xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ฐานข้อมูลเพื่อความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และ รองศาสตราจารย์ ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช

รองศาสตราจารย์ ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล
สาขาวิชาการจัดการระบบสารสนเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช
สาขาวิชาสถิติ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


ปัจจุบันความโปร่งใสในการบริหารและปฏิบัติงานของภาครัฐและภาคเอกชนเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญและกล่าวถึงกันมาก เนื่องจากมีปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงในหน่วยงานเกิดขึ้นอย่างมากมายและรุนแรง มีความแยบยล ซับซ้อน

ความโปร่งใสทำให้สังคมดีขึ้นอย่างน้อย 4 ประเด็น
1. ความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ สารสนเทศเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานในภาครัฐ เป็นพื้นฐานของอำนาจที่ประชาชนสามารถใช้สร้างกระแสกดดันให้รัฐและหน่วยงานในภาครัฐต้องรับผิดชอบและปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน สภาพที่ไม่สามารถเข้าถึงสารสนเทศ มักจะก่อให้เกิดความรู้สึกของความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลในหมู่ประชาชน

2. ธรรมาภิบาลในการปกครอง ความโปร่งใสเป็นมิติหนึ่งของธรรมาภิบาล (วิชิต และคณะ, 2549; Asian Development Bank, 1995) ระดับความชัดเจน (clarity) และขอบเขตของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นตัวกำหนดระดับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการกำหนดนโยบายสาธารณะและนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ตลอดจนการใช้อำนาจของภาครัฐเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

3. นโยบายสาธารณะและประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามนโยบาย กระบวนการที่เปิดโอกาสให้สาธารณะสามารถกลั่นกรองและมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ ส่งผลทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องทำงานภายใต้กรอบระเบียบและวินัยที่กำหนดไว้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ/แผนงานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรก็สูงขึ้นด้วย

4. การป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง สรุปได้เป็น 3 ประการ (Kaufmann et al, 2003, 2005 และ Lambsdorff, 2001) คือ การผูกขาดในอำนาจ (monopoly of power) การใช้ดุลยพินิจ (discretion) และขาดความรับผิดชอบและความโปร่งใส (lack of accountability and transparency)

ความโปร่งใสของฐานข้อมูล พิจารณาจากการไหลของสารสนเทศ (information flow) ที่ทันต่อเหตุการณ์และเชื่อถือได้ เกี่ยวกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มิติของความโปร่งใสต้องมีอย่างน้อย 3 มิติ (Vishwanath and Kaufmann, 2001) ดังต่อไปนี้

1. การเข้าถึง (access)
2. สาระสำคัญ (relevance)
3. คุณภาพและความเชื่อถือได้ (quality and reliability)


คำนิยามของความสามารถในการมองเห็นสารสนเทศจะปรับปรุงจากคำนิยามของ Goswami et al (2012) โดยรวมมิติความสำคัญ (relevance) และมิติคุณภาพและความเชื่อถือได้ เป็นระดับความสำคัญ ความทันสมัย และความถูกต้องของสารสนเทศ ส่วนความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศ จะปรับปรุงจากคำนิยามของ Culnan (1984) หมายถึง ความเชื่อถือได้ในการเข้าถึง ซึ่งได้แก่ ระดับความพร้อม (availability) ของเครือข่ายและฐานข้อมูล และความง่ายในการเข้าถึงข้อมูลเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การใช้สารสนเทศร่วมกันและการมองเห็นสารสนเทศ ดังนั้น ความโปร่งใสของสารสนเทศ ซึ่งแสดงได้โดยภาพ 2 มิติ ดังรูปที่ 1

เทคโนโลยีฐานข้อมูลและระบบ transaction processing ได้เพิ่มปริมาณและมิติของข้อมูลอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการผลิตข้อมูลมากกว่า 10 exabyte (1018) ต่อปี ราคาสื่อแม่เหล็กสำหรับเก็บข้อมูลลดลงกว่าร้อยละ 50 ทุกๆ 6 เดือน ปริมาณข้อมูลบนฐานข้อมูลได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวทุกๆ 20 เดือน เทคโนโลยีเว็ป (web technology) และอินเทอร์เน็ทเทคโลโนยี ได้อำนวยความสะดวกและความเสมอภาค ในการเข้าถึงสารสนเทศไม่ว่าอยู่ที่ใดหรือเวลาใดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์พกพา smart phone ทำให้เกิด การเชื่อมโยงระหว่างระบบสารสนเทศ ระหว่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสื่อสารอย่างกว้างขวาง โดยมีข้อจำกัดน้อยมาก สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศได้โดยไม่ข้อจำกัดทางภาษา ระยะทางและเวลา และ search engine เป็น software ที่อำนวยความสะดวกที่ทำให้การค้นหาสารสนเทศที่อยู่บนฐานข้อมูล กระทำได้โดยง่ายและอย่างมีประสิทธิผล

เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนความโปร่งใสของสารสนเทศบนฐานข้อมูลแก่คนต่างๆในสังคม

ประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐ
1. หน่วยงานของรัฐมีขอบเขตความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ตามกฏหมาย การวิเคราะห์ข้อมูลจึงมักจะจำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลในความรับผิดชอบของตน ประกอบกับที่หน่วยงานมักจะไม่เปิดเผยข้อมูลของตนเอง ทำให้สาธารณะมิอาจทราบถึงคำนิยามและประเภทข้อมูลที่หน่วยงานมีการเก็บรวบรวม การวิเคราะห์ในลักษณะบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงานจึงเกิดขึ้นได้ยาก ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพรวมของปัญหาได้ครบทุกมิติอย่างชัดเจน

2. การเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานของรัฐของสาธารณะเป็นการสร้างตลาดใหม่สำหรับนวัตกรรมในการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูล โดยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อสะท้อนภาพรวมของการพัฒนาประเทศได้อย่างสมบูรณ์ หน่วยงานเอกชนที่มีความคิดสร้างสรร สถาบันการศึกษา ฯลฯ สามารถจะใช้ข้อมูลของหน่วยงานของรัฐไปวิเคราะห์และนำเสนอเป็นสินค้าชนิดหนึ่งเพื่อสร้างรายได้ให้แก่หน่วยงานได้ ผลงานบางผลงานอาจกลายเป็นสินค้าสาธารณะที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดเวลา ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับหน่วยงานได้

3. การเปิดเผยฐานข้อมูลยังมีข้อดีในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานเนื่องจากการเปิดเผยทำให้ ผู้ใช้เข้าถึงตัวข้อมูลดิบให้ง่าย หน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลได้รับข้อมูลย้อนกลับได้ง่ายว่าข้อมูลที่หน่วยงานจัดเก็บตรงกับความต้องการของผู้ใช้หรือไม่ นอกจากนี้การเปิดเผยข้อมูลยังทำให้มูลค่าเพิ่มของข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากมีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ทำให้เกิดองค์ความรู้ในข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งในอนาคตอาจใช้ข้อมูลได้จนถึงระดับสูงสุดที่ก่อให้เกิดปัญญาและสามารถใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงของการดำเนินงานของหน่วยงานได้ด้วย

อุปสรรคต่อการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐ

รัฐบาลมีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลตาม พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อ ความล่าช้าของการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐ คือ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐ ส่วนใหญ่มักมีทัศนคติลบต่อการเปิดเผยข้อมูล ทัศนคติในลักษณะนี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อความสำเร็จของการเปิดเผยข้อมูลในหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐได้รับความดีความชอบจากการเปิดเผยข้อมูลเลย มีแต่การถูกลงโทษหรือการถูกตำหนิ

แนวทางการแก้ไขทัศนคติทางลบของเจ้าหน้าที่รัฐ

1. ผู้นำประเทศต้องมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนทั้งงบประมาณและบุคลากร เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล
2. การประเมินความดีความชอบประจำปี ต้องมีมิติเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย
3. มีมาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ที่เปิดเผยการสิ้นเปลืองงบประมาณ การทุจริต การบิดเบือนอำนาจหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ
4. สร้างมาตรวัดความโปร่งใสของหน่วยงานรัฐ
5. มีรางวัลยกย่องความสำเร็จในการเปิดเผยข้อมูล

นอกจากนี้ องค์การกลางควรยกย่องบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนที่สามารถเสนอแนวทางการประหยัดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เสนอนวัตกรรมในการให้บริการประชาชน

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ฐานข้อมูลเพื่อความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ” ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนการทำวิจัยจาก ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดูรายงานวิจัยฉบับเต็มได้จาก http://cse.nida.ac.th/main/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=93&Itemid=522&lang=th

บรรณานุกรม

พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร)
วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และคณะ (2549) โครงการการพัฒนาตัวชี้วัดธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และ จิราวัลย์ จิตรถเวช (2556) การคัดเลือกประเภทสินค้าเพื่อรองรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง
Asian Development Bank (1995). Governance: Sound Development Management.
Culnan, M.J. (1984). The dimensions of accessibility to online information: Implications for implementing office information systems. ACM Transaction Office Information System 2(2): 141–150.
Goswami, S., Ravichandran, T., Teo, H. and Kermar, H. (2012). Relatimal autocedants of information visibility in value networks. Thirty Three International Conference on Information System, Orlando: 1–18.
Kaufmann, D., Kraay, A. and Mastruzzi, M. (2003). Governance Matters III: Governance indicators for 1996–2002. World Bank Policy Research Working Paper No. 3106.
Kaufmann, D., Kraay, A. and Mastruzzi, M. (2005). Governance Matters IV: Governance indicators for 1996–2004.
(http://www.worldbank.org/wbi/governance/pdf/GovMatters%20IV%20main./pdf)
Lambsdorff, J.G. (2001). How corruption in government affects public welfare: A review of theories. Center for Globalization and Europeanization of the Economy, Discussion Paper 9. Gottinger, Germany.
Vishwanath, T. and Kaufmann, D. (2001). Toward Transparency: New Approaches and Their Application to Financial Markets. World Bank Research Observer, 16(1): 41-58.

กำลังโหลดความคิดเห็น