xs
xsm
sm
md
lg

ม.44 เว้น “ไพรมารีโหวต” รองรับพรรค “พลังดูด” คสช. !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา




อาจเป็นการพูดไปก่อนสำหรับข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 สำหรับงดเว้นการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองเป็นการชั่วคราว ตามเหตุผลที่อ้างว่ามีเวลาจำกัด ฉุกละหุกเกินไปสำหรับพรรคการเมืองที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ อย่างน้อยก็เป็นการงดเว้นในช่วงการเลือกตั้งครั้งแรก ถือว่าน่าจับตายิ่งนักว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้เมื่อสองวันก่อน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ “ส่งสัญญาณ” ออกมาให้เห็นแล้วว่า “เป็นไปได้”

ที่น่าสนใจก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นคนที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ไปประชุมรับฟังปัญหาจากบรรดาพรรคการเมืองเพื่อหาทาง “คลายล็อก” ค่อยๆ ปล่อยให้ทำกิจกรรมได้บ้าง

แม้ว่านาทีนี้ยังงงๆ อยู่ว่าในทางกฎหมายจะเป็นไปได้แค่ไหน

เพราะเมื่อพิจารณาจากความเห็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงเรื่องดังกล่าวก็น่ารับฟังว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ต้องอธิบาย หรือมีมาตรการรองรับให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเรื่องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัคร เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หลายเรื่องที่จะทำตามกฎหมาย ไม่ได้คิดถึงเจตนารมณ์ทางกฎหมายแล้ว แต่กลายเป็นเรื่องของการทำเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมาย หรือทำเพื่อให้เป็นพิธีกรรม เช่น หากการหาสมาชิก ตั้งสาขาทำได้ยากสุดท้ายตัวไพรมารีอาจเหลือแค่ 100 คน ในจังหวัดประชุมแค่ 50 คน ลงคะแนนอาจจะน้อยกว่าที่เคยใช้กรรมการบริหารพรรค ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ย่อมไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม” นายอภิสิทธิ์ ให้ความเห็น

แม้ว่าจะมีข้อสงสัยอยู่ว่ามันจะทำได้หรือไม่ เพราะมันเป็นข้อกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญในเรื่องการทำไพรมารีโหวต ถือเป็นเจตนารมณ์ตามกฎหมายที่ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองร่วมกันเป็นเจ้าของพรรคร่วมกันมีบทบาท เป็นผู้ร่วมกันโหวตเลือกผู้สมัครของพรรค ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องยากลำบาก เป็นเรื่องใหม่ และที่สำคัญที่แต่ละพรรคยังขยับอะไรไม่ได้ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากคำสั่ง คสช. ที่ยังล็อกเอาไว้ไม่ยอมคลายสักที

แน่นอนว่า หากมีรายการ “งดเว้น” การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อลดปัญหาให้กับพรรคการเมือง ซึ่งในบางมุมก็สมเหตุสมผล แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้อดมองไม่ได้ว่านี่คือวิธีการเพื่อใช้รองรับพรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังใช้ “พลังดูด” อดีตส.ส. เข้ามาอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรค “พลังประชารัฐ” หรือแม้แต่พรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐทำเอาพรรคเพื่อไทยสั่นสะเทือนอย่างหนักในเวลานี้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงแนวทางของการทำไพรมารีโหวต หรือ การหยั่งเสียงเบื้องต้นของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขต วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม และร่วมกันเป็นเจ้าของพรรค เป็นการปฏิรูปพรรคการเมืองครั้งใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำแบบนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละพรรคแทบทั้งหมดจะถูกกำหนดทิศทางพรรคโดยนายทุนพรรคหรือคนในบางครอบครัวที่เป็นเจ้าของพรรค

คำถามที่ต่อเนื่องตามมา ก็คือ หากมีการใช้ระบบไพรมารีโหวตอย่างจริงจัง และตามรายงานข่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสุชาติ ตันเจริญ รวมทั้ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นต้น คนพวกนี้จะมีโอกาสจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตได้หรือไม่ และพวกเขาจะมีบทบาทในพรรคการเมืองใหม่ที่ว่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่านักการเมืองพวกนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “นักธุรกิจการเมือง” แบบเก่า ไม่ใช่นักการเมืองในยุคปฏิรูปแน่นอน

ดังนั้น หากมีการใช้มาตรา 44 เพื่อยกเลิกหรืองดเว้นการทำไพรมารีโหวต โดยบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยาก ความไม่พร้อมของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นการหาทางออกเพื่อรองรับพรรคการเมืองบางพรรคที่สนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบใช่หรือไม่!!


กำลังโหลดความคิดเห็น