xs
xsm
sm
md
lg

ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองกกต. ห้ามจับกุมคุมขังช่วงมีพรฎ.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาใน ส่วนที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการเพิ่มเติมจากการประชุมครั้งก่อน คือ ระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส. ประกาศให้มีการเลือก ส.ว. หรือออกเสียงประชามติ ห้ามไม่ให้จับกุม คุมขัง หรือมีหมายเรียกตัวกกต.ไปทำการสอบสวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กกต. หรือในกรณีที่ ที่จับในขณะกระทำความผิด ซึ่งในกรณีที่จับขณะกระทำความผิด หรือคุมขังกกต. ในกรณีอื่นๆ ให้รายงานไปยังประธาน กกต.โดยด่วน โดยประธาน กกต. อาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้ แต่ถ้าประธานกกต. เป็นผู้ถูกจับ หรือคุมขัง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ กกต. เท่าที่มีอยู่ เป็นผู้ดำเนินการ
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในส่วนของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยหลักการสำคัญ ให้ได้ใช้รูปแบบการเขียนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้ว่าฯ เท่ากับ คตง. และมีการพิจารณาต่อในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยหลักการสำคัญที่มีการอภิปรายกันมากคือ วาระการดำรงตำแหน่งที่เดิมมี 9 ปี และกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรจะลดลงเหลือ 6 ปีเท่า กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น แต่เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่แล้ว เห็นว่าแม้ป.ป.ช. เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเช่นเดียวกับองค์กรอื่น แต่เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ คือทำหน้าที่ในการไต่สวนมูลฟ้อง เหมือนศาล การทำงานจึงต้องอาศัยความต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีวาระที่ยาวกว่าองค์กรตรวจสอบอื่นๆ ทำให้ที่ประชุม มีมติเสียงข้างมาก ให้คงวาระของการดำรงตำแหน่งของป.ป.ช. อยู่ที่ 9 ปี เช่นเดิม
ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมเสียงข้างมาก เห็นควรให้มีการรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และอาจเพิ่มกรรมการเป็น 10-12 คน แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด เพื่อศึกษาการควบรวม 2 หน่วยงานดังกล่าวเข้าด้วยกัน ส่วนที่จะนำมาเสนอให้กรรมาธิการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมนัดถัดไป ดังนั้นคาดว่าการพิจารณาหมวดว่าด้วย องค์กรตรวจ สอบการใช้อำนาจรัฐ จะแล้วเสร็จได้ในวันนี้ โดยในภาพรวมการแก้ไขเรื่ององค์กรตรวจสอบในรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีจุดต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 50 มี 5 ข้อ คือ
1. ผู้ที่มีตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ จะต้องยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. และเปิดเผยต่อสาธารณะชนทราบ
2. ระบบการสรรหามีการเปลี่ยนหลักการ ไม่ให้ประธานศาลเข้ามาเป็นกรรมการสรรหากรรมการองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่กรรมการสรรหา จะมาจากภาคส่วนต่างๆ รวม 12 คน
3. มติในการคัดเลือกกรรมการตรวจสอบฯ จะต้องมีคะแนนไม่นอยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการสรรหา
4. ผู้เข้ารับการสรรหา ต้องไม่เคยเป็นกรรมการในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอื่นมาก่อน
5. จะมีการประเมินผลการทำงานขององค์กรตรวจสอบฯ ทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (29ม.ค.) กรรมาธิการยกร่างฯ จะมีการพิจารณาต่อใน หมวด 5 ว่าด้วย การคลัง และการงบประมาณ

**กกต.พร้อมลาออกหากทำงานไม่ได้

ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีที่ คณะกมธ.ยกร่างฯ มีมติให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ที่มาจากข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้ามาจัดการเลือกตั้งแทน กกต.ว่า เราต้องดูว่า กจต. มาจากการแต่งตั้งโดยปลัด 6 กระทรวง ผบ.ตร.1 คน ส่งตัวแทนเข้ามา แต่คนที่แต่งตั้งปลัด คือ รัฐมนตรี ทั้งนี้ เราก็ทราบอยู่แล้วว่า เป็นการเพิ่มอำนาจ หรือลดอำนาจของ กกต. ซึ่งเราไม่ทราบว่า ที่ผ่านมา กกต.ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างไร แต่การปฏิรูปเราต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น กกต.ไม่ได้หวงอำนาจ ก่อนที่ กมธ.ยกร่างฯ จะมีมติออกมาเราได้เสนอความคิดเห็นไปยังกมธ.ยกร่างฯ ก่อนแล้ว แต่เขาคงมีธงอยู่แล้ว หากเสนอไปอีกครั้ง ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
นายศุภชัย กล่าว่า หาก กกต.ไม่ได้จัดการเลือกตั้ง ภาระก็จะไปอยู่ที่ กจต. ซึ่งเรามีอำนาจหน้าที่ควบคุมการจัดการเลือกตั้ง เราคงมองเป็นเรื่องของการลดภาระ แต่คงไม่คาดการณ์ล่วงหน้าว่า หาก กจต.จัดการเลือกตั้งแล้วจะดีหรือไม่ดี และคงไม่วิจารณ์ว่า หากกจต.จัดการเลือกตั้งแล้ว จะถูกการเมืองแทรกแซงหรือไม่ เพราะหากวิจารณ์ไปแล้วจะกระทบต่อหน่วยงานอื่น
"หากปรับอำนาจตามมติของ กมธ.ยกร่างฯ แล้ว เราไม่สามารถทำงานได้ เราก็ลาออก เพราะไม่อยากเปลืองภาษีของประชาชน เราไม่ยึดติดอยู่แล้ว อะไรทำแล้วส่งผลให้ได้คนดี สะอาด โปร่งใส่ เข้ามาบริหารประเทศ ถึงแม้เราเหนื่อย เราก็ต้องยอม หากประเทศชาติดีขึ้น และหาก กจต.จัดเลือกตั้งแทน กกต.จริงๆ ก็คงต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง" นายศุภชัย กล่าว

** บี้สปช.เร่งสร้างผลงานเป็นรูปธรรม

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการประสานงานกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วม ระหว่างประธานกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ และประธานกรรมาธิการอื่นๆ อีก 5 คณะว่า ในเบื้องต้น นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เห็นว่า ขณะนี้ระยะเวลาทำงานกระชั้นชิดเข้ามาแล้ว เหลือระยะเวลาทำงาน 6-9 เดือน จึงจำเป็นที่ คณะกรรมาธิการแต่ละด้านต้องเร่งการปฏิรูป โดยประธานฯได้มีนโยบายชัดเจนที่จะประสานกับแม่น้ำอีก 4 สาย คือ คสช. สนช. ครม. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิรูปด้านต่างๆ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเบื้องต้นมีการกำหนดวาระการปฏิรูป และแนวทางการจัดการเป็น 2 แนวทาง คือ
1 . ในส่วนของการปฏิรูปได้สรุปกรอบการปฏิรูปเรื่องใหญ่ที่สำคัญรวม 36 เรื่อง และเรื่องที่เป็นวาระที่ต้องพัฒนาต่อไปให้เกิดความยั่งยืนแม้จะพ้นช่วงเวลาการทำงานของ สปช.ไปแล้วก็ตามอีก 7 วาระ ซึ่งนายเทียนฉาย ได้กำหนดให้กรรมาธิการทั้ง 18 คณะ ไปกำหนดกรอบหลักการและแนวทางการปฏิรูปดังกล่าวเสนอมายังประธาน สปช. ภายในวันที่ 27 ก.พ. และให้กำหนดวิธีการ และกระบวนการในการปฏิรูปทั้งหมด โดยให้เสนอมาภายในวันที่ 10 เม.ย. ส่วนถ้าเรื่องใดจะต้องมีการยกร่างเป็นกฎหมาย ก็ให้เสนอร่างกฎหมายมายังประธานภายใน 31 ก.ค. ซึ่งจากกรอบเวลาดังกล่าว เมื่อมีการดำเนินการแล้วก็จะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครม. สนช. และจะเห็นได้ว่าภายในเดือนเม.ย.นี้ จะต้องมีผลงานออกมาให้ประชาชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ และเป็นรูปธรรมชัดเจน
สำหรับการประชุมเพื่อกำหนดวาระการประชุมสปช. นั้น ที่ประชุมได้กำหนดให้การประชุม สปช. วันที่ 2 ก.พ. มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. ... ที่เสนอโดยกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากเห็นว่า เรื่องดังกล่าวค้างการพิจารณามาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วและมีวาระให้สมาชิกเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องทำอย่างไรที่จะให้กลไกของรัฐ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ส่วนการประชุมวันที่ 3 ก.พ. จะเป็นวาระการอภิปรายทั่วไปในในประเด็นทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เที่ยงธรรม
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ในหลายประเด็น หากผ่านการพิจารณาของสปช. และ สนช. ก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการคุ้มครองได้มากขึ้น และยังให้เกิดการทำงานเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นด้วย เช่น กรณีการคิดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ หากมีองค์กรดังกล่าวก็จะสามารถช่วยผู้บริโภคได้มากกว่านี้ ขณะเดียวกันเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ ก็จะช่วยลดการ ฟ้องร้องต่อรัฐให้น้อยลงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น