xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯทางตรงเสร็จกลุ่มทุน นักการเมืองค้ายาตุนเงินสู้ศึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22ธ.ค.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จัดสัมมนาเรื่อง "จริยธรรมาภิบาลนักการเมืองกับการปฏิรูปประเทศไทย" โดยนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดการสัมมนา ว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง อันเนื่องมาจากการขาดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะความโปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรม ความซื่อสัตย์ กล้าตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องเป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
ปัจจุบันยังคงพบปัญหาเกี่ยวกับการขาดจริยธรรม และผลประโยชน์ทับซ้อน เห็นได้ชัดจากการทุจริตเลือกตั้ง การซื้อสิทธิ ขายเสียง ใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

**สังศิตชี้ปท.โชคร้ายต้องปฏิรูปทุกด้าน

จากนั้นนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต บรรยายพิเศษ เรื่อง"จริยธรรมาภิบาลนักการเมืองกับการปฏิรูปประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยโชคร้ายเหลือเกินที่ต้องตกมาอยู่ภาวะของการปฏิรูปประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา คอร์รัปชัน รวมทั้งยาเสพติด ในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ มากมาย เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในปี 2540 เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 โดยรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันนักการเมือง มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในปี 2549 และ กลุ่มกปปส.ในปี 2556-2557 และในช่วงปี 2549-2557 เกิดการต่อต้านรัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายนองเลือด ที่สำคัญมีทหารเข้ามายึดอำนาจถึง 2 ครั้ง
ขณะนี้กำลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยากให้กำลังใจแก่สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ในการแก้ไขปัญหาสำคัญ และความวุ่นวายต่างๆ เพื่อทำให้สังคมไทยเดินหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง

** วีรชน14ตุลาฯ ไม่ใช่ผู้ก่อวิกฤติ

วันก่อนมีผู้นำของการยกร่างฯ กล่าวต่อหน้านักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยพูดถึงสาเหตุของวิกฤติการเมืองไทยว่า มาจากกลุ่มผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งตนมองว่าความเห็นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ทั้งทางวิชาการ และความเป็นจริง เพราะการเมืองไทยตลอด 40 ปี ผู้นำนักศึกษาไม่ได้เป็นตัวแสดงสำคัญทางการเมือง แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญกลับเป็นนักการเมือง และพรรคการเมืองมากกว่า
ดังนั้น วิธีการมองของท่านผู้นำยกร่างรธน.ครั้งนี้ เป็นการมองที่เหตุการณ์จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น ตนไม่สามารถรับได้ เพราะการเมืองไทยต้องมองแบบกระบวนการภาพรวม กลุ่มคนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเพียงหนึ่งเจเนอเรชั่นเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายเจเนอเรชั่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพธม. กลุ่มนปช. และกลุ่มกปปส. คนเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแสดงทั้งนั้น
"กระบวนการสร้างประชาธิปไตย ควรให้เกียรติกับผู้ที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการกล่าวหา การโยนความผิดให้กับผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถือว่าเป็นการไม่เคารพต่อวีรชนที่เสียสละชีวิตเพื่อคนรุ่นหลังที่สืบทอดเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบเผด็จการ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่ออกมาตำหนิว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นต้นเหตุของปัญหาออกมากล่าวคำขอโทษต่อวิญญาณของวีรชน เพราะพวกเขาไม่ใช่จำเลย ไม่ใช่ฆาตกร หรือผู้ร้ายของประวัติศาสตร์ไทย แต่พวกเขาจะอยู่ในหัวใจของผู้รักชาติรักประชาธิปไตยตลอดไป" นายสังศิต กล่าว

**อย่าให้เลือกตั้งเหมือนการให้สัมปทาน

นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เรากำลังถกเถียงประเด็นที่ระบุว่า จะให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ส.ส.ไม่สามารถล้มสภาได้ และนายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาเองได้ หลักการคิดแบบนี้เพื่อต้องการให้รัฐบาล และสภา มีความเข้มแข็งแบ่งแยกหน้าที่กันเด็ดขาด แต่ตนมีข้อสังเกตว่า หลักการคิดแบบนี้เป็นการมองประชาธิปไตยแบบดั้งเดิม เป็นกรอบที่ให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคม และประชาชนน้อยเกินไป เนื่องจากประชาธิปไตยใหม่ควรต้องเอาภาคประชาสังคมขึ้นเป็นตัวแสดงสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่หากให้ประชาชนใช้อำนาจทางตรงเราก็ต้องระมัดระวังการแทรกแซงของนักธุรกิจการเมือง ที่จะมาครอบงำตัวนายกฯ และครม. ทางตรงได้เช่นกัน เพราะต่อไปนี้ กลุ่มนักธุรกิจการเมืองไม่ต้องจ่ายเงินผ่านตัวส.ส. หรือนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว
"การร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ต้องเพิ่มมาตรฐานของคนที่จะมาประกอบอาชีพนักการเมืองให้มากขึ้น ต้องมีหลักประกันคุณธรรม ความดี ความสุจริต ให้เป็นที่ประจักษ์มากกว่าคนธรรมดา ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น มีการแทรกแซงกลไกการเลือกตั้ง อย่าทำให้การเลือกตั้งเป็นการให้สัมปทานอำนาจรัฐ แก่ธุรกิจการเมือง ควรแก้ปัญหาการทุจริตให้ลดลง ต้องตัดอำนาจกึ่งตุลาการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งศาลเลือกตั้งทำหน้าที่แทน และให้กกต. ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการหาเสียงพรรคการเมืองต้องไม่ใช้นโยบายประชานิยมมาหาเสียงอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกัน การปฏิรูปประเทศไทย และการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้เราไม่ควรไปสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาล และสภาแบบเดิมมากเกินไป เพราะจะทำให้ล้มเหลว เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายในการได้นักการเมืองที่ดี ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการสร้างระบอบประชาธิปไตย ด้วยการให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น" นายสังศิต กล่าว

**ชี้สังคมไทยเข้าใจปชต.แต่เปลือก

ต่อมาได้มีการสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ยกระดับจริยธรรมการเมืองไทย" โดยนายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า 80 กว่าปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองไทยพัฒนาไปในทางลบมากกว่าบวก จะทำให้คนทุกคนเป็นคนดี เป็นเรื่องที่ทำยาก แต่จะทำอย่างไรให้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง นี่เป็นคำถามใหญ่ของสังคมไทย เป็นคำถามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยเฉพาะด้านการเมือง ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ การเมืองไทยดำดิ่งไปสู่ปัญหา ความเข้าใจของสังคมไทยในเรื่องประชาธิปไตยเข้าใจแต่เปลือก ถามว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่มี เพราะทุกวันนี้ทุกคนไม่ได้ทำด้วยความอยู่รอดของสังคม แต่ทำเพื่อความยิ่งใหญ่ของคนบางกลุ่ม บางตระกูลเท่านั้น
"ดังนั้น สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเดินไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง บอกได้เลยว่าคิดได้ เขียนได้ แต่ทำมันยาก สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนไทยขาดวัฒนธรรมทางการเมือง รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรที่ทำให้ประเทศไทยอยู่รอด แต่คนไทยกลับไม่เคยคิดที่จะทำ แล้วสังคมไทยในยุคต่อไปจะอยู่รอดได้อย่างไร"
นายศรีราชา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุไว้ว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ต้องรับผิดชอบอย่างไร โครงการรับจำนำข้าวที่สูญเสียเงินกว่า 6-7 แสนล้านบาท ก็ไม่มีใครบอกว่า ใครต้องรับผิดชอบ นี่คือจุดโหว่ของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้คนไม่กลัว คือปัจจัยใหญ่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเขียนให้ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะฉิบหายเหมือนเดิม
นอกจากนี้ ต้องเขียนเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ในกฎหมายเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อช่วยสกรีนอีกระดับหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ผู้สมัครต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ก่อนสมัคร ถ้าแจ้งบัญชีเท็จ ป.ป.ช.สามารถถอดถอนได้ และหากถูกถอดถอน ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเลือกตั้งเองทั้งหมด พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตรวมถึงคนในครอบครัวที่จะสามารถเป็นนอมินีด้วย เพื่อตัดวงจรไม่ดีออกจากระบบทันที เป็นต้น

** แฉมีนักการเมืองค้ายาฯตุนกระสุนสู้เลือกตั้ง

"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนนี้ แม้ขณะนี้จะไม่มีการเลือกตั้ง แต่สัญญาณเลือกตั้งจะกลับมาในอีกไม่ช้า กลุ่มคนเหล่านั้นจะกลับมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม เราต้องการจะเห็นประเทศชาติหลังจากมี คสช. แล้วกลับไปสู่จุดนั้นอีกหรือ ตอนนี้เป็นเวลาพักรบ เวลาเตรียมกระสุน เตรียมเสบียง ผมได้ยินข่าวว่า มีนักการเมืองค้ายาเสพติด เพื่อเตรียมกระสุนในการลงสู้ศึกเลือกตั้ง เป็นเงินเถื่อนที่ไม่สุจริต จึงไม่มีทางที่จะฟอกคนเหล่านี้ได้ ถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่ในระบบ หากจะโทษใคร ก็ต้องโทษสังคมไทย ที่เอื้อประโยชน์ให้คนเหล่านี้เข้ามาบริหารประเทศ นี่เรื่องจริง สามารถพูดได้ว่าเป็นใคร แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้" นายศรีราชา กล่าว
นายศรีราชา กล่าวว่า ข้าราชการต้องสร้างระบบที่ดี ทำอย่างไรให้เกิดระบบคานอำนาจ แต่ปัจจุบันไม่คานแล้ว ข้าราชการอยู่ภายใต้อำนาจนักการเมือง ซึ่งนานๆ จะมีคนแบบ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช.สักคน อย่างไรก็ตามคุณธรรม จริยธรรม 5 ประการ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย เสียสละเพื่อส่วนรวม พอเพียง และรักษ์สิ่งแวดล้อม คือพื้นฐานสำคัญในสังคมไทย เป็นการวางพื้นฐานให้มีนักการเมืองที่ดีเข้ามาบริหารประเทศ แม้อาจต้องใช้เวลา 20-30 ปีก็ตาม แต่สิ่งสำคัญสุด คือวันนี้ต้องสอนเด็กให้เป็นคนดีเสียก่อน สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ในบทเรียนทางการศึกษา เพื่อปูพื้นฐานให้เด็ก ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้ โอกาสจะไม่มีเลย แต่หากพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการศึกษา ถ้าการศึกษาดี คนจะดีตามเอง


**แนะใช้โซเชียลแซงชั่น ตรวจสอบ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สปช. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำมากๆ ในช่วงการปฏิรูปคือ จะทำอย่างไรให้โซเชียลแซงชั่นแข็งแรง ต้องมีเครื่องมือ ที่จะมาสนับสนุนเรื่องนี้ ในแง่นโยบายคงไม่พ้นการจัดองค์กรมาทำงานตรงนี้ กมธ.ยกร่างฯ ก็คิดประเด็นเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบบริหารราชการ ของสปช. ก็พูดเรื่องนี้เพื่อเติมเต็ม จุดที่เติมเต็มในเรื่องโซเชียลแซงชั่น พุ่งไปที่เรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาล คงไม่ใช่มาเอาผิดหรือตัดสินทางกฎหมาย แต่จะชี้ผิดชี้ถูกทางจริยธรรมเป็นหลัก แล้วส่งเรื่องให้องค์กรอิสระ เช่น สตง. ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อ โดยจะต้องตรวจสอบจริยธรรม ธรรมาภิบาลของบุคคลสาธารณะ องค์กรสาธารณะและหน่วยงานที่ทำธุรกิจกับหน่วยงานรัฐ ให้มีอำนาจไต่สวน สอบทาน การกระทำที่ผิดจริยธรรม ต้องทำข้อมูลบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ให้เป็นสาธารณะ หมายความว่า ทันทีที่ประกาศตัวลงสมัครจะถูกเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ มันจะมีพลังทางสังคมที่เกิดจากข้อมูลข่าวสาร ดูจากกรณีกรรมการ กสทช.เราไม่ได้ไปชี้ถูกชี้ผิด แต่การไปต่างประเทศแล้วใช้เงินเท่าไหร่ ถูกเอามาเปิดเผยโซเชียลแซงชั่นเกิดขึ้น ทำให้มีหน่วยงานมารับลูกไปเอง ตรงนี้จะเป็นจุดเติมเต็ม ดังนั้นเรื่องยกระดับคุณธรรม จริยธรรม ต้องใช้โซเชียลแซงชั่น ใช้ข้อมูลสาธารณะให้สาธารณะเข้าตรวจสอบจะเกิดพลังทางสังคมมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น