพื่อความอยู่รอดโดยประกอบการผ่านกลไกการสื่อสารสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตามการนำธุรกิจสู่โลกออนไลน์นั้น การระบาดโควิดเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและกว้างขวางขึ้นเท่านั้น แต่รากฐานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาจากอภิวัฒนาการของเทคโนโลยีเป็นหลัก

ในอีกมุมหนึ่ง การแพร่ระบาดของโควิด กลับไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจวิถีเดิม อันได้แก่โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจ กล่าวคือโควิดได้กวาดล้างผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่มีทุนดำเนินงานน้อยให้หายไปจากสนามแข่งขัน เหลือเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สามารถยืนหยัดทนทานพายุร้ายของมหาระบาดนี้ได้ และในที่สุดก็ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่กระชับการผูกขาดและมีความมั่นคงยิ่งขึ้น

สิ่งที่เราเห็นจากโควิดอย่างหนึ่งคือ มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยในสังคมแสดงน้ำใจไมตรีช่วยเหลือเกื้อกูลต่อเพื่อนร่วมสังคมที่ประสบความทุกข์ยาก แต่ก็มีภาพที่ตัดกันซ้อนขึ้นมา นั่นคือเราเห็นการเอารัดเอาเปรียบและฉกฉวยประโยชน์จากกลุ่มทุนบางกลุ่มดำรงอยู่เช่นเดียวกัน การดำรงอยู่คู่ขนานของกลุ่มที่มีความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน บอกให้เราทราบว่าพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนในสังคมมิได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก การมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงน้อยนิดก็ยังคงดำรงอยู่ นั่นทำให้เราอนุมานต่อไปว่า ภายหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิดกลุ่มธุรกิจที่ยึดกำไรสูงสุดเป็นสรณะอาจกระทำการทุกวิถีทางเพื่อชดเชยกำไรที่สูญเสียไปโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ

ในทางการเมือง สิ่งที่ปรากฎในระบบการเมืองคือ ทำให้นักการเมืองไทยที่มาจากการเลือกตั้งทั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องลดบทบาทในการทำงานและการตัดสินใจลง กล่าวได้ว่านักการเมืองแทบทั้งหมดหายหน้าไปจากสื่อสาธารณะร่วมสองเดือนทีเดียว ขณะเดียวกันกลับทำให้นักการเมืองที่สถานะพิเศษอย่างนายกรัฐมนตรีและข้าราชการประจำทั้งด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ มีบทบาทและอำนาจมากขึ้นในการบริหารปกครองสังคมทั้งระดับชาติและจังหวัด

มีการเกิดขึ้นของกระแสความคิดที่ว่า ความสำเร็จของการป้องกันการระบาดของโควิดเกิดจากการบริหารปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่นั่นเป็นการสรุปจากความจริงเพียงเสี้ยวเดียวและเป็นความผิดพลาด เพราะความสำเร็จของการป้องกันการแพร่ระบาดนั้นมีส่วนผสมหลากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น วัฒนธรรม ความรวดเร็วในการตอบสนองปัญหาของรัฐบาล การเลือกยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในการป้องกัน การกระจายอำนาจแก่พื้นที่ในการจัดการปัญหา และสภาพภูมิอากาศ ยิ่งกว่านั้นเราก็เริ่มเห็นร่องรอยแห่งความล้มเหลวของการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจต่อการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นควบคู่กัน

หากมีการคิดและขับเคลื่อนการรวมศูนย์อำนาจการบริหาร ซึ่งเป็นสิ่ง “อปกติ” (abnormal) ของระบอบประชาธิปไตยให้กลายเป็นเรื่องปกติ นั่นไม่ใช่ new normal หากแต่เป็น old normal ที่ล้าหลังเสียมากกว่า และจะกลายเป็นการสุมเชื้อเพลิงของความขัดแย้งหลังการยุติของวิกฤติโควิดในครั้งนี้

ภาวะ “อปกติ” ทางการเมืองในช่วงการแพร่ระบาด ยังแสดงออกด้วยการจำกัดเสรีภาพ การลดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิด การตัดสินใจ และการกระทำทางการเมืองของประชาชน แต่ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจรัฐกลับเชื้อเชิญกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น

การทำให้กลุ่มทุนเข้าถึงและใช้อำนาจรัฐมากกว่าประชาชน อันเป็นสิ่ง “อปกติ” ในปัจจุบัน และความพยายามทำให้สิ่งนี้กลายเป็น “สิ่งปกติ” ภายหลังสิ้นสุดวิกฤติโควิดไม่ใช่ new normal ของสังคมไทยแต่อย่างใด หากแต่เป็นฉวยโอกาสของวิกฤติเพื่อรื้อฟื้นแบบแผนการบริหารประเทศแบบเก่าที่เคยใช้มาแล้วในช่วงการรัฐประหารขึ้นมาใช้ในบริบทของประชาธิปไตย การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการเติมเชื้อเพลิงสุมไฟความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในสังคมนั่นเอง ลองจินตนาการดูเถอะครับว่า เมื่อรัฐราชการผสมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ สุมหัวกันกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศโดยโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของตัวแทนประชาชน ใครจะได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น และใครจะได้รับผลเสียและผลกระทบจากการพัฒนา

ในด้านสังคม “ความอปกติ” ที่เกิดขึ้นภายใต้คำสั่งของรัฐบาลคือ การห้ามออกจากบ้านช่วงเวลาสี่ทุ่มถึงตีสี่ การกำหนดมาตรการระยะห่างทางสังคม การห้ามปฏิสังสรรค์ทางสังคม การห้ามการแสวงหาความบันเทิง การห้ามกิจกรรมนันทนาการ ห้ามการพักผ่อนหย่อนใจในที่สาธารณะ และห้ามจัดกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ก็เช่นเดียวกันไม่อาจกลายเป็น new normal ได้ และหากมีความพยายามทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กล่าวมาข้างต้นให้กลายเป็น “ความปกติ” ความโกลาหลทางสังคมก็จะตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็น สิ่งมีชีวิตที่เสพติดสังคม ซึ่งยอมอดทนลดการปฏิสังสรรค์ทางสังคมอันเป็นแหล่งที่มาสำคัญของความสุขได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเองภายใต้ความกลัว แต่เมื่อความกลัวผ่านพ้นไป ไหนเลยผู้คนจะไม่ดิ้นรนแสวงหาความรื่นรมย์จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้แก่ตนเอง

ความเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคมแสดงให้เห็นชัดดังเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนพฤาภาคม ทันทีที่คลายการปิดเมือง การเดินทางของผู้คนจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัดก็ท่วมทะลักดุจเขื่อนแตก บางคนก็กลับบ้านเดิมไปเยี่ยมญาติมิตร บางคนก็ไปท่องเที่ยวหาความเพลิดเพลิน และทันทีที่รัฐบาลอนุญาตให้ซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ร้านค้าที่จำหน่ายสุรา เบียร์ ก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่แห่กันไปซื้อราวกับแจกฟรี เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ผู้คนโหยหาวิถีชีวิตปกติทางสังคม และพร้อมที่กระโจนให้หลุดพ้นจากภาวะ “อปกติ” กลับคืนไปสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

แม้จะเป็นความจริงที่ว่า การระบาดของโควิดสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจบางเรื่อง แต่ส่วนใหญ่แล้วผมประเมินว่าเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อการระบาดผ่านพ้นไปพฤติกรรมและการกระทำเดิมเกือบทั้งหมดก็จะหวนกลับมา ขณะที่ “วิถีแบบอปกติ” ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดค่อย ๆ หายไป และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจกลายเป็น “วิถีปกติใหม่” และความพยายามใดของผู้มีอำนาจรัฐที่จะทำให้สิ่ง “อปกติ” กลายเป็น “ความปกติแบบเก่า” โดยเฉพาะทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ ความพยายามนั้นจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น