กมธ.ยกร่าง รธน.บัญญัตินิยาม “หลักนิติธรรม” เพิ่ม 5 ประเด็น ห้าม รธน. และกฎหมายใหม่ย้อนหลังโทษอาญา แต่เปิดช่องย่อนหลังโทษการเมือง “คำนูณ” ระบุบัญญัติตามกรอบ รธน.ชั่วคราว ม.35 แบนคนต้องคำพิพากษา โกง ทุจริตเลือกตั้ง เชื่อไม่ถูกต้านจากบางกลุ่ม
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในสัปดาห์ที่ 2 ว่า มีการพิจารณาภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 บททั่วไป ซึ่งวางแผนใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อยกร่างรายมาตราในส่วนนี้ ซึ่งมีการยกร่างโดยคงหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา แต่มีการบัญญัติเพิ่มเกี่ยวกับหลักนิติธรรม 5 ประเด็น คือ
1. ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และการเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยรัฐและประชาชน 2. การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค 3. การแบ่งแยกการใช้อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะ 4. นิติกระบวน ซึ่งอย่างน้อยต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญาแก่บุคคล ให้บุคคลมีสิทธิในการปกป้องตนเองเมื่อสิทธิหรือเสรีภาพถูกกระทบ ไม่บังคับให้บุคคลต้องให้ถ้อยคำซึ่งทำให้ต้องรับผิดทางอาญา ไม่ทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีอาญาในการกระทำความผิดเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง มีข้อกำหนดใช้สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด 5. ความเป็นอิสระจากศาลและความสุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดไม่ให้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญาแก่บุคคลหมายความว่า กรณีที่เป็นโทษทางการเมือง เช่น การตัดสิทธิทางการเมืองกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่มีผลย้อนหลังได้ใช่หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ถือเป็นการเปิดช่องไว้เพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (3) ที่กำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าการกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
“ผมเชื่อว่าการเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ย้อนหลังเป็นโทษทางการเมืองได้นั้น ก็เพื่อให้สอดรับกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 (3) ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าจะไม่เป็นประเด็นอ่อนไหวที่จะถูกต่อต้านจากกลุ่มบุคคลที่เสียประโยชน์ เพราะการยกร่างของกรรมาธิการฯ ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่เอาบุคคลมาเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองในกลุ่มบ้านเลขที่ 111 หรือบ้านเลขที่ 109 โดยจะเอาหลักการเป็นตัวตั้ง ที่สำคัญคือ หลักการตีความกฎหมายต้องตีความอย่างแคบเพราะเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งเมื่อถึงหมวดที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง”