xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ คงวาระ ป.ป.ช. 6 ปี เล็งรวม กสม.-ผู้ตรวจฯ ห้ามจับ กกต.ช่วงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” แจงผลประชุม กมธ.ยกร่างฯ พิจารณา กกต.เสร็จสิ้น มีเพิ่มห้ามจับ กกต.ระหว่างเลือกตั้ง คตง.-สตง.ยึดตาม รธน.40 เสียงข้างมากหนุน ป.ป.ช.คงวาระ 9 ปี ชี้ใช้อำนาจกึ่งตุลาการต้องมีความต่อเนื่องการทำงาน เตรียมควบรวม กสม.-ผู้ตรวจฯ เข้าด้วยกัน



วันนี้ (28 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาในส่วนที่ 5 องค์กรต่างรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จสิ้นแล้ว โดยที่มีการเพิ่มเติมจากการประชุมครั้งก่อน คือ ระหว่างมีพระราชกฤษฏีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศให้มีการเลือก ส.ว. หรือออกเสียงประชามติห้ามไม่ให้จับคุมขัง หรือมีหมายเรียกตัวไปทำการสอบสวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กกต. หรือในกรณีที่ที่จับในขณะกระทำความผิด ซึ่งในกรณีที่จับขณะกระทำความผิดหรือคุมขัง กกต.ในกรณีอื่นๆ ให้รายงานไปยังประธาน กกต.โดยด่วน โดยประธาน กกต.อาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้ แต่ถ้าประธาน กกต.เป็นผู้ถูกจับหรือคุมขังให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ กกต.เท่าที่มีอยู่เป็นผู้ดำเนินการ

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาต่อในส่วนของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยหลักการสำคัญให้ได้ใช้รูปแบบการเขียนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้ว่าการฯ เท่ากับ คตง. และมีการพิจารณาต่อในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยหลักการสำคัญที่มีการอภิปรายกันมากคือวาระการดำรงตำแหน่งที่เดิมมี 9 ปี และกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรจะลดลงเหลือ 6 ปีเท่ากับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น แต่เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่แล้วเห็นว่า แม้ ป.ป.ช.เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเช่นเดียวกับองค์กรอื่น แต่เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ คือทำหน้าที่ในการไตร่สวนมูลฟ้องเหมือนศาล การทำงานจึงต้องอาศัยความต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีวาระที่ยาวกว่าองค์กรตรวจสอบอื่นๆ ทำให้ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากให้คงวาระของการดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช. อยู่ที่ 9 ปีเช่นเดิม

ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นควรให้มีการรวมสององค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และอาจเพิ่มกรรมการเป็น 10-12 คน แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบจึงให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุดเพื่อศึกษาการควบรวมสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน ส่วนที่จะนำมาเสนอให้กรรมาธิการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมนัดถัดไป ดังนั้นคาดว่าการพิจารณาหมวดว่าด้วยองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะแล้วเสร็จได้ในวันนี้ โดยในภาพรวมการแก้ไขเรื่ององค์กรตรวจสอบในรัฐธรรมนูญใหม่จะมีจุดต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 มี 5 ข้อ คือ 1. ผู้ที่มีตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐจะต้องยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. และเปิดเผยต่อสาธารณะชนทราบ 2. ระบบการสรรหามีการเปลี่ยนหลักการไม่ให้ประธานศาลเข้ามาเป็นกรรมการสรรหากรรมการ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่กรรมการสรรหาจะมาจากภาคส่วนต่างๆ รวม 12 คน 3. มติในการคัดเลือกกรรมการตรวจสอบฯจะต้องมีคะแนนไม่นอยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการสรรหา 4. ผู้เข้ารับการสรรหาต้องไม่เคยเป็นกรรมการในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรับอื่นมาก่อน และ 5. จะมีการประเมินผลการทำงานขององค์กรตรวจสอบฯ ทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้กรรมาธิการยกร่างฯ จะมีการพิจารณาต่อในหมวด 5 ว่าด้วย การคลัง และการงบประมาณ



กำลังโหลดความคิดเห็น