xs
xsm
sm
md
lg

30 เครือข่ายด้านสิทธิฯ ยื่น “บวรศักดิ์” ทบทวนยุบรวมผู้ตรวจการฯ-กสม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


30 องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิเสรีภาพยื่นหนังสือประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนยุบรวมผู้ตรวจการฯ กับคณะกรรมการสิทธิฯ ระบุวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบต่างกัน ขณะที่ “บวรศักดิ์” พลิ้วรับฟังไม่ใช่เชื่อฟัง อ้างเหตุควบรวมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับให้มีกรรมการดูแล 11 ด้าน ระบุตั้งศาลวินัยการคลังฯ เล่นงานนักการเมือง ข้าราชการโกงสอดคล้องศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ของ “ป๋าเปรม”



ที่รัฐสภา (3 ก.พ.) นายจตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมด้วยตัวแทนสมาคม มูลนิธิและเครือข่ายด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวน 30 องค์กร ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ทบทวนกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ทำการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิของประชาชน” เนื่องจากทั้ง 30 องค์กรเห็นว่า เจตนารมณ์และการก่อตั้งรวมถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบร้องเรียนแตกต่างกัน โดย กสม.มุ่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ปฏิบัติตาม ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้ ดังนั้นจึงอยากให้ กมธ.ยกร่างฯ มีการทบทวน โดยให้คำนึงถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก

นายบวรศักดิ์กล่าวภายหนังรับหนังสือว่า กมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น โดยยังเปิดรับฟังจนถึง 23 ก.ค.นี้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาข้อดีข้อเสีย อยากให้ทุกคนคิดถึงประชาชนมากกว่าว่า ทำแล้วประชาชนได้อะไร มิเช่นนั้นจะไม่สามารถขจัดปัญหาของสังคมได้เสียที เหตุที่ควบรวมสององค์กรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับให้มีกรรมการ 11 คน ดูแล 11 ด้าน แทนที่ประชาชนจะไปร้องเรียน 3 แห่ง ก็จะสามารถร้องเรียนนำได้ในแห่งเดียวทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มออกมาคัดค้านสิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณารายมาตรา จะมีการทบทวนเรื่องนี้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ทบทวนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ต้องทบทวนหากมีความเห็นของประชาชนเข้ามา “เราพร้อมจะรับฟังแต่ไม่ใช่เชื่อฟัง”

สำหรับข้อเสนอแนะของ สปช.ที่ให้ กมธ.ยกร่างฯ ประชุมร่วมกับ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เนื่องจากเกรงว่ารัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมสปช. จะดำเนินการอย่างไร นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้พิจารณา แต่เรื่องต่างๆ ที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสนอมา ส่วนใหญ่เราเอาด้วยเกือบทุกเรื่อง อาทิ มีคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ปลัดกระทรวงรักษาการรัฐมนตรีช่วงเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองไม่เห็นด้วยต่อระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันนั้น เพราะเกรงว่าจะมีปัญหากับประเทศไทย ระบบการเลือกตั้งมีปัญหาทุกระบบ ในโลกนี้ไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูว่าระบบไหนเหมาะกับวัตถุประสงค์บางอย่าง ตรงนี้ต่างหากที่ตอบคำถามได้ และเป็นความยุติธรรม ซึ่งอยากให้คนที่ออกมาพูดไปดูว่าประเทศเยอรมนีมีปัญหาและมีเสถียรภาพหรือไม่ อย่าพิ่งพูด เราอย่าไปดูแค่จิ๊กซอว์อันเดียว ถึงจะเห็นว่ารูปนี้เป็นรูปอะไร

นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสนอแนะให้ตั้ง “ศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง” เพื่อให้คดีโกงลดกระบวนการให้เร็วขึ้นว่า ในส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯได้ทำตามแล้ว คือ การเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ศาลในการป้องการทุจริตคอร์รัปชัน คือ การตั้งศาลวินัยการคลัง และงบประมาณ โดยถือว่าสอดคล้องกับข้อเสนอของ พล.อ.เปรม จากเดิมที่มีเพียงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องใช้หลักฐานที่แน่นหนาและชัดเจน อัยการจึงสามารถดำเนินการสั่งฟ้องได้ แต่ศาลวินัยการคลัง และงบประมาณที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอตั้งขึ้นใหม่ หาก ป.ป.ช.และ สตง.พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงมีการทุจริตต่อทรัพย์สินที่เป็นเงินแผ่นดิน สามารถฟ้องศาลโดยตรงได้ โดยไม่ต้องรอหลักฐานจนถึงที่สุด ตรงนี้เป็นการอุดช่องว่าง

นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า ต่อไปหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เราก็จะมีการถอดถอนทางเมืองรวมถึงจะมีการดำเนินคดีการคลังและงบประมาณเป็นการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ ไม่ต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย เพียงแค่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก็เพียงพอที่จะฟ้อง ส่วนฝ่ายที่ดำเนินการหรือทำนโยบายต้องพิสูจน์ว่าตัวเองสุจริต และศาลก็ต้องพิจารณาตามสมควร ซึ่งตรงนี้ถือว่าไมใช่คดีอาญาดังนั้นหลักฐานก็ไม่ต้องแน่นหนา




กำลังโหลดความคิดเห็น