ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุป เกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อแก้ปัญหาสำคัญคือ เรื่องทุจริตเลือกตั้ง
กมธ.ยกร่างได้ข้อสรุปว่า ยังคงให้มี กกต.จำนวน 5 คน โดย 2 คน มาจากการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ส่วนอีก 3 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน โดย 4 คนแรก มาจาก การคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด อย่างละ 2 คน 3 คนถัดมา มาจากการคัดเลือกของพรรคการเมือง โดยให้กลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล เลือกมา 1 คน กลุ่มการเมืองฝ่ายค้านเลือกมา 2 คน ที่เหลืออีก 5 คน ให้ ครม. เลือกมา 1 คน อธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาเลือกมา 2 คน และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เลือกมาอีก 2 คน
กรรมการผู้ทรงคณวุฒิทั้ง 12 คนนี้ จะลงมติเลือกผู้ที่เสนอตัวเข้ามาเป็นกกต. ซึ่งผู้ที่จะได้เป็นกกต.นั้นต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 8 คะแนน เมื่อได้รับการสรรหาแล้ว กกต.จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และเป็นได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ กกต.นั้น ให้มีอำนาจ "ควบคุม" การเลือกตั้ง ส.ส. และ ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ควบคุมการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม
วางกฎระเบียบทั้งหลายอันจำเป็นต่อการปฏิบัติการในการควบคุมการเลือกตั้ง วางระเบียบที่เกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของรัฐ ความสุจริตเที่ยงธรรม เสมอภาคและโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
สามารถสั่งให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. ซึ่งหมายรวมถึงการสั่งให้มีการสอบวินัย หรือ ออกนอกพื้นที่ หากพบว่ามีการวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง
กำหนดมาตรการควบคุมการบริจาคเงินของพรรคการเมือง และ กลุ่มการเมือง รวมถึงการจ่ายเงิน หรือรับเงินเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหา ข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง หรือเมื่อมีการกรณีการคัดค้าน หรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่า การเลือกตั้ง หรือการได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นไปไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใด หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า การเลือกตั้งในหน่วยนั้น ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต
ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ส.ว. ผลการออกเสียงประชามติ และมีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ หรือ ศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี เพื่อให้สั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้สมัครที่กระทำการใช้ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต
สำหรับเรื่องของ "การจัดการ" เลือกตั้งนั้น กมธ.ยกร่างได้กำหนดให้มี คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ประกอบด้วย ผู้ทรงวุฒิจำนวน 7 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยแต่งตั้งข้าราชการในแต่ละกระทรวง หรือ สำนักงาน มาที่ละ 1 คน มาทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติ ส่วน ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จึงยังเป็นอำนาจ กกต.ในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิในจำนวน 7 คนนี้ เลือกคนหนึ่งเป็นประธาน กจต. จากนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง กจต. ในระดับจังหวัด ที่นอกจากจะมีข้าราชการในท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีเอกชนร่วมอยู่ด้วยเพื่อความหลากหลาย แล้ว กจต.จังหวัด ก็จะไปตั้ง กจต.ระดับเขตเลือกตั้ง เพื่อรองรับการมีส.ส. 250 เขต
การที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มี กจต. มาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แทนกกต.ก็เพื่อให้มีการถ่วงดุล ตามหลักของการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างผู้จัดการเลือกตั้ง กับผู้ควบคุม กำกับและตรวจสอบ ซึ่งถือว่า กกต. ยังคงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด ในเรื่องการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส ทั้งการตรวจสอบ การกำหนด กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงการประกาศผล การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ การพิจารณาว่าผู้จัดการเลือกตั้งมี การกระทำอันไม่สุจริต ก็ยังสามารรถตั้งกรรมการสอบวินัย สั่งย้ายข้าราชการได้
ในกรณีที่พบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด มีการทุจริตถึงขั้นที่สมควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ให้ กกต.รวบรวมหลักฐาน จัดทำสำนวน ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์ (ใบแดง ) ของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้น
ส่วนงบประมาณจัดการเลือกตั้ง จะจัดสรรไปที่ กกต. เพราะในส่วนของ กจต. จะใช้งบประมาณในเรื่องเบี้ยเลี้ยง ให้กับเจ้าหน้าที่ในช่วง 1-2 วัน ที่ทำงาน จัดการเลือกตั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ได้มีการแยก พ.ร.ฎ.ยุบสภา ออกจาก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง โดยต่อไปนี้ กกต. จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง และมีอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งได้
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. โดยระบุว่า ระหว่างมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศให้มีการเลือกส.ว. หรือออกเสียงประชามติ ห้ามไม่ให้จับกุม คุมขัง หรือมีหมายเรียกตัวกกต.ไปทำการสอบสวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กกต. หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด ซึ่งในกรณีที่จับขณะกระทำความผิด หรือคุมขังกกต.ในกรณีอื่นๆ ให้รายงานไปยังประธานกกต.โดยด่วน โดยประธานกกต. อาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้ แต่ถ้าประธาน กกต. เป็นผู้ถูกจับกุม หรือถูกคุมขัง ให้เป็นอำนาจของ คณะกรรมการ กกต. เท่าที่มีอยู่ เป็นผู้ดำเนินการ
ในมุมมองของ กมธ.ยกร่างฯ เห็นว่า การแบ่งแยกอำนาจ หน้าที่ส่วนหนึ่ง ที่กกต.เคยมีมาก่อน ไปให้ กจต.นั้น มิได้ทำให้อำนาจของกกต.ลดลง แต่ตรงกันข้าม กลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นเสียอีก เพราะเป็นผู้ควบคุมการจัดการเลือกตั้ง ของ กตจ. อีกทั้งไม่ต้องแบกรับข้อครหาในเรื่องการจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต เพราะกกต.ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งโดยตรง และยังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง ในระหว่างที่มีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งอีกด้วย
แต่ในมุมมองของ กกต. เห็นว่า กกต.ถูกลดทั้งอำนาจ (กรณีแจกใบแดง) และ หน้าที่ (การจัดการเลือกตั้ง) และยังชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนในเรื่องความเป็นกลางของ กจต. ที่จะมาจัดการเลือกตั้ง ว่าจะหนีไม่พ้นการครอบงำจากฝ่ายการเมือง
เพราะ กจต. 7 คนนั้น มาจากการแต่งตั้งโดยปลัดฯ 6 กระทรวง และอีก 1 ผบ.ตร. แต่คนที่แต่งตั้งปลัด คือ รัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ กจต. จะเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง
และก็มีเสียงจาก ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ออกมาแล้วว่า ถ้ามีการปรับอำนาจ หน้าที่ของ กกต. ตามมติของกมธ.ยกร่างฯ แล้ว ทำให้กกต.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความคาดหวังของประชาชน ที่หวังจะเห็นการปฏิรูปการเลือกตั้งให้ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ก็พร้อมจะลาออก ไม่อยู่ให้เปลืองภาษีของประชาชน
ยึดอำนาจการแจกใบแดง พอรับได้ แต่ยึดเอาหน้าที่การจัดการเลือกตั้งไป กกต.ยอมไม่ได้ !!