xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯไม่ขัดมติควบรวมกสม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3ม.ค.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดย นายศรีราชา วงศารยางกูร และ พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกันแถลงถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กร “คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน” โดยนายศรีราชา กล่าวว่า ตนเคารพมติของกมธ.ยกร่างฯ เพราะดูจากร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา อำนาจของผู้ตรวจฯ และกสม. ยังอยู่ครบถ้วน ยกเว้นในเรื่องของการตรวจสอบจริยธรรม ที่กมธ.ยกร่างฯ อาจให้เป็นหน้าที่ของสมัชชาคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้ดำเนินการแทน แต่อยากขอให้ กมธ.ยกร่างฯ ให้ผู้ตรวจการ มีหน้าที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ต่อไป เพราะถ้าทำให้ภาคราชการมีคุณธรรม ก็จะทำให้การร้องทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการลดน้อยลง และเห็นว่าเรื่องของการส่งเสริมคุณธรรมไม่ควรให้องค์กรใด จองกฐินเป็นเจ้าภาพเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้ปาฐกถาว่า เห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้น ในเรื่องของการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม มากขึ้น
ทั้งนี้ หากมีการควบรวมสององค์กร อยากให้กมธ.ยกร่างฯ สร้างความชัดเจนในการทำงาน เพื่อลดข้อครหาในการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ระหว่างองค์กร หรือสองมาตรฐาน ส่วนจำนวนขององค์อำนาจ ที่จะให้มี 11 คนนั้น เห็นว่ามากเกินไปหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในลักษณะที่มากคนก็มากความ จึงคิดว่ามีเพียง 5 คน น่าจะเหมาะสม ขณะเดียวกัน กระบวนการสรรหา อยากให้คำนึงถึงการทำให้กรรมการ เมื่อเข้ามาแล้วทำหน้าที่หลอมรวมกันได้ อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่อง ความเป็นสากลขององค์กร เนื่องจากผู้ตรวจฯ มีหน้าที่ให้สิทธิประชาชน ส่วนกสม. ก็คอยปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชน รวมทั้งในเรื่องสถานะของบุคลากร ที่ปัจจุบัน กสม. จะเป็นข้าราชการเต็มตัว แต่ผู้ตรวจการ จะเป็นพนักงาน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้วคงต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
" หากมีการรวมกัน ในส่วนกรรมการของทั้งสององค์กร คงไม่มีปัญหา เพราะ กสม.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระ ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ส่วนตนก็จะครบวาระ ในช่วงที่รัฐธรรมนูญอาจใกล้ใช้บังคับ แต่ที่เป็นห่วงคือ เรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงอยากให้ กมธ.ยกร่างฯได้รับฟังเสียงของประชาชน และเสียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในชั้นการยกร่างกฎหมายประกอบ ควรที่จะให้ผู้แทนของสององค์กรได้เข้าร่วม ไม่ใช่ทำกันเหมือนนั่งเทียน เพราะหากเป็นเช่นนั้น ที่หวังว่าโครงสร้างจะรัดกุม อาจหละหลวมได้" นายศรีราชากล่าว และ ว่า อย่างไรก็ตาม ตนยังรู้สบายใจ และมีความสุขที่กมธ.ยกร่างฯ ยังกำหนดชื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นชื่อนำอยู่ แต่ต้องดูกันต่อไปว่าเกมนี้ การควบรวมจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะยังมีเสียงคัดค้านอยู่ จิ้งจกทัก ก็ต้องฟัง
ด้าน พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ถ้าหากว่ามีการควบรวม เราก็ไม่ติดใจ แต่อย่างไรต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ลดช่องว่างในข้อกฎหมาย เมื่อควบรวมแล้ว ก็ต้องไปดูว่าในการทำหน้าที่ในแต่ละเรื่อง มีที่มาที่ไปอย่างไร และฝากให้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนโครงสร้างอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดความยืดเยื้อหรือยาวจนเกินไป เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมบ้านเมืองเกิดเปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ อีกทั้งเมื่อควบรวมสององค์กรแล้ว การทำรายงานต่อสหประชาชาติเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ส่วนเรื่ององค์อำนาจนั้นเห็นว่ามีจำนวน 5 คน ก็เพียงพอ แล้วจะไปแบ่งหน้าที่อย่างไร ก็ต้องพิจารณาต่อไป
สำหรับชื่อองค์กร กับชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง ต้องแยกกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน โดยตัวองค์กร จะใช้ชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ก็ใช้ไป แต่ตัวกรรมการควรเรียกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็น่าจะเพียงพอ เพราะชื่อนี้ถือว่าเริ่มติดตลาด ซึ่งประชาชนจำได้แล้ว
เมื่อถามว่า กสม.ต้องรายงานการทำงานต่อสหประชาชาติทุกปี หากมีการควบรวมกับผู้ตรวจการ จะได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติหรือไม่ นายศรีราชา กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงตนไม่สามารถตอบคำถามแทนได้ แต่ถ้าหากสหประชาชาติ มีความเข้าใจว่า แม้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อองค์กร แต่อำนาจในการทำหน้าที่ยังเหมือนเดิมก็ไม่น่ามีปัญหา อย่างไรก็ตามสหประชาชาตินั้น ทำหน้าที่เพียงคนที่คอยควบคุม และกระตุ้น แต่สิ่งสำคัญเราต้องทำให้ชัดเจน สิ่งที่เราทำเป็นผลดีต่อประเทศไทย ไม่ใช่สหประชาชาติ เพราะเราไม่ได้ยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดย พล.อ.วิทวัส กล่าวเสริมว่า มาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในประเทศไทยนั้น แม้สหประชาชาติ จะเป็นผู้ประเมิน แต่นี่เป็นหน้าที่สำคัญของคนไทยที่จะต้องไม่ทำให้อันดับเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของประเทศไทยตกลงไประดับเทียร์ 4 เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะถูกแขวนไปถึง 4 ปี และจะมีผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม
อย่างไรก็ตาม เรื่องการควบรวมสององค์กรนี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเครือข่าย อาทิ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่า เจตนารมณ์ของการก่อตั้ง และวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน แตกต่างกัน กล่าวคือคณะกรรมการสิทธิฯ มุ่งตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นจะเกิดจากการกระทำของบุคคลใด ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น มุ่งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามกฎหมายโดยการกระทำดังกล่าวอาจจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้ เมื่อมาทำงานร่วมกันอาจมีปัญหา กระทบถึงสิทธิของประชาชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น