เมืองไทย 360 องศา
วันนี้ (22 พฤษภาคม 2563) หากย้อนกลับไปในวันเดียวกันเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น นำกำลังเข้าควบคุมอำนาจ (รัฐประหาร) จากรัฐบาลที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงตอนนี้ก็ครบรอบ 6 ปีพอดี
เป็น 6 ปีที่เกิดเหตุการณ์มากมายสำหรับประเทศไทย ที่สำคัญ เป็น 6 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลที่มาจากคณะทหาร จนเวลานี้เป็นรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีใหม่ในชื่อเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีกไม่กี่วันข้างหน้า เขาก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้ระบบรัฐสภาจะครบ1 ปี แล้ว เนื่องจากได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562
สำหรับ 5 ปี ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รัฐบาล คสช. กับอีกเกือบ 1 ปี ที่กำลังจะมาถึง รวมๆ แล้วในเวลานี้ก็ถือว่ากำลังจะครบ 6 ปี ในฐานะผู้นำประเทศของ “บิ๊กตู่” หรือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ายาวนานพอสมควร
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในแง่ของความหมายที่ถูกกล่าวหาติดตัวจากฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา ก็คือ “เผด็จการ” ก็ถือว่า “เป็นกรณีศึกษา” ไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่ผู้นำที่มีเส้นทางมาจากการรัฐประหารมักจะอยู่ได้ไม่นาน หรือมักมีกระแสต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนบริหารงานลำบาก
สำหรับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าในระยะหลังจะโดนกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามพยายามสร้างกระแสกดดันหนัก แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ยังได้รับการสนับสนุนจากสังคมเป็นกลุ่มใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในบางช่วงกระแส “ต่อต้าน”หรือ “เบื่อหน่าย” จะเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะก่อนช่วงเกิดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ว่ากันว่า ในตอนนั้นกระแสต่อต้านเริ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะจากพวกเด็กๆ รุ่นใหม่ที่เป็นผลมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์การเมืองของอดีตคณะผู้บริหารพรรคดังกล่าว
แต่หากสรุปแบบรวบยอดมาจนถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่า หลังจากรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถควบคุมโรคระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ได้ มีผู้ป่วยใหม่จำนวนน้อย รวมไปถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ถือว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้าน หรือหลายประเทศในโลก จนได้รับคำชมว่าไทยเราทำได้ดี
ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปทางฝ่ายตรงข้าม จากเดิมที่อยู่ภายใต้การนำของกลุ่มการเมืองในเครือข่ายของ “ทักษิณ ชินวัตร” และพรรคเพื่อไทย แต่หากสังเกตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถือว่าอ่อนล้าลงไปเรื่อยๆ จนบัดนี้แทบจะเรียกว่า “ตกรุ่น” ไม่เข้ากับยุคสมัยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะพวกเขามัก “แอบอ้างประชาธิปไตยนำหน้า” หรือ อ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” เสมอ แต่นาทีนี้กลายเป็นว่าบทบาทนำกลับเป็นของกลุ่มของพรรคการเมืองใหม่ ทั้งที่เคยเป็นอดีตพรรค อนาคตใหม่ ที่ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรรคก้าวไกลไปแล้ว
กลายเป็นว่า บุคคลที่กำลังถูกพูดถึงกลับเป็นอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับคู่หูคือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ผันตัวเองมาตั้งกลุ่มก้าวหน้า เคลื่อนไหวคู่ขนานนอกสภา แม้ว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีพลัง แต่ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริงก็ถือว่า “ยังไม่มากพอ” เพราะยังเป็นกระแสเฉพาะกลุ่ม ในแบบ “ไม่เอาเจ้า” เป็นลักษณะ “ฝ่ายซ้าย” ซึ่งเกิดขึ้นกับสังคมไทยมาทุกยุคสมัย ตราบใดที่ยังไม่อาจสร้างเงื่อนไขให้สุกงอมพอมันก็คงไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
อีกทั้งบรรดาแกนนำที่ว่านั้น เมื่อยืนระยะทางยาวมากขึ้นเท่าใด ก็ยังไม่อาจเรียกพลังมาเพิ่มเติมให้โดดเด่นจนกลายเป็น “บุคลิกผู้นำ” ได้ เพราะที่เห็นกลายเป็นว่ายิ่งนานยิ่งเผยจุดอ่อน เหมือนกับการ “ยืนเปลือยกายให้เห็นล่อนจ้อน” มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากคิดจะบอกว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คือ “ผู้นำรุ่นใหม่” ก็ต้องบอกว่าน่าจะยังห่างไกล หากบอกว่าเป็นผู้นำในทาง “นักกิจกรรม” ก็จะมองเห็นแบบนั้นมากกว่า
วกกลับมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้ว่าเวลานี้ฝ่ายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามพยายามชี้หน้าให้เป็น “เผด็จการ” เพราะเข้ามาควบคุมอำนาจนอกเส้นทางประชาธิปไตย แต่เมื่อเวลาผ่านมา 5 ปี แล้ว เกือบจะครบหนึ่งปีภายใต้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเขามีการ “ปรับตัว” ได้อย่างน่าทึ่ง
หากจะบอกว่าเป็นผู้นำที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มใหญ่ไม่น้อยทีเดียว แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเสียงวิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะผลงานในเรื่อง “การปฏิรูป” สำคัญบางเรื่อง เช่น การ “ปฏิรูปตำรวจ” ที่ยังไม่ไปถึงไหน เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลของเขาก็ได้สร้างผลงานเอาไว้ไม่น้อย ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากมายจนสามารถจับต้องได้
และที่สำคัญ หากพิจารณากันเฉพาะตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องการไม่ทุจริตสูงพอสมควร ซึ่งรวมไปถึงลูกเมียก็ถือว่าที่ผ่านมาไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหาราชการแผ่นดิน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเกราะป้องกันเขาได้อย่างดี
ขณะเดียวกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ามีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา มีความยืดหยุ่น ไม่แข็งกร้าวแตกหักในทุกเรื่อง จะยอมงอกับบางเรื่องที่กระแสสังคมไม่เอาด้วย จะเห็นว่าหลายครั้งที่เขายอมเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างกะทันหัน และที่สำคัญเขามักเอ่ยปาก“ขอโทษ”ในสิ่งที่ผิดพลาดได้เสมอ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะผ่านมาได้ 6 ปี และเมื่อมองรอบตัวแล้ว ยังมองไม่เห็นใครที่มาเป็นคู่แข่งที่ชัดเจนได้ในเวลานี้ แต่ก็ถือว่าเส้นทางข้างหน้ามีแต่เรื่องหนักๆ รออยู่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย จะไปรอดหรือเปล่ายังต้องลุ้นกันอีกรอบ !!