xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เสร็จแล้ว 90 มาตรา เพิ่มสิทธิ ปชช.ประชามติแก้ รธน. ปูทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” เผยความคืบหน้ายกร่าง รธน.แล้วเสร็จ 90 มาตรา เพิ่มหลักการใหม่ ให้สิทธิ ปชช.ลงประชามติแก้ รธน. มีเสรีภาพต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตาม รธน. ให้องค์กรเอกชนที่ใช้เงินแผ่นดินเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เปิดทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ กระจายภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดบริการสาธารณะ


วันนี้ (16 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราจำนวนทั้งสิ้น 90 มาตราในบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ทั้งนี้การยกร่างรัฐธรรมนุญในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมือง ว่า มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญในอดีต คือ กำหนดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยการลงประชามติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการออกเสียงประชามติเนื่องจากเป็นเรื่องทีอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้พลเมืองย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้มาตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับในส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบที่มีการวางหลักการใหม่ คือ ให้องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรใดที่ดำเนินกิจกรรมโดยใช้เงินแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้พลเมืองได้ติดตามและตรวจสอบ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อประธานวุฒิสภา โดยการถอดถอนจะแบ่งอออกเป็นสองส่วนคือกรณีที่ยังไม่พ้นจากตำแหน่งเรียกว่า ถอดถอนจากตำแหน่ง แต่กรณีที่พ้นตำแหน่งไปแล้วเรียกว่า ตัดสิทธิทางการเมือง

ส่วนในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีการกำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและจัดภารกิจ อำนาจหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตตามความพร้อมของจังหวัดนั้นๆ

นอกจากนี้ยังกำหนดว่าการจัดทำบริการสาธารณะใดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ รัฐต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หรือ เอกชนดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมจากรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น