ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน.เผยของขวัญวันเด็ก เปิดร่างแรก รธน.ใหม่ คุ้มครองสิทธิครอบครัว รับสวัสดิการจากรัฐ-นายจ้าง ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ วางแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นร.เป็นศูนย์กลาง-ประเมินครูจากผลสัมฤทธิ์การสอน เปิด พิมพ์เขียว รธน. ให้รัฐสภาถอดถอน แบนการเมือง 5 ปี ไม่สำเร็จมีดาบสอง ให้ ปชช.ลงมติ เสียงถึงแบนตลอดชีพ ยันไม่ขัด รธน.ชั่วคราว หวังคู่ขัดแย้งร่วมปรองดอง
วันนี้ (9 ม.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ขอให้ของขวัญวันเด็กปี 2558 เพราะคนรุ่นตนเป็นอาทิตย์อัสดง มีแต่วันที่จะร่วงโรย แต่เด็กเป็นอาทิตย์อุทัยกำลังเบ่งบานส่องแสงสว่างเป็นอนาคตของบ้านเมืองและสังคมไทย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงตั้งอนุกรรมาธิการที่มีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธาน ไปรับฟังความเห็นเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อนำมายกร่างรัฐธรรมนูญ และดำเนินการเสร็จแล้วเป็นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพกำหนดให้ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพียงพอ มีมาตรฐานยังชีพที่เหมาะสม กำหนดให้มารดามีสิทธิได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ ได้รับสวัสดิการจากรัฐและนายจ้างก่อนและหลังให้กำเนิดบุตร จึงถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้รัฐต้องจัดส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ และพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา ปราชญ์ชาวบ้านให้มีศักยภาพเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างแท้จริง โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษาให้ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาของผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากเอกสารงานวิจัย
นายบวรศักดิ์เปิดเผยว่า จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในวันจันทร์ที่ 12 ม.ค.ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังได้แต่อาจมีการขออนุญาตประชุมเป็นการภายในในบางประเด็น ทั้งนี้จะมีการกำหนดแนวทางใหม่เกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเดิมถอดถอนโดยวุฒิสภา ต่อไปนี้อาจมีการถอดถอนโดยรัฐสภาคือ ส.ส.ร่วมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมเป็นผู้ถอดถอน แต่ถ้ารัฐสภาถอดถอนไม่ได้จะมีการขึ้นบัญชีรายชื่อไว้ให้ประชาชนลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ และจะแยกการถอดถอนเป็น 2 แบบ คือ
1. ถ้าดำรงตำแหน่ง เรียกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งและห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยรัฐสภาลงมติจะตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี 2. กรณีพ้นตำแหน่งไปแล้ว ให้รัฐสภาลงมติซึ่งจะมีผลห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี หากรัฐสภาถอดถอนได้ก็ถือว่าจบคนที่ถูกถอดถอนจะถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี โดยไม่มีการนำรายชื่อไปให้ประชาชนลงมติ แต่ถ้ารัฐสภาไม่ถอดถอน เมื่อมีการเลือกตั้งในครั้งถัดไปให้นำรายชื่อของบุคคลที่ไม่ถูกรัฐสภาถอดถอนไปให้ประชาชนลงมติ หากประชาชนลงมติถอดถอน จะมีผลให้บุคคลนั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
เมื่อถามว่าการกำหนดเรื่องถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จะขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดกรอบให้คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่เคยกำหนดแบบนั้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (4) บัญญัติไว้ว่า “กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด”
นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการนำเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อการปรองดองว่า กระบวนการทางกฎหมายต้องดำเนินไปโดยต้องสามารถใช้สำหรับทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกัน การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะกระทบการปรองดองหรือไม่ก็แล้วแต่จะมองเพราะถ้าดำเนินการโดยไม่มีอคติก็ไม่กระทบการปรองดอง แต่ถ้ามองว่าเป็นการดำเนินการทางการเมืองก็ถูกมองว่ากระทบกับการปรองดองได้
สำหรับประเด็นปรองดองนั้น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กำลังดำเนินการเพราะไม่ได้ทำแค่ในที่ประชุม เนื่องจากจำเป็นต้องมีการพุดคุยเป็นการภายในในส่วนของคู่ขัดแย้ง ซึ่งตนสนับสนุนให้นายเอนกที่ไม่เคยอยู่ฝ่ายใดเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ จึงหวังว่าคู่ขัดแย้งจะให้ความร่วมมือเพื่อให้สังคมไทยมีความหวังเดินหน้าต่อไป