ปธ.สนช. ออกคำสั่งนัดประชุม 15-16 ม.ค. เปิดให้ กมธ.ซักถามคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์-นิคม-สมศักดิ์” พร้อมพิจารณาด่วนร่างข้อบังคับประมวลจริยธรรม สนช.
วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้คำสั่งให้นัดประชุม สนช. ครั้งที่ 3/2558 ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม และครั้งที่ 4/2558 ในวันศุกร์ที่ 16 มกราคม โดยการประชุม สนช.ในวันที่ 15 มกราคม มีวาระที่สำคัญ คือ การดำเนินกระบวนการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว. และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส. ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2547 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
โดยจะเป็นการซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุมสภา สนช.กำหนดตามญัตติของสมาชิกสภา สนช. โดยคณะกรรมาธิการซักถาม ขณะที่การดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งฯ ซึ่งจะเป็นการซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำหนดตามญัตติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการซักถามเช่นเดียวกัน ได้กำหนดไว้ในประชุม สนช.วันที่ 16 มกราคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องด่วนที่สำคัญคือ การพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย หมวดจริยธรรม ซึ่งได้กำหนดเรื่องเกี่ยวกับอุดมคติของสมาชิกและกรรมาธิการ การปฏิบัติหน้าที่ จริยธรรมต่อประชาชน จริยธรรมในการดำรงตำแหน่ง และหมวดการส่งเสริมและควบคุมให้เป็นไปตามจริยรรม
โดยมีคณะกรรมการจริยธรรม สนช. เพื่อให้มีการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด โดยมีหน้าที่รับ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมจากสมาชิก ผู้ตรวจการแผ่นดิน บุคคลหรือหน่วยงาน กรณีที่มีการกล่าวหาว่าสมาชิก หรือกรรมาธิการกระทำผิดตามข้อบังคับ โดยให้รายงานผลการพิจารณาต่อสภาฯ หากสภาเห็นว่า มีหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเพื่อให้สภามีมติว่ากล่าวตักเตือน หรือตำหนิ หรือประณามให้เป็นที่ประจักษ์
และหากเป็นการฝ่าฝืนเกี่ยวกับจริยธรรมอย่างร้ายแรง และเมื่อสภามีมติแล้ว ให้ประธานสภาส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปในกรณที่มีคำร้องให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคำร้องแล้ว มติของสภาที่จะให้พ้นสมาชิกภาพจะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่