xs
xsm
sm
md
lg

นิยาม"เงินแผ่นดิน"ครอบคลุมเงินกู้ "วิษณุ"ค้านปลัดฯตั้งกจต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 12.30 น. วานนี้ (29ม.ค.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นิมนต์ พระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล ย่านสุขุมวิท มาให้พร โดยนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันมงคล ตนจึงได้นิมนต์หลวงพ่อวิริยังค์ มาให้พรกับบรรดาคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทุกคน
ด้านหลวงพ่อวิริยังค์ กล่าวให้พร ว่า ขอให้ทุกคนที่ดำเนินงานในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย หลวงพ่อยินดีมาก ที่ได้เดินทางมาในวันนี้ ท่าน ดร.บวรศักดิ์ ได้ อารธนาให้หลวงพ่อมาฉันภัตตาหาร ก็เลยถือโอกาสมาอวยพรให้ คณะร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ที่หลวงพ่อจะอวยพรให้ก็ คือ ขอให้คณะกรรมาธิการทุกท่าน ทำการร่างรัฐธรรมนูญ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ปราศจากโรคภัย ขอให้มีกำลังวังชา ขอให้มีจิตวิญญาณ ที่จะทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ หลวงพ่อคิดว่าในปัจจุบัน พระสงฆ์ ควรจะเป็นผู้นำด้านศีลธรรม หากว่ามีข้อใดที่จะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้พระสงฆ์มีความสะดวกในการนำทางด้านศีลธรรม ให้ประชาชนมีศีลธรรมมากขึ้น โดยที่ว่าบางท่านอาจจะมีการเหลวไหลบ้าง เพราะพระสงฆ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก และหากมีข้อใดที่จะทำให้พระสงฆ์ อยู่ในร่องรอยแล้ว พระสงฆ์ก็คงสามารถนำด้านศีลธรรมแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ศีลธรรม หากจะให้ดีจริงๆ แล้ว คนเราต้องมีสมาธิ เพราะเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด และหากมีสมาธิ เราก็จะมีสติ มีสติแล้วเราก็จะมีปัญญา หากขาดสติ ขาดสมาธิ ก็จะทำให้ขาดปัญญา เหลวไหล
หลวงพ่อวิริยังค์ กล่าวต่อว่า ท่านทั้งหลายควรที่จะพยายามทำร่างกาย และจิตใจให้มีความแข็งแรง เพื่อที่จะได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ถาวรให้แก่ประเทศชาติ และในโอกาสที่ได้เดินทางมาในที่นี้ในครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะพยายามที่จะให้ทุกคนมีความสุข อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพยายามที่จะหาความอยู่เย็นเป็นสุข ให้ประชาชน พระสงฆ์ ก็เป็นประชาชน ฆราวาส ก็เป็นประชาชน แต่พระสงฆ์ต้องเป็นผู้ทำทางด้านศีลธรรม
ภายหลังจากเสร็จการอวยพร ก่อนที่จะเดินทางกลับ นายบวรศักดิ์ ได้แนะนำบรรดาคณะกรรมาธิการยกร่าง อีกหลายคน อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ยืนรอส่งหลวงพ่อ ก่อนเดินทางกลับออกจากห้องประชุม กมธ.ยกร่าง ด้วย

**นิยาม "เงินแผ่นดิน" ครอบคลุม เงินกู้

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดี หมวด 5 การคลัง และการงบประมาณว่า มีการเพิ่มหลักการที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญเดิม 4 ประการ คือ 1. วางหลักการใหม่ของการเงินการคลังการงบประมาณ 2. นิยาม เงินแผ่นดินใหม่ 3. เปลี่ยนระบบจัดทำงบประมาณเป็น ระบบงบประมาณ 2 ขา และ 4. กำหนดให้จัดสรรงบประมาณนอกจากคำนึงของหน่วยงาน ภารกิจแล้ว ยังให้คำนึงเรื่องพื้นที่ด้วย โดยบทบัญญัติที่เพิ่มนั้น กำหนดให้ การดำเนินนโยบายการคลัง และงบประมาณของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หลักประสิทธิภาพและความคุ้มค่า หลักการ รักษาวินัยทางการคลัง และหลักความเป็นธรรมในสังคม
ส่วนเงินแผ่นดินนั้น ให้หมายรวมถึง 1. เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สิน และสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม
2. เงินรายได้จากการดำเนินงานหรือจากทรัพย์สิน และสิทธิประโยชน์อื่นที่หน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองและใช้จ่ายตามกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะโดยจำต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่ได้ตราเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หรือ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมจะกระทำมิได้ การกำหนดให้เงินรายได้ใดไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จะกระทำได้ก็แต่เมื่อ มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายและการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และต้องมีการกำหนดขอบเขตและกรอบวงเงินเท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาวินัยการเงินการคลัง และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและความจำเป็นในการใช้จ่ายของหน่วยงานของรัฐ
3 . กำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ต้องแสดงงบประมาณรายรับและรายจ่ายประจำปี หรือเรียกว่า การจัดงบประมาณสองขา เปลี่ยนจากเดิมที่จะเป็นงบประมาณรายจ่ายเพียงอย่างเดียว
4. การจัดสรรงบประมาณตามหน่วยงาน ภารกิจ และพื้นที่
ทั้งนี้ นายคำนูณ อธิบายถึงเหตุผลที่มีการนิยาม คำว่า เงินแผ่นดินรวมถึงเงินกู้ด้วย เกิดจากบทเรียนของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงิน โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีการอ้างว่า เงินกู้ไม่ถือเป็นเงินแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องบัญญัติการใช้จ่ายในงบประมาณประจำปี ทำให้เกิดปัญหา และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เงินกู้ คือเงินแผ่นดิน แต่ก็ยังไม่มีคำนิยามที่ครอบคลุม จึงได้วางหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้อง สังคายนากฎหมายการเงิน การคลัง ภาครัฐ ทั้งระบบด้วย

** "วิษณุ"ค้านปลัดฯตั้ง กจต.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสดงความน้อยใจ หลังกมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มี คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เข้ามาจัดการเลือกตั้งแทนกกต. ว่า ที่ผ่านมากกต.ไทยทำในรูปแบบเป็นผู้ควบคุมกติกา แจกใบเหลืองและใบแดง ปรากฏว่า มีทั้งคนพอใจ และไม่พอใจ ตนไม่อยากบอกว่า กกต.ทำงานดี หรือบกพร่อง แต่ระบบนี้มีจุดอ่อน คือ เป็นการเอาอำนาจทั้งหมดมาอยู่ในองค์กรเดียว อาจมีปัญหาทำให้สังคมไม่ไว้วางใจ ไม่มีการถ่วงดุลกันเอง ในโลกนี้ยังมีอีกรูปแบบคือ ให้กกต.ทำเพียงบางอย่าง คือ เป็นผู้ออกกติกาให้คนอื่นปฏิบัติ และคอยทำหน้าที่ตรวจสอบว่า ทำถูกหรือทำผิด เพราะหาก กกต. ออกกติกา แล้วตัวเองเป็นฝ่ายปฏิบัติเอง จะหนีไม่พ้นถูกครหาว่า เป็นการรวมอำนาจ จะทำให้ขาดการตรวจสอบกันเอง ระหว่างส่วนกลางกับเจ้าหน้าที่ บางครั้งงานอาจช้า หากงานหลายอย่างมาพะรุงพะรังกันอยู่ที่เดียว
นายวิษณุ กล่าวว่ารูปแบบ กจต. มีในบางประเทศ ตนคิดว่าพอไปได้ แต่ยังอยากจะฟังให้ชัดเจนว่า ที่มาของ กจต. 7 คน มาจากไหน หากให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้ง อาจไม่เป็นที่ไว้วางใจ ที่สุดจะเป็นระบบราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงอยากจะขอให้คิด และออกแบบใหม่ ควรให้เป็นที่ไว้วางใจมากกว่านี้ ส่วนกรณี กกต.แสดงความน้อยใจว่า ถูกลดอำนาจ เรื่องนี้มีเหตุอยู่ เริ่มต้นจากคนนั้นคนนี้ไปพูดว่า กกต.บกพร่อง ความจริง กมธ.ยกร่างฯ ควรต้องออกมาอธิบายว่าความคิดดังกล่าว ไม่ได้เกิดจาก กกต.บกพร่อง เป็นหลักใหญ่ เพียงแต่ต้องการจัดระบบให้มีการคาน และดุลอำนาจ อะไรก็ตาม หากมีการแยกออกไป ไม่กระจุกตัวเป็นของดีทั้งนั้น หากทำความเข้าใจอย่างนี้ กกต. อาจเข้าใจ แรงน้อยใจจะลดลง ที่ผ่านมาตนเห็นใจ เพราะกระแสไปตำหนิ บางครั้งเอ่ยชื่อ ความจริงไม่ใช่ตัวต้นเหตุเลย เพียงแต่เมื่อเราจะปฏิรูป อาจต้องหยิกเล็บเจ็บเนื้อ ทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการปฏิรูป จะปฏิรูปเรื่องวิธีเลือกตั้งคนที่ทำอยู่แต่เดิมย่อม ได้รับผลกระทบ แต่อย่าไปตำหนิกันว่า เพราะคุณเลว และแย่ เลยต้องปฏิรูป แต่ความหมายของปฏิรูป คือ ทำให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นว่าของเดิมแย่

**หนุนควบรวม กสม.-ผู้ตรวจฯ

นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับการควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นคณะผู้พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเป็นช่องทางให้คนร้องเรียนเรื่องความทุกข์ และความเดือดร้อนทั้งหลาย ตลอดจนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน กมธ. ยกร่างฯ คงต้องพิจารณากันอีกหลายยก ส่วนจะต้องสรรหาคณะผู้พิทักษ์สิทธิ์ใหม่ทั้งหมดหรือไม่นั้น การควบรวมกันอาจจะกระทบตัวเลข เพราะของเดิมกสม. มี 9 คน และผู้ตรวจการแผ่นดิน มี 3 คน ซึ่งเกินตัวเลขที่กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้คณะผู้พิทักษ์สิทธิ์ มี 9 – 11 คน อาจทำให้ต้องสรรหาคณะกรรมการใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์กรอิสระมีแนวโน้มจะงอกเพิ่มขึ้นมาอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีการมองว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเหมือนเสือกระดาษ ไม่มีอำนาจลงโทษใคร นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะกฎหมายไปเขียนให้เขาอย่างนั้น แต่จะบอกว่าเป็นเสือกระดาษไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งล้มไปกี่ครั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นคนฟ้องทั้งนั้น ใครไปมองว่าเขาเป็นเสือกระดาษ หากเขาย้อนว่าที่เขาล้มการเลือกตั้งได้ คือ เสืออะไร
ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม. มีความกังวลใจต่อแนวคิดของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ให้ยุบรวมองค์กรสิทธิมนุษยชนฯ เข้ากับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้เราจะเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระ แต่ก็มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างออกไปจากองค์กรอิสระทั่วไป เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเรื่องใหญ่ของโลก และเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของ คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย และในอดีตไทยยังเคยสมัครชิงตำแหน่ง ประธานขององค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิฯ มีนโยบายที่จะปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยตั้งเป้าหมายไว้ใน 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้นการควบรวม 2 องค์กร จะมีผลต่อการปรับโครงสร้าง เป็นการลดฐานะองค์กรจะต้องเสียเวลาในการพัฒนาองค์กรใหม่อีก ซึ่งยอมรับว่า ทุกคนตกใจกับข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้นานาประเทศเห็นว่า รัฐบาล และคสช. ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนที่ผ่านมา และการที่รัฐบาลใช้กฎอัยการศึก ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว

** ชี้ กจต.ไม่แก้ซื้อสิทธิ ขายเสียง

นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มี กจต. ขึ้นมาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของ กกต. อีกชั้นหนึ่งว่า รู้สึกผิดหวังกับแนวคิดของกมธ. ทั้งที่ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ทำไมถึงมองโจทย์ประเทศไม่ออก ปัญหาของการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่ กกต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ที่มีอยู่ทั่วไปทุกหย่อมหญ้า และในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล อบจ. ส.ส. และ ส.ว.
"ทุกคนต้องระดมสมองมาหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้เงินซื้อสิทธิ์ขายเสียงร่วมกัน ไม่ใช่ไปมัวแต่หลงทาง สร้างองค์กรขึ้นมาใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ กันเข้าไปอีก อยากถามท่านกมธ. ว่า ท่านมองไม่ออกจริงๆ หรือว่า ปัญหาของบ้านเมืองอยู่ที่การทุจริต ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ซึ่งเป็นต้นเหตุของความสกปรกของการเมือง เพราะคนเมื่อใช้เงินเข้ามาในวงการเมือง ก็เข้ามาทุจริต มาคอร์รัปชัน มาถอนทุน เป็นวงจรอุบาทว์ในทุกวันนี้ ขอถามผ่านสื่อดังๆ หน่อยเถอะว่า ท่านสร้างองค์กร กจต. มาจัดการเลือกตั้งแทน กกต. มันจะช่วยแก้ปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียง ได้อย่างไร เหมือนคนไข้เป็นโรคร้ายโรคหนึ่ งมาหาหมอ คนเป็นหมอกลับวินิจฉัยผิด ให้ยาผิด รักษาผิด นอกจากโรคก็ไม่หายแล้ว คนไข้ยังอาจเสียชีวิต เสียเงินเสียทอง " นายประวิช กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ มีการทบทวนในเรื่องนี้ อย่าคิดเป็นเรื่องเสียหน้า อย่ามัวถือทิฐิ แล้วปล่อยให้ความคิดติดอยู่ในวังวน เป็นกระทงหลงทางอีกเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น