xs
xsm
sm
md
lg

"องค์กรอิสระ"ยุคปฏิรูป ตัดนักการเมืองร่วมสรรหา-วาระ6ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง การร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของมาตราที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมว่า ในวันที่19 -21 ม.ค. จะมีการพิจารณาในส่วนกรอบกระบวนการยุติธรรม เรื่องหลักนิติธรรม และศาล จากนั้นต่อด้วยการพิจารณาตัวบทขององค์กรอิสระ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามที่กรรมาธิการได้เสนอมา ส่วนการปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลล ในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง รวมถึงกระบวนการคัดสรร ที่จะเขียนให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกภาคส่วนมากขึ้น และบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง จะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยจะใช้หลักเกณฑ์ และมาตรฐานเหมือนกันทุกองค์กร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก คงต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมาธิการอีกครั้ง
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ในบททั่วไปของศาลและกระบวนการยุติธรรม จะมีการเขียนระบุชัดเจนในส่วนของหลักนิติธรรม ซึ่งจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องหลักนิติธรรม ในมาตรา 3 ให้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 รวมถึงทุกองค์กร ต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เราจะระบุให้ชัดเจนในภาคสามเลยว่า อะไรคือ “หลักนิติธรรม”ส่วนอำนาจหน้าที่และการคัดสรรบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการปรับเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ให้สั้นกว่าจากเดิม ( 9 ปี) และเพิ่มจำนวนตุลาการเดิมมี 9 คน ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ จะมีการหารือกันอีกครั้ง ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในหลักการที่ตกลงกันไว้ อาจจะเพิ่มอำนาจเพื่อให้กำกับควบคุมการเลือกตั้งได้เต็มทิ่ แต่ในส่วนของผู้จัดการเลือกตั้ง อาจเป็นหน่วยงานอื่นเข้ามาทำแทน
ในวันเดียวกันนี้ ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ โคฟ เกาะช้าง จ.ตราด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้จัดเสวนาเรื่อง “ตอบโจทย์ : องค์กรตรวจสอบบนเส้นทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" มี นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายศรีราชา วงศารยางกูร ร่วมเสวนา
โดยนายพิเชต เห็นว่า องค์กรตรวจสอบ คือ ป.ป.ช. - คตง. - กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ- ผู้ตรวจการแผ่นดิน -กกต. ต้องอยู่ต่อไป แต่ก็ต้องแก้ไข เรื่องการสรรหา โดยขยายฐานคณะกรรมการสรรหาให้หลากหลาย และมีมากให้มีจำนวนมากกว่า 7 คน เพื่อกลั่นกรองให้ได้บุคคลที่เหมาะสม มีคุณภาพ ลดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระ ให้เหลือ 6 ปีทุกองค์กร และเป็นได้วาระเดียว แก้ไขกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน และที่สำคัญ ควรมีการกำหนดนิยามคำว่า “อิสระ”ให้ชัดเจน ว่าหมายถึงอะไร เพราะบางคนมองว่า หมายถึง ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ส่วนตัวเห็นว่า ควรให้หมายถึงการทำงานที่ปลอดจากการถูกอิทธิพลทางการเมืองครอบงำ
ส่วนในภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เห็นว่า ควรเพิ่มอำนาจให้ผู้ตรวจฯ เป็นยักษ์ที่มีกระบองเล็ก เช่น หากผู้ตรวจฯ มีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วภายใน 90 วัน หน่วยงานดังกล่าวไม่ดำเนินการ เพราะเพิกเฉย ให้ถือเป็นความผิดทางวินัย รวมทั้งควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหรือมีส่วนในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองต่อไป เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมีหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวทำ ซึ่งไม่เชื่อว่า สมัชชาคุณธรรมจริยธรรม ที่จะตั้งขึ้นเพียงหน่วยงานเดียวจะทำได้
ขณะที่ นายศรีราชา กล่าวว่า จริงอยู่ที่การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ โดย 7 อรหันต์ไม่เหมาะสม แต่จะเอาองค์กรอื่นเข้ามา จะต้องคิดให้แตกว่า จะก่อให้เกิดความดีงาม เป็นธรรมในการเลือกคนที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้จริงหรือไม่ และไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาเลย เพราะมันก็ทำให้เกิดการวิ่งเต้น แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพื่อให้ได้รับการคัดเลือก และเห็นควรกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการฯ ให้ชัดเจนว่าต้องไม่มีประวัติด่างพร้อย เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องสามารถให้คนคัดค้านได้
นายศรีราชา ยังกล่าวด้วยว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นอกจากทางผู้ตรวจจะเสนอขอให้มีอำนาจร้องต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน ในระหว่างที่ผู้ตรวจพิจารณาคำร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน แล้ว ยังเสนอว่า อยากให้ผู้ตรวจมีอำนาจฟ้องคดีแพ่ง หรือคดีอาญา แทนประชาชนได้ การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐทุกระดับ รวมทั้ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่สำคัญอยากให้กำหนดให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างแรง กลายเป็นคุณลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่การตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด เพื่อเพิ่มมาตรฐานกับสถาบันการเมือง
ด้านนายสุรชัย ก็เห็นด้วยที่จะกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระเพียง 6 ปี และเป็นได้วาระเดียว เพื่อให้การทำหน้าที่ไปอย่างอิสระ รวมทั้งไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหา เพราะเมื่อสร้างองค์กรอิสระมาตรวจสอบฝ่ายการเมือง ถ้าคนที่จะตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตรวจสอบ มันก็จะกลายเป็นเหมือน “ลิเกโรงใหญ่”ที่มาเล่นหลอกเขา มันก็จะไม่พัฒนาไปเป็นการถ่วงดุล และแบ่งแยกอำนาจอย่างสุจริต อย่างไรก็ตาม เห็นว่า องค์กรตรวจสอบจะเข้มแข็งได้ คิดว่าขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ 1. ต้องมีความเป็นอิสระแท้จริง 2 . บทบาทอำนาจหน้าที่ต้องสามารถดูแลผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริงได้ 3. ต้องติดดาบให้ลงโทษผู้ทำผิดได้ 4 . ผลงานองค์กรต้องเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เอียงไปมา หลายมาตรฐาน
ทั้งนี้ ใน 3 ปัจจัย สามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ในข้อสุดท้าย ขึ้นอยู่กับบุคคลกรขององค์กรนั้นๆ ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เห็นว่า เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้องค์กรอิสระใช้อำนาจตามอำเภอใจ ก่อความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นการป้องกันการเอื้อประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองกับกรรมการองค์กรอิสระ เห็นควรให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าชื่อถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระได้ และเสนอแก้ไขกฎหมายองค์กรอิสระได้
ส่วนในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต่อไปไม่เพียงจะกำหนดเฉพาะเรื่องจริยธรรมเท่านั้น แต่จะมีการรวมเรื่องคุณธรรมนักการเมือง เข้าไปไว้ด้วย ซึ่งยังเชื่อว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรที่เหมาะสมจะทำในเรื่องการตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป และเห็นด้วยกับที่นายศรีราชา เสนอว่า ควรกำหนดให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างแรง กลายเป็นคุณลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่การตำแหน่งทางการ เมืองตลอดไปเพื่อที่ได้เป็นยกระดับของนักการเมืองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น