โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงระบบถอดถอนใหม่ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 (4)
ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (4) บัญญัติไว้ว่า “ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด” จึงเกิดคำถามว่าตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ในการลงมติโดยรัฐสภา ในระบบการถอดถอนตัดสิทธิ์แบบใหม่ ตามที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ จะขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดกรอบให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่นั้น
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า ช่องทางการดำเนินการเอาผิดต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีด้วยกันสองช่องทาง คือ ระบบการถอดถอนจากตำแหน่ง ตามมาตรา 270 และการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275
ทั้งนี้ ในส่วนของการถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรูปแบบของมาตรา 270 นั้น เป็นการถอดถอนโดยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกรรมาธิการยกร่างจะปรับลดสัดส่วนให้เป็นเสียงข้างมากของสมาชิกสองสภาร่วมกัน หากยังอยู่ในตำแหน่งก็จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่หากพ้นจากตำแหน่งแล้วเช่นลาออก ยุบสภา ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีอย่างเดียว และหากเสียงถอดถอนไม่เกินกึ่งหนึ่ง รายชื่อผู้ถูกยื่นให้ถอดถอนหรือตัดสิทธิดังกล่าวก็จะเข้าสู่ Impeachment List เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวดในคราวเลือกตั้งอีกครั้งว่าจะตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่
“ที่ต้องแยกเป็นการถอดถอนและการตัดสิทธิก็เพื่อเรียกชื่อแตกต่างกันให้ชัดเจนไปเลย เพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาคนใดมาตะแบงแกล้งไม่ฉลาดได้อีกว่าไม่มีตำแหน่งเหลือแล้วจะมาถอดถอนอีกได้อย่างไร” นายคำนูณกล่าว
นายคำนูญกล่าวอีกว่า มาตรา 35(4) ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จะเห็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะปรับแก้จากโทษที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ตัดสิทธิได้เพียง 5 ปี เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
“จะเห็นได้ว่าช่องทางทั้งสองระบบท้ายที่สุดก็จะมีกลไกที่นำไปสู่การตัดสิทธิตลอดชีวิตได้เหมือนกัน จึงไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 35 (4) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2557 ฉบับชั่วคราวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการจะขอรับข้อสังเกตว่า ในระบบการถอดถอนอาจมีนักการเมืองยอมให้เกิดการตัดสิทธิโดยรัฐบาลเพียง 5 ปี เพื่อหนีการถูกประชาชนโหวดตัดสิทธิตลอดชีวิตหรือไม่ ไปพิจารณาอีกที”