xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ตั้งคณะช่วยปมสอบใช้อำนาจรัฐ ชี้ไร้ปัญหา เพิ่มอำนาจศาลอุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยวันนี้พิจารณามาตราเดียว พร้อมถกกำหนดกลไกสอบประพฤติมิชอบ ไม่ให้กระทบสิทธิ ตั้งคณะทำงานช่วยยกร่างรายมาตราปมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เชื่อให้ศาลอุทธรณ์เริ่มพิจารณาคดีปกปิดทรัพย์สิน ไม่กระทบคดีที่ค้างศาลฎีกาฯ



วันนี้ (23 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 1 บททั่วไป ว่าวันนี้พิจารณาได้เพียงมาตราเดียวเรื่องการตรวจสอบอำนาจรัฐเกี่ยวกับหลักการตรวจสอบอำนาจรัฐว่าต้องทำโดยสุจริตเที่ยงธรรม ตรวจสอบได้ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

สำหรับมาตราอื่นมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ได้กำหนดไว้ว่าในรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกํากับและควบคุมให้การใช้อํานาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ ทำให้ที่ประชุมต้องมีการอภิปรายกันมากว่าการกำหนดกลไกดังกล่าวจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และทำอย่างไรจะเป็นการไม่ไปกระทบสิทธิของบุคคลภายนอก หรือเอกชน ที่รัฐธรรมนูญ 57 กำหนดให้ต้องถูกตรวจสอบด้วย ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการสรรหากรรมการขององค์กรตรวจสอบต่างๆ กรรมาธิการฯก็พยายามที่จะให้กระบวนการคัดสรรกรรมการองค์กรตรวจสอบเป็นอย่างกว้างขวาง มีตัวแทนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณาจึงมีการตั้งคณะทำงานจำนวน 4 คน ขึ้นเพื่อให้ประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาวางแนวทางในการยกร่างก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างพิจารณาต่อไปในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย นางกาญจนารัตน์ สิวิโรจน์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายเจษฏ์ โทณวณิก และนายพงษ์สวาท กายอรุณสิทธิ์

นายคำนูณกล่าวถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนแปลงขั้นตอนการพิจารณาคดีปกปิดทรัพย์สิน และแจ้งทรัพย์สินเท็จ ให้เริ่มที่ศาลอุทธรณ์ จากเดิมเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อคดีปกปิดทรัพย์สินที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลฎีกาฯ ทั้งนี้โดยหลักการแล้วเรื่องในกระบวนการเดิมค้างอยู่จะบัญญัติทางแก้ไว้ในบทเฉพาะกาลว่าไม่ให้ได้รับผลกระทบให้กิจการนั้นเสียไป เช่นเดียวกับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่มาของบุคลากรตามรัฐธรรมนูญโดยหลักการจะต้องคุ้มครองสิทธิของคนที่เข้ามาอย่างถูกต้อง ไม่ควรมีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ


กำลังโหลดความคิดเห็น