ที่ประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เคาะรัฐสภาถอดถอนนักการเมือง พร้อมตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปีย้อนหลังได้ นับแต่วันมีมติ ยังให้อำนาจศาลฏีกาคดีอาญาฯ ชี้ร่ำรวยผิดปกติ ตัดอำนาจ กกต. เหลือแค่ควบคุม สั่งเลือกตั้งใหม่ แต่ไร้อำนาจแจกใบแดง สถาปนา กจต. ทำหน้าที่จัดเลือกตั้งแทน ขณะเดียวกันลดวาระดำรงตำแหน่งเหลือแค่ 6 ปี
วันนี้ (27 ม.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาต่อเนื่องในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันผลประโยชน์ ส่วนที่ 3 การถอดถอนออกจากตำแหน่งและการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นๆ ส่วนที่ 4 การดำเนินคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีการกำหนดเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฏีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือ อัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือถูกพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อร้องให้ถูกถอดถอน ให้รัฐสภาอาจพิจารณามีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตัดสิทธิ์ผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการรับราชการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นๆ เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รัฐสภามีมติ ทั้งนี้ ให้ใช้สำหรับกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนจากหลักการเดิมขอรับธรรมนูญปี 50 ที่ให้การถอดถอนเป็นหน้าที่ของวุฒิสภามาเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ส่วนประเด็นการถอดถอนที่หากรัฐสภามีมติไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. แล้วให้นำรายชื่อบุคคลที่ถูกร้องขอให้ถอดถอนไปให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไป และหาเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิมีมติให้ถอดถอนให้ตัดสิทธิ์ผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่นเป็นเวลาสิบปีนับแต่วันออกเสียงลงคะแนนนั้น ทางกรรมาธิการได้แขวนการพิจารณาไว้ก่อน
ส่วนการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นกำหนดให้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการทางการเมือง ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ยังคงให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งให้กรณีดังกล่าวใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวด้วย
จากนั้นได้มีการพิจารณาในส่วนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเริ่มจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีการพิจารณาในส่วนของการสรรหา กกต. โดยกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหา ผู้สมควรเป็น กกต. จำนวน 2 คน และอีก 3 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบไปด้วย กรรมการรวม 12 คน ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ที่เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดอย่างละ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คนที่เลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และเลือกโดยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 1 คนที่เลือกโดย ครม. ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนที่เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนที่เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และมติในการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผยโดยผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็น กกต. ต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เมื่อได้รับการสรรหาแล้ว กกต. จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และเป็นได้เพียงวาระเดียว
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ กกต. นั้น มีการกำหนดให้มีอำนาจควบคุมการเลือกตั้ง ส.ส. และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ควบคุมการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม วางกฎระเบียบทั้งหลายอันจำเป็นต่อการปฏิบัติการในการควบคุมการเลือกตั้ง วางระเบียบที่เกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งร่วมกันปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของรัฐ ความสุจริตเที่ยงธรรม เสมอภาคและโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง สามารถสั่งให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าทีของ กกต. ซึ่งหมายรวมถึงการสั่งให้มีการสอบวินัยหรือออกนอกพื้นที่ หากพบว่าวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง กำหนดมาตรการควบคุมการบริจาคเงินของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง รวมถึงการจ่ายเงินหรือรับเงินเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง หรือเมื่อมีการกรณีการคัดค้านหรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่าการเลือกตั้ง หรือการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นไปไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใด หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งในหน่วยนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ผู้บริการ สมาชิกสภาท้องถิ่น ส.ว. ผลการออกเสียงประชามติ และมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณีเพื่อให้สั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งผู้สมัครที่กระทำการใช้หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การกำหนดหลักการดังกล่าวจะทำให้ กกต. มีอำนาจในเรื่องของการควบคุมการเลือกตั้ง โดยในเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง กรรมาธิการฯ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิจำนวน 7 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผบ.ตร. โดยแต่งตั้งข้าราชการในแต่ละกระทรวงหรือสำนักงานมาที่ละ 1 คนมาทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติ โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิเลือกคนหนึ่งเป็นประธาน ส่วน ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จึงยังเป็นอำนาจ กกต. ในการดำเนินการ ซึ่ง กจต. จะมีคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามการแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง ในเรื่องอำนาจหน้าที่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง กจต. ในระดับจังหวัด ที่นอกจากจะมีข้าราชการในท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีเอกชนร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ที่จะมาจัดการเลือกตั้งมีที่มาที่หลากหลาย โดย กจต. จังหวัดก็จะไปตั้ง กจต. ระดับเขตเพื่อรองรับการมี ส.ส. 250 เขตเลือกตั้ง
“แม้ว่าจะมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งเพิ่มมาอีก 1 คณะ บนหลักการของการแบ่งอำนาจเพื่อถ่วงดุล เพื่อให้ผู้จัดแยกออกจากผู้ควบคุมผู้กำกับ ผู้ตรวจสอบ แต่ กกต. ยังคงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในเรื่องการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส ทั้งการตรวจสอบการกำหนด กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. รวมถึงการประกาศผล การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ การพิจารณาว่าผู้จัดการเลือกตั้งมีการกระทำอันไม่สุจริต ก็ยังสามารรถตั้งกรรมการสอบวินัย รายงานผู้บังคับบัญชาได้ รวมถึงการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์ (ใบแดง) ส่วนงบประมาณจัดการเลือกตั้งจะจัดสรรไปที่ กกต. เพราะในส่วน กจต. จะใช้งบประมาณในเรื่องเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ในช่วง 1 - 2 วันที่ทำงาน” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
โฆษกกรรมาธิการฯ ยังยืนยันว่า การกำหนดดังกล่าวไม่ได้ทำให้ กกต. มีอำนาจลดลง แต่ตรงกันข้ามจะมีอำนาจมากขึ้น เพราะสามารถควบคุมการจัดการเลือกตั้งของ กตจ. และเป็นผลดีที่ทำให้ กกต. พ้นจากข้อครหาในเรื่องการจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต เนื่องจากต่อไปบุคลากรของ กกต. ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งโดยตรง
เมื่อถามว่า หากการเลือกตั้งมีปัญหา กกต. ยังต้องรับผิดชอบหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กกต. ก็ยังคงต้องรับผิดชอบ ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง และเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งย้ายข้าราชการที่วางตัวไม่เป็นกลางในการจัดการเลือกตั้ง เมื่อถามย้ำว่า หากการเลือกตั้งตามกลไกใหม่เกิดปัญหาเหมือนกรณี 2 ก.พ. 57 แล้วมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่าง กกต. และ กจต. พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาอย่างกรณี 2 ก.พ. 57 จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะต่อไปจะมีการแยกระหว่างพระราชกฤษฎีกายุบภา กับ พระราชกฤษฎีกากำหดวันเลือกตั้งออกจากกัน โดยวันเลือกตั้ง กกต. จะเป็นผู้กำหนดวันและมีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งได้