“กรรมการกฤษฎีกา” แนะบอร์ดปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ใช้ปรากฏการณ์โควิด-19 หาทางปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศ เพิ่มกลไกรองรับให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้าน ก.พ.ร.ย้ำภาครัฐควรสร้างช่องทาง-บรรยากาศที่เอื้ออำนวย และเปิดกว้าง พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชน ภาคประชาสังคมเข้าถึง นำไปใช้ประโยชน์ ตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐได้ หลัง ครม.รับทราบเพิ่มค่าตอบแทนรายเดือน ในรูปแบบเบี้ยการประชุม 20%
วันนี้ (11 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือมติ ครม.ที่รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการนำเสนอเพิ่มเติม ภายหลัง ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้งประธานและคณะกรรมการเพิ่มเติมครบทุกด้าน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศว่า โดยที่สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศที่จัดทำขึ้นก่อนที่จะมีการระบาดของโรคติดต่อดังกล่าว สมควรที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จะได้นำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่จากการระบาดของโรคติดต่อนี้ไปปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้วย นอกจากนี้ การดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ควรมีกลไกรองรับเพื่อให้มีการปรับปรุงแนวทางการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีความยืดหยุ่นสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย”
ขณะที่ สำนักงาน ก.พ.ร.ให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาครัฐ ดังนั้น การวิเคราะห์และจัดทำโครงการของหน่วยงานควรถอดบทเรียนจากผลผลกระทบที่เกิดขึ้นมาประกอบการพิจารณาในการทบทวนและปรับปรุงโครงการ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีทำงานรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และเป้ามหายของกิจกรรมตามแผนการปฎิรูปประเทศ เช่น สถานการณ์โควิด-19 จะเห็นความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยภาครัฐ ในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยหน่วยงานภาครัฐควรสร้างช่องทางและสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยที่เปิดกว้าง รวมถึงเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูล สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบเรื่องค่าตอบแทนในรูปแบบเบี้ยการประชุมรายครั้งของคณะกรรมการ และอนุกรรมการหลายคณะ ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 จากรายครั้ง เป็นรายเดือน เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ และอนุกรรมการมีการประชุมหลายครั้ง โดยให้ปรับปรุงอัตราค่าตอบแทน ในส่วนของคณะกรรมการ และอนุกรรมการ เช่น คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 ด้าน และคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทุกคณะ
โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 จากค่าตอบแทนเดิม ในรูปแบบเบี้ยประชุมรายเดือน ยกเว้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะช่วยประหยัดและลดภาระงบประมาณได้เป็นอย่างมาก ส่วนค่าตอบแทนของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการให้กรมบัญชีกลางรับไปพิจารณาตามความเหมาะสม