“รองวิษณุ” ป้องอัยการศึกไร้ปัญหา ชี้ใต้ใช้นานจนลืม ส่วนใหญ่ไม่เต็มอัตรา ยันเรียกปรับทัศนคติไม่ถูกมองภาพลบ ขออย่าเขวตามอุดมการณ์มะกัน รับต้องมี กม.ลูกถึงเลือกตั้ง ปัดล่าตระกูลแม้ว ชี้เป็นอนิฏฐารมณ์ คนไม่เข้าใจ แจง กกต.ไม่บกพร่องเหตุลดอำนาจ แต่ปฏิรูปต้องมีกระทบ บี้ กมธ.ยกร่างฯ เคลียร์แจง ค้านปลัดก.ตั้ง กจต. หนุนรวม กสม.-ผู้ตรวจฯ ก่อนเปิดศูนย์บริการ ปชช.ในห้าง
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกฎอัยการศึกที่กำลังเป็นที่วิจารณ์กันมาก หลังสหรัฐอเมริกาแนะให้ไทยยกเลิกการประกาศใช้ว่า ขอยืนยันว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ได้เป็นปัญหา เป็นธรรมดาที่ในต่างประเทศอาจตกใจต่อการใช้คำว่ากฎอัยการศึก แต่สำหรับประเทศไทยเราอยู่กับการใช้กฎอัยการศึกมานาน โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ใช้กันมานานจนลืมไปแล้ว กฎอัยการศึกโดยตัวมันแล้วไม่มีอะไร แต่ผลจากการประกาศใช้มีตามมา เพราะเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจเหนือพลเรือนสิบกว่าอำนาจ แต่จะใช้ทั้งหมดหรือไม่อยู่ที่การประกาศ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการประกาศใช้เต็มอัตราศึก และด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลคิดว่าการประกาศกฎอัยการศึก ไม่น่าจะมีผลอะไร และไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เพียงแต่อาจทำให้รู้สึกเดือดร้อนรำคาญบ้าง เป็นความจำเป็นของฝ่ายความมั่นคง และคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์อาจจะไม่รู้ ดังนั้นก็ต้องฟังเขา เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นรัฐบาลรู้ว่ามีอะไรบ้างก็จะหาวิธีที่ผ่อนคลาย แต่วันนี้มีความจำเป็นที่จะประกาศใช้อยู่ รัฐบาลก็ประเมินอยู่ตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่าต่างประเทศยังไม่เข้าใจที่ไทยประกาศใช้กฎอัยการศึก รองนายกฯ กล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่าต่างประเทศเขาเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งมันอยู่ที่ภาพลักษณ์ของคำนี้ เมื่อถามว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกบุคคลเข้าไปปรับทัศนคติจะยิ่งตอกย้ำให้ต่างประเทศมีความรู้สึกไม่ดีต่อไทยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้ามีการเรียกไปจริงอย่างที่เป็นข่าว คงไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องที่เราพบกับผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นเพราะการออกมาพูดแสดงความคิดเห็นในเรื่องทัศนคติ ที่ทางรัฐบาลหรือ คสช.เห็นว่าต้องมาปรับทัศนคติกันใหม่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ก็ต้องมาคุยกันทำไมถึงคิดแบบนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วนตัวมองว่าสหรัฐฯ กำลังคุกคามทางการทูตของไทยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้ เพราะฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงแสดงความคิดเห็นไปแล้ว แต่ตนเห็นด้วยกับการพูดของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จริงๆ ก่อนหน้านี้ตนเคยพบกับทูตอเมริกามาแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร เขาจะคอมเม้นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เราก็พูดตามโรดแมปของเรา
“อเมริกาเขาพูดตามอุดมการณ์ของเขาซึ่งเราก็รู้ว่าอุดมการณ์ของเขาคืออะไร ไม่ต้องไปเขว ตอนที่มาพบผม ผมก็พูดว่ารัฐธรรมนูญเสร็จเดือนกันยายน แล้วไปเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ อย่างนี้มันไม่ค่อยฉลาด ผมบอกอีกว่าถ้ารัฐธรรมนูญเสร็จเดือนกันยายน แล้วไปเลือกตั้งเดือนตุลาคม อย่างนั้นถึงขั้นโง่เลยล่ะ เพราะกฎหมายลูกก็ยังไม่มี พรรคการเมืองก็ยังไม่ได้ตั้ง เพราะฉะนั้นระหว่างไม่ฉลาดกับโง่เราก็ต้องเลือกเอาหน่อย” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ตนดูรัฐธรรมนูญที่ร่างจะมีกฎหมายลูก 2 ประเภท คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งต้องออก แต่กฎหมายลูกที่ไม่ได้ประกอบรัฐธรรมนูญและไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งค่อยออกก็ได้ ให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเขามาออก ส่วนที่มีการเสนอให้เลือกตั้งแบบเยอรมันนั้น เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่เราไม่เคยเลือก มันจะเลือกยังไง ก็ต้องรอกฎหมายลูก อาจจะร่างไว้ได้จนกว่ารัฐธรรมนูญจะออก หรืออย่างพรรคการเมืองถ้ายังไม่มีกฎหมายลูก สุดท้ายแล้วก็จะมีพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยแข่งกันสองพรรค ดังนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกพรรค
เมื่อถามถึงการวิจารณ์ว่ารัฐบาลกวาดล้างตระกูลชินวัตร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไม่สมหวัง ของคนที่ได้รับผลกระทบ ย่อมเกิดสิ่งที่เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ การเกิดอารมณ์ที่ไม่เอ็นจอย หรืออารมณ์บ่จอย อาจจะมองเป็นการไล่ล่า แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ มีคนทำ และการกระทำนั้นผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ แน่นอนว่าคนที่ไม่เข้าใจก็จะเข้าใจว่ากระบวนการนั้นคือการไล่ล่า ทั้งที่เป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำ
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสดงความน้อยใจหลัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เข้ามาจัดการเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมา กกต.ไทยทำในรูปแบบเป็นผู้ควบคุมกติกา แจกใบเหลืองและใบแดง ปรากฏว่ามีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ ตนไม่อยากบอกว่า กกต.ทำงานดีหรือบกพร่อง แต่ระบบนี้มีจุดอ่อน คือ เป็นการเอาอำนาจทั้งหมดมาอยู่ในองค์กรเดียว อาจมีปัญหาทำให้สังคมไม่ไว้วางใจ ไม่มีการถ่วงดุลกันเอง ในโลกนี้ยังมีอีกรูปแบบ คือ ให้ กกต.ทำเพียงบางอย่างคือเป็นผู้ออกกติกาให้คนอื่นปฏิบัติ และคอยทำหน้าที่ตรวจสอบว่าทำถูกหรือทำผิด เพราะหาก กกต.ออกกติกาแล้วตัวเองเป็นฝ่ายปฏิบัติเองจะหนีไม่พ้นถูกครหาว่าเป็นการรวมอำนาจ จะทำให้ขาดการตรวจสอบกันเองระหว่างส่วนกลางกับเจ้าหน้าที่ บางครั้งงานอาจช้าหากงานหลายอย่างมาพะรุงพะรังกันอยู่ที่เดียว
นายวิษณุกล่าวว่า รูปแบบ กจต.มีในบางประเทศ ตนคิดว่าพอไปได้ แต่ยังอยากจะฟังให้ชัดเจนว่าที่มาของ กจต.7 คนมาจากไหน หากให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งอาจไม่เป็นที่ไว้วางใจ ที่สุดจะเป็นระบบราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงอยากจะขอให้คิดและออกแบบใหม่ ควรให้เป็นที่ไว้วางใจมากกว่านี้ ส่วนกรณี กกต.แสดงความน้อยใจว่าถูกลดอำนาจเรื่องนี้มีเหตุอยู่ เริ่มต้นจากคนนั้นคนนี้ไปพูดว่า กกต.บกพร่อง ความจริง กมธ.ยกร่างฯควรต้องออกมาอธิบายว่าความคิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจาก กกต.บกพร่องเป็นหลักใหญ่ เพียงแต่ต้องการจัดระบบให้มีการคานและดุลอำนาจ อะไรก็ตามหากมีการแยกออกไปไม่กระจุกตัวเป็นของดีทั้งนั้น หากทำความเข้าใจอย่างนี้ กกต.อาจเข้าใจ แรงน้อยใจจะลดลง ที่ผ่านมาตนเห็นใจเพราะกระแสไปตำหนิบางครั้งเอ่ยชื่อ ความจริงไม่ใช่ตัวต้นเหตุเลย เพียงแต่เมื่อเราจะปฏิรูปอาจต้องหยิกเล็บเจ็บเนื้อ ทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการปฏิรูป จะปฏิรูปเรื่องวิธีเลือกตั้งคนที่ทำอยู่แต่เดิมย่อมได้รับผลกระทบ แต่อย่าไปตำหนิกันว่า เพราะคุณเลวและแย่เลยต้องปฏิรูป แต่ความหมายของปฏิรูป คือ ทำให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นว่าของเดิมแย่
รองนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นคณะผู้พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเป็นช่องทางให้คนร้องเรียนเรื่องความทุกข์และความเดือดร้อนทั้งหลาย ตลอดจนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน กมธ.ยกร่างฯ คงต้องพิจารณากันอีกหลายยก ส่วนจะต้องสรรหาคณะผู้พิทักษ์สิทธิ์ใหม่ทั้งหมดหรือไม่นั้น การควบรวมกันอาจจะกระทบตัวเลข เพราะของเดิม กสม.มี 9 คน และผู้ตรวจการแผ่นดิน มี 3 คน ซึ่งเกินตัวเลขที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้คณะผู้พิทักษ์สิทธิ์มี 9-11 คน อาจทำให้ต้องสรรหาคณะกรรมการใหม่ อย่างไรก็ตามสำหรับองค์กรอิสระมีแนวโน้มจะงอกเพิ่มขึ้นมาอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีการมองว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเหมือนเสือกระดาษ ไม่มีอำนาจลงโทษใคร นายวิษณุกล่าวว่า เพราะกฎหมายไปเขียนให้เขาอย่างนั้น แต่จะบอกว่าเป็นเสือกระดาษไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งล้มไปกี่ครั้งผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นคนฟ้องทั้งนั้น ใครไปมองว่าเขาเป็นเสือกระดาษหากเขาย้อนว่าที่เขาล้มการเลือกตั้งได้คือเสืออะไร
ทั้งนี้ นายวิษณุยังได้เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนร่วมในห้างสรรพสินค้า ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และระหว่าง ก.พ.ร.กับหน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. สำนักงานประกันสังคม กรมการขนส่งทางบก กรมจัดหางาน เป็นต้น โดยนายวิษณุกล่าวสุนทรพจน์ว่า การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนดังกล่าวจะจัดน้ำร่องที่เซ็นทรัลเวิลด์เป็นที่แรก โดยจะเร่งดำเนินการอาจเปิดได้ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ และจะขยายไปยังอีก 13 สาขาทั่วประเทศต่อไป เพราะปัจจุบันการเข้าถึงบริการภาครัฐ ประชาชนต้องไปยังส่วนราชการมีประชาชนไปใช้บริการพร้อมกันเป็นจำนวนมาก อาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่าย การจัดให้มีศูนย์ดังกล่าวจะทำให้การบริการประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม มีคุณภาพ ราคาประหยัด และสะดวก ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่ ก.พ.ร.ให้กับประชาชนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี