"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ถ้าไม่เกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 การบินไทย ก็คงไม่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะถึงแม้สถานะการเงินจะย่ำแย่เพียงใด ก็ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีเงินสดเข้ามาจ่ายเงินเดือน ค่าน้ำมัน ดอกเบี้ย ฯลฯ เลี้ยงไข้ ต่อลมหายใจไปได้เรื่อยๆ
การระบาดของไวรัสโควิด ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก เกิดวิกฤตอย่างรุนแรงที่สุด ทุกสายการบินต้อง “ปิดกิจการ” ชั่วคราว รายได้หายไปหมดในชั่วข้ามคืน ต้องปลดพนักงานออกเป็นพันเป็นหมื่นคน บางสายการบินประกาศล้มละลาย สายการบินใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
การบินไทย อาจจะอาการรุนแรงกว่าเพื่อน เพราะฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้ว เปรียบเหมือนคน ก็คือ ไม่มีภูมิต้านทาน พอติดเชื้อโควิดอาการเข้าขั้นโคมาทันที รัฐบาลต้องตัดสินใจเข็นเข้าห้องไอซียูผ่าตัดใหญ่ทันที
การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เป็นเรื่องที่ดี เป็นโอกาสที่จะได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีแผนการที่ชัดเจน และเป็นไปได้ ต่างจากการฟื้นฟูที่ผ่านๆ มา ที่ทำกันเอง การฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลาย ต้องมีแผนฟื้นฟูฯ ที่เจ้าหนี้เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนหนี้ต้องรับรอง เป็นการตรวจสอบความเป็นไปได้ของแผนที่เข้มงวด เพราะแผนฟื้นฟูฯ เป็นผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ด้วย ในระหว่างการฟื้นฟูตามแผน มีคณะกรรมการเจ้าหนี้คอยติดตามตรวจสอบ และสามารถเสนอต่อศาลให้ปลดผู้บริหารแผนได้ หากไม่บริหารงานตามแผนฟื้นฟูฯ หรือทำให้เกิดความเสียหาย
ปัญหาการบินไทยที่ผ่านมา มีความเห็นพ้องต้องกันของสังคมไทยว่า สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่ง คือ การแทรกแซงของนักการเมือง และข้าราชการประจำ หลัง คสช.ยึดอำนาจ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพียงเดือนเดียวก็มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการชุดนี้เสนอให้ตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้น รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด 11 แห่ง รวมทั้งการบินไทย แทนกระทรวงการคลัง เพื่อแยกอำนาจการกำกับดูแลของกระทรวงต้นสังกัด ออกไปไม่ให้มาแทรกแซงการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
การตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ถูกบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.พัฒนาการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้ ถูกดองไว้ในคณะกรรมาธิการเกือบ 2 ปี และคลอดออกมาเมื่อต้นปี 2562 โดยตัดหมวด ว่าด้วยบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติทิ้งไปทั้งหมด เพราะมีกระแสต่อต้านว่า การตั้งบรรษัท เป็นการแปรรูปแอบแฝง เป็นการเอารัฐวิสาหกิจไปใสพานมอบให้เอกชนแบบเหมาเข่ง
สนช.ในตอนนั้น ไม่มีนักการเมือง มีแต่ข้าราชการประจำ และทหารที่ไม่อยากให้บริษัท การบินไทย ปตท. ท่าอากาศยานไทย อสมท. ทีโอที กสท. ฯลฯ หลุดออกไปจากอำนาจของกระทรวงต้นสังกัด ผสมกับเอ็นจีโอที่ท่องคาถา รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของชาติ ต้องรักษาไว้ มีปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไขกันไป
การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากอำนาจ ของนักการเมือง และข้าราชการประจำ กระทรวงคมนาคม และนายพลจากกองทัพอากาศ อย่างน้อยก็ในช่วงที่อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีเวลา 5 ปี และขยายเวลาได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี
ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมบอกว่า การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ใน 1 ปีนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่อาจจะเป็นความคาดหวังของรัฐมนตรี ทางที่ดี ผู้บริหารแผนควรจะให้การบินไทยอยู่ในแผนจนครบ 5 ปี
การที่กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือไม่ถึง 50% ทำให้การบินไทย พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ในยามปกติยากที่จะทำได้ เพราะจะถูกต่อต้านด้วยวาทกรรม ปล้นชาติแน่นอน
วิกฤตโควิดทำให้ไม่มีเอ็นจีโอ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ออกมาท่องคาถา การบินไทยเป็นสมบัติของชาติ ต้องรักษาเอาไว้ การลดสัดส่วนหุ้นคือการแปรรูปแบบแอบแฝง เพราะการบินไทยไม่อยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงไข้ได้ต่อไปอีกแล้ว
ในท่ามกลางวิกฤตมีโอกาสเสมอ วิกฤตไวรัสโควิดทำให้การบินไทย ต้องเข้าแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำการผ่าตัดการบินไทยครั้งใหญ่ โดยที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และข้าราชการกระทรวงคมนาคม ถูกกันออกไปอยู่นอกวง ในช่วงของการฟื้นฟูตามแผน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแผน และผู้บริหารแผน ว่าจะมีความสามารถ และมีบารมีพอที่จะทำให้พนักงานการบินไทย ร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นสายการบินแห่งชาตินี้ให้บินไปในนภาได้อย่างสง่างามหรือไม่ สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ มักจะถูกยกเป็นต้นแบบการฟื้นฟูที่ทำได้ภายใน 2 ปี แต่นั้นเป็นภาพด้านเดียว อีกด้านหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึงมากนักคือ ก่อนจะไปถึงความสำเร็จนั้น ผู้ถือหุ้น พนักงาน เจ้าหนี้ ต้องสูญเสียอะไรบ้าง และรัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุนด้านการเงิน ผ่านองค์กรด้านการฟื้นฟูกิจการบริษัท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์หลังการระบาดของไวรัสโควิด ที่ยังไม่มีใครรู้ว่า New Normal ของอุตสาหกรรมการบินโลก จะเป็นอย่างไร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู การบินไทย ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเลือกมา ต้องออกแรงมากกว่าปกติ