xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯจัดกลไกเลือกตั้งใหม่ ให้รัฐสภาถอดนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27ม.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาต่อเนื่อง ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันผลประโยชน์ ส่วนที่ 3 การถอดถอนออกจากตำแหน่ง และการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นๆ ส่วนที่ 4 การดำเนินคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีการกำหนดเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว .ประธานศาลฏีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือ อัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือถูกพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อร้องให้ถูกถอดถอน ให้รัฐสภา อาจพิจารณามีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในกรณีให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตัดสิทธิ์ผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือในการรับราชการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นๆ เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รัฐสภามีมติ
ทั้งนี้ ให้ใช้สำหรับกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนจากหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้การถอดถอน เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา มาเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ส่วนประเด็นการถอดถอนที่หากรัฐสภามีมติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. แล้ว ให้นำรายชื่อบุคคลที่ถูกร้องขอให้ถอดถอน ไปให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไป และหากเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ มีมติให้ถอดถอน ให้ตัดสิทธิ์ผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่น เป็นเวลาสิบปี นับแต่วันออกเสียงลงคะแนนนั้น ทางกรรมาธิการได้แขวนการพิจารณาไว้ก่อน
ส่วนการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น กำหนดให้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการทางการเมือง ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามกฎหมายอื่น ยังคงให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งให้กรณีดังกล่าวใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวด้วย

** ปรับที่มา-อำนาจ หน้าที่ กกต.

จากนั้น ได้มีการพิจารณาในส่วนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเริ่มจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีการพิจารณาในส่วนของการสรรหา กกต. โดยกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหา ผู้สมควรเป็นกกต. จำนวน 2 คน และอีก 3 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบไปด้วย กรรมการรวม 12 คน ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ที่เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดอย่าง ละ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ที่เลือกโดยพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1 คน และเลือกโดยพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 1 คนที่เลือกโดย ครม. ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ที่เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และมติในการสรรหา ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็นกกต. ต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เมื่อได้รับการสรรหาแล้ว กกต. จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และเป็นได้เพียงวาระเดียว
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ กกต.นั้น มีการกำหนดให้มีอำนาจควบคุมการเลือกตั้ง ส.ส. และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งส.ว. ควบคุมการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม วางกฎระเบียบทั้งหลายอันจำเป็นต่อการปฏิบัติการในการควบคุมการเลือกตั้ง วางระเบียบที่เกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของรัฐ ความสุจริตเที่ยงธรรม เสมอภาคและโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง สามารถสั่งให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. ซึ่งหมายรวมถึงการสั่งให้มีการสอบวินัย หรือออกนอกพื้นที่หากพบว่า วางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง กำหนดมาตรการควบคุมการบริจาคเงินของพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง รวมถึงการจ่ายเงิน หรือรับเงินเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหา ข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง หรือเมื่อมีการกรณีการคัดค้าน หรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่าการเลือกตั้ง หรือการได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นไปไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่ง ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในหน่วยเลือกตั้งใด หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า การเลือกตั้งในหน่วยนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ส.ว. ผลการออกเสียงประชามติ และมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี เพื่อให้สั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้สมัครที่กระทำการใช้ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต

**แค่คุมเลือกตั้ง-แจกใบเหลือง

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การกำหนดหลักการดังกล่าว จะทำให้กกต. มีอำนาจในเรื่องของการควบคุมการเลือกตั้ง โดยในเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง กรรมาธิการฯได้กำหนดให้มี คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ประกอบด้วย ผู้ทรงวุฒิจำนวน 7 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผบ.ตร. โดยแต่งตั้งข้าราชการ ในแต่ละกระทรวง หรือสำนักงาน มาที่ละ 1 คน มาทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติ โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิ เลือกคนหนึ่งเป็นประธาน ส่วน ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จึงยังเป็นอำนาจ กกต.ในการดำเนินการ ซึ่ง กจต. จะมีคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามการแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง ในเรื่องอำนาจหน้าที่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง กจต. ในระดับจังหวัด ที่นอกจากจะมีข้าราชการในท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีเอกชนร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ที่จะมาจัดการเลือกตั้ง มีที่มาที่หลากหลาย โดย กจต.จังหวัด ก็จะไปตั้ง กจต.ระดับเขต เพื่อรองรับการมี ส.ส. 250 เขตเลือกตั้ง
"แม้ว่าจะมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งเพิ่มมาอีก 1 คณะ บนหลักการของการแบ่งอำนาจ เพื่อถ่วงดุล เพื่อให้ ผู้จัดแยกออกจากผู้ควบคุมผู้กำกับ ผู้ตรวจสอบ แต่ กกต. ยังคงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด ในเรื่องการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส ทั้งการตรวจสอบการกำหนด กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. สว. รวมถึงการประกาศผล การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ การพิจารณาว่า ผู้จัดการเลือกตั้งมี การกระทำอันไม่สุจริต ก็ยังสามารรถตั้งกรรมการสอบวินัย รายงานผู้บังคับบัญชาได้ รวมถึงการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์ (ใบแดง) ส่วนงบประมาณจัดการเลือกตั้ง จะจัดสรรไปที่กกต. เพราะในส่วน กจต. จะใช้งบประมาณ ในเรื่องเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ในช่วง 1-2 วัน ที่ทำงาน"
โฆษกกรรมาธิการฯ ยังยืนยันว่า การกำหนดดังกล่าวไม่ได้ทำให้ กกต.มีอำนาจลดลง แต่ตรงกันข้าม จะมีอำนาจมากขึ้น เพราะสามารถควบคุมการจัดการเลือกตั้ง ของ กตจ. และเป็นผลดีที่ทำให้ กกต. พ้นจากข้อครหาในเรื่องการจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต เนื่องจากต่อไปบุคลากรของ กกต. ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งโดยตรง
เมื่อถามว่า หากการเลือกตั้งมีปัญหา กกต.ยังต้องรับผิดชอบหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กกต. ก็ยังคงต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง และเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งย้ายข้าราชการ ที่วางตัวไม่เป็นกลางในการจัดการเลือกตั้ง เมื่อถามย้ำว่า หากการเลือกตั้งตามกลไกใหม่ เกิดปัญหาเหมือนกรณี 2 ก.พ. 57 แล้วมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่าง กกต. และ กจต. พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาอย่างกรณี 2 ก.พ. 57 จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะต่อไปจะมีการแยกระหว่าง พระราชกฤษฎีกายุบภา กับ พระราชกฤษฎีกากำหดวันเลือกตั้งออกจากกัน โดยวันเลือกตั้ง กกต. จะเป็นผู้กำหนดวัน และมีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น