xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจการบ้านแม่น้ำ 5 สาย มี.ค.นี้ - แจง “ป๋าเปรม” มี “ศาลวินัยการคลัง” ฟันฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เผยประชุมแม่น้ำ 5 สาย เตรียมตรวจการบ้าน มี.ค. นี้ เผยรัฐบาลส่งร่างกฎหมาย 82 ฉบับให้ สนช. พิจารณา รอชุดนโยบายรัฐบาล ฝาก สปช. อยากได้ชุดแนวทางปฏิรูปเด่นๆ ออกมา เชื่อถึงเวลาต้องถามใจประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน ย้ำทำประชามติไม่เกี่ยวกับกฎอัยการศึก ส่วนแนวคิด “ป๋าเปรม” ตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง บอกคราวนี้มีการตั้งศาลวินัยการเงินการคลังอยู่ แต่ภ้าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและนโยบายมีศาลอื่นอยู่แล้ว

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวหลังการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย ว่า การประชุมครั้งต่อไปในเดือน มี.ค. จะเป็นการตรวจการบ้าน เพราะในครั้งนี้มีการพูดคุยถึงงานที่แต่ละฝ่ายจะต้องไปดำเนินการ ทั้งนี้ ความเข้มข้นในการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้จะตกไปอยู่ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องชาติที่ทุกคนมีส่วนได้เสีย ทุกคนต้องการมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีการฝากข้อเสนอแนะไปยัง กมธ. ยกร่างฯ มากมาย รวมไปถึงติติงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญบางประการด้วย แต่ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการประสานงานกันระหว่างคณะคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่มี สนช. ขึ้นมา รัฐบาลได้ส่งร่างกฎหมายให้ สนช. พิจารณาราว 82 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายค้างเก่า แต่ขณะนี้ที่หยุดเพราะรอร่างกฎหมายใหม่ที่กำลังจะเข้าไปอีกชุดใหญ่ เป็นชุดกฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาประมาณ 10 ฉบับ ร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้วและอยู่ในระหว่างการทบทวนของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ราว 30 ฉบับ เร็วๆ นี้ จะได้คำตอบจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง สนช. ไม่ต้องถึงกับหยุดประชุมเพื่อรอร่างกฎหมายจากรัฐบาล ระหว่างนี้มีวาระพิจารณาอื่นไปก่อน

ส่วนการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องแนวทางปฏิรูปต่างๆ โดยอยากให้ สปช. นำเสนอวิธีการปฏิบัติหรือจะเป็นรูปแบบร่างกฎหมายมาด้วย เพราะหากบอกเพียงประเด็นมาและให้รัฐบาลกำหนดวิธีการเองอาจจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สปช. ดังนั้น จึงต้องเน้นย้ำในเรื่องการจะทำอย่างไรด้วย ทั้งนี้ นายกฯ อยากให้ในช่วง 3 เดือนนี้มีชุดแนวทางการปฏิรูปในเรื่องเด่นๆ ออกมา ซึ่งทางคณะกรรมาธิการ 18 ชุดของ สปช. จะมีแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปออกมา 36 เรื่อง หรือ กมธ. ละ 2 เรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมมีการเคลียร์ใจเรื่องมติ สปช. ที่คัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ใจกัน เพราะ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ชี้แจงกับที่ประชุมว่า การพิจารณาเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมไม่ใช่เป็นหนึ่งในวาระพิจารณาเรื่องปฏิรูป เป็นเพียงการขอความคิดเห็นจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่ง สปช. ลงมติคัดค้าน นายกฯ จึงบอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ให้ทาง สปช. ส่งความเห็นมา แล้วรัฐบาลจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

“ขนาด สปช. เสนอเรื่องปฏิรูปใน 11 หัวข้อที่กำหนดไว้แท้ๆ รัฐบาลก็มีโอกาสที่จะไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของ สปช. เพราะในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดินที่ต้องรับผิดชอบการกระทำใดๆ ถ้าทำผิดจะถูกฟ้อง ในขณะที่ สปช. เมื่อหมดหน้าที่ก็ลุกไป จะทำได้หรือไม่ได้ รัฐบาลมีข้อมูล มีบุคลากร ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ที่ประชุมไม่ได้ว่าอะไร” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามถึงความชัดเจนเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญเดินหน้าไปถึงเวลาที่ต้องถามใจประชาชน แต่เวลานี้รัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ ถามในวันนี้ว่าชอบหรือไม่ชอบคงตอบกันไม่ถูก เมื่อถามย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. นายวิษณุกล่าวว่า ตนคิดว่าใกล้ๆ เวลานั้นคงจะรู้แล้ว แต่คงไม่ต้องรอถึงวันที่ 23 ก.ค. ที่ กมธ. ยกร่างฯ จะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เป็นวันสุดท้าย ทั้งนี้ เชื่อว่าการจะทำประชามตินั้นไม่เกี่ยวข้องกับการคงประกาศกฎอัยการศึก เพราะการลงประชามติที่ดีไม่จำเป็นต้องมีการชุมนุมหรือหาเสียง ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่ต้องมีการหาเสียงที่หากมีกฎอัยการศึกอยู่คงไม่เหมาะสม ในกระบวนการประชามติมีเพียงขั้นตอนการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของมาตราต่างๆ เท่านั้น

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับแนวคิดการตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ ออกระบุแล้วว่า คล้ายกับแนวทางของ กมธ. ยกร่างฯ ที่จะมีการตั้งศาลวินัยการเงินการคลัง ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชันอาจจะเกี่ยวกับเรื่องเงิน อาทิ การประชานิยม การใช้งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น ก็จะมาที่ศาลดังกล่าว แต่หากไม่เกี่ยวกับเงินทอง เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการทุจริตเชิงนโยบายก็มีศาลอื่นที่รองรับอยู่แล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น