“ส.ว.คำนูณ” แนะรัฐบาลทำ 10 ข้อ เปลี่ยนประเทศภายใน 3 ปี โดยนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.กลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เสนอ ครม.ส่งเข้าสภา พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จัดการยกเลิกกฎหมายล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต หรือการประกอบสัมมาอาชีวะของประชาชน
วันนี้ (16 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก และกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โพสต์ข้อความในแฟนเพจ คำนูณ สิทธิสมาน ในหัวข้อ 10 ข้อเปลี่ยนประเทศได้ใน 3 ปี มีรายละเอียด ว่า “หากสามารถทำ 10 ข้อนี้ได้ ชี้แจงภาพรวมต่อประชาชน และต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีก็จะสร้าง New normal ใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ และนอกจากจะเป็นคณะรัฐมนตรีตามปกติแล้ว นับแต่นี้ไปยังจะเพิ่มบทบาทเป็นคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูปประเทศอีกต่างหาก
เวลาที่เหลืออยู่ 3 ปี จะทรงคุณค่ายิ่ง สามารถเปลี่ยนประเทศได้ในระดับสำคัญ เมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน 2566 อันเป็นวันครบรอบ 5 ปี แผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ
1. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติกลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีประสบการณ์อีกครึ่งหนึ่ง โดยใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนที่ สศช. (สภาพัฒน์) ยกร่างเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นฐานตั้งต้น ให้ดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน
2. นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ต่อรัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
3. นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) ที่ผ่านการพิจารณาและตรวจแก้มาแล้วจากคณะกรรมการยกร่างที่ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่งและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีกครึ่งหนึ่งมาแล้ว 2 ชุด 2 รอบใช้เวลารวม 2 ปี เข้าสู่รัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
4. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนชุดใหม่
5. นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายหรือกำหนดไว้ในคำสั่งแต่งตั้งตามข้อ 2 ให้ถือว่าการจัดกลไก และกระบวนการในการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต หรือการประกอบสัมมาอาชีวะของประชาชน หรือ Regulatory Guillotine คือหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของคณะกรรมการชุดนี้ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
6. นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยราชการให้ร่วมมือกับคณะกรรมการตามข้อ 4 ปฏิบัติตามกระบวนการ Regulatory Guillotine อย่างเคร่งครัด
7. หนึ่งในข้อปฏิบัติตามข้อ 6 คือ การจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมายในระดับกระทรวงขึ้นทุกกระทรวง และคณะกรรมการทบทวนกฎหมายระดับชาติ โดยต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญตามที่คณะกรรมการตามข้อ 4 กำหนด
8. นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการ Regulatory Guillotine โดยขอให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ตอบแบบสอบถามถึงกฎหมายรวมทั้งกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ รวมถึงความเห็นในการยกเลิกหรือปรับปรุง
9. นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้คณะกรรมการตามข้อ 4 ทำหน้าที่เสริมคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศในประเด็นเร่งด่วนที่จะมีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลง หรือที่สภาพัฒน์เรียกว่า Big rock ที่กำลังปรับปรุงใหม่อยู่ในขณะนี้
10. นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2561 ข้อ 13 เรียกประชุมคณะกรรมการครั้งแรกโดยเร็วที่สุดภายในเดือนมิถุนายน 2563 และมีคำสั่งให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2561 ข้อ 7 ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสริม สศช. (สภาพัฒน์) ซึ่งมีงานล้นมือ กับทั้งให้เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตามข้อ 4
“เชื่อว่า หลายข้อใน 10 ข้อนี้อยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ทราบมาว่าบางข้อ โดยเฉพาะข้อ 10 มีกำหนดจะทำในเร็วๆ นี้ ผมเพียงแต่รวบรวม เสนอแนะเพิ่มเติม และขอให้เล่าภาพรวมให้ประชาชน รัฐสภา และข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม อย่างเป็นระบบและเป็นแพจเกจ เท่านั้น”