ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การออกมาชุมนุมของ “มวลมหาประชาชน” ภายใต้การนำของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ กปปส.ที่เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2556 และสิ้นสุดลงเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น นอกจากเป็นการชุมนุมที่สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในแง่จำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่มากกว่าครั้งใดๆ ในอดีตแล้ว ยังถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนผู้เข้าต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
หากนับจำนวนผู้สูญเสียตั้งแต่เกิดเหตุหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 จนถึงโศกนาฏกรรมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 25 คน เป็นผู้ร่วมชุมนุม 18 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้บาดเจ็บมีทั้งสิ้น 782 คน
ที่ต้องชุมนุมยือเยื้อจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บร่วมพันคน ก็เพราะได้มีการประกาศเป้าหมายการต่อสู้ตามที่ตั้งเจตนารมณ์เอาไว้อย่างแน่วแน่ว่า ต้องมีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รักษาการอยู่ในขณะนั้นพยายามจัดการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองขึ้นให้ได้
ในช่วงการชุมนุมใหญ่ของมวลมหาประชาชน ภายใต้การนำของพระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสนั้น พระสุเทพ เคยประกาศแนวทางการปฏิรูปประเทศบนเวทีกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 รวมแล้ว 7 ข้อ คือ
1.ปฏิรูปการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม โกงไม่ได้ และต้องไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาทำเรื่องชั่วๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงอำนาจของประชาชน
2.การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศเสียหายต้องขจัดออกไปให้ได้ ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าไม่มีอายุความ ไม่ว่าจะวันไหนหากยังไม่ตายก็ต้องติดคุก
3.การเคารพในอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.แบบระบุระยะเวลาได้ การปกครองของบ้านเมืองจะต้องถูกกระจายไปยังท้องถิ่น เช่น ทุกจังหวัดจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่การแต่งตั้งจากส่วนกลางซึ่งทำให้มีการทุจริตซื้อตำแหน่ง
4.ต้องปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการตำรวจจะต้องเป็นภาคประชาชนไม่ใช่ตำรวจด้วยกันเอง
5.ต้องออกแบบกฎหมายให้ข้าราชการเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่อยู่ใต้นักการเมือง
6.ปัญหาต่างๆ อย่างการศึกษา คมนาคม สาธารณสุข จะต้องนำเรื่องเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ และ
7.รัฐบาลต้องไม่รวบอำนาจผูกขาดธุรกิจเสียเอง ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนแข่งขันกับนานาประเทศได้
หลังจากนั้น ทุกๆ วันบนเวทีปราศรัย แกนนำ กปปส.แทบจะทุกคน เมื่อมีโอกาสจับไมโครโฟนขึ้นพูดบนเวที ก็ต้องพูดถึงการปฏิรูปประเทศ
วันที่ 3 ธันวาคม 2556 พระสุเทพประกาศอีกว่า มวลมหาประชาชนจะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย โดยจัดตั้งสภาประชาชน และรัฐบาลของประชาชนดำเนินการทั้งหมด โดยใช้เวลาที่รวดเร็วที่สุด หลังจากนั้นก็จะให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปตามวิถีทางประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์สมบูรณ์ โดยอาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะร่วมกันเลือกตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆ ประกอบกันเข้าเป็นสภาประชาชน สภาประชาชน จะเป็นทั้งสภาที่กำหนดแนวนโยบาย และทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ดูแลแก้ไขการตรากฎหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ตรากฎหมายต้านทุจริต ตรากฎหมายให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นต้น
นั่นคือหลักชัยของการชุมนุม ที่แกนนำ กปปส.ประกาศเอาไว้ว่าจะต้องไปถึงให้ได้ แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้นพยายามใช้วิชามารหลากหลายรูปแบบเข้าสลายการชุมนุมก็ตาม
หลังจาก คสช.ยึดอำนาจแล้ว แม้ กปปส.ได้ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวลงแล้ว แต่เมื่อ คสช.กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ขึ้นมาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กปปส.ก็ยังเป็นที่น่าจับตา นั่นเพราะ กปปส.เป็นหนึ่งในหลายๆ กลุ่มการเมืองที่ได้รับเชิญไปให้ข้อมูลข้อคิดเห็นและแนวทางการปฏิรูปที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ตัวแทน กปปส.อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายถาวร เสนเนียม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา
ข้อเสนอของ กปปส.เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ ตามที่นายเอกนัฏแถลงก่อนเข้าให้ความเห็นกับกรรมาธิการฯ และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังรับฟังความเห็นจากตัวแทน กปปส.นั้น สรุปได้ว่า หลักสำคัญต้องระบุว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการถ่วงดุลอำนาจสามฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ องค์กรอิสระ อย่างชัดเจน ขจัดการรวมศูนย์อำนาจที่หน่วยราชการ กระจายอำนาจไปสู่ประชาชน อีกทั้งต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติได้จริง
ด้านพรรคการเมือง ต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนไม่ใช่นายทุน โดยระบุให้ชัดว่าพรรคการเมืองต้องมีฐานสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของพรรค ให้เจ้าของพรรคสนับสนุนพรรคอย่างโปร่งใส คือกำหนดการบริจาคผ่านภาษีซึ่งในปัจจุบันที่ให้บริจาคปีละ 100 บาทไม่พอควรเปลี่ยนให้ไม่เกิน 5% ของสัดส่วนเงินที่เสียภาษีในแต่ละปี และสามารถบริจาคเป็นก้อนได้แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่จ่ายในแต่ละปี
ในเรื่องระบบการเลือกตั้ง จะต้องมีบทลงโทษคนที่ทุจริตเลือกตั้งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเสียง ให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และให้มีการถอนอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องการให้ใบเหลือง-แดงไปเป็นของศาลเฉพาะที่จะมีการจัดตั้งขึ้น ควรมีการยกเลิก ส.ส.ระบบัญชีรายชื่อเนื่องจากกลายเป็นช่องทางให้นายทุนใช้เงินเข้ามาครอบงำกิจการพรรคโดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ส่วนที่มาของ ส.ว.ควรมาจากการคัดสรรและทำงานในฐานะสภาพี่เลี้ยงกลั่นกรองกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาของ ส.ส.
สำหรับการกระจายอำนาจนั้น มีข้อเสนอให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจการบริหารไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด
ส่วนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เสนอให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเองได้ และให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตไม่มีอายุความ เพิ่มโทษผู้ถูกจับด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งให้ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจด้วยการลดการรวมศูนย์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระจายอำนาจไปสู่จังหวัดให้ประชาชนมีส่วนกำกับดูแลให้คุณให้โทษในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในพื้นที่ได้
นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนทุกระดับทั้งเรื่องการเข้าถึงที่ดินทำกิน สาธารณสุข การศึกษา และพลังงาน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแนวคิดการผูกขาดเพื่อแสวงหาผลกำไร
กำหนดให้พลังงานเป็นทรัพยากรของคนไทยต้องถูกบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติบนผลประโยชน์ของคนไทย ต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ธุรกิจพลังงานถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่จนมุ่งแต่แสวงหากำไร แต่ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานชุมชนเพิ่มมากขึ้น
เห็นได้ว่า ข้อเสนอที่เคยมีตั้งแต่ครั้งการชุมนุมนั้น ได้รับการสานต่อในบางส่วน อาทิ การขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่จะให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ
แต่ก็มีข้อเสนอใหม่ที่โผล่เข้ามา อาทิ การยกเลิก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ การลดอำนาจของ กกต.ในการให้ใบเหลือง-ใบแดง การให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคได้มากขึ้น เป็นต้น
นั่นก็สะท้อนว่า ฐานความคิดของแกนนำ กปปส.ยังยึดโยงอยู่กับระบบพรรคการเมือง ยังคิดว่าพรรคการเมืองเป็นคำตอบ ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้จึงไม่ค่อยจะแหลมคมนัก เสียงเรียกร้องที่เคยมีมาก่อนหน้าเรื่องการให้ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อปลดแอก ส.ส.จากนายทุนพรรค จึงไม่ถูกพูดถึง
นี่ก็แสดงว่า กปปส.กับพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นเนื้อเดียวกันอยู่
เรื่องนี้ แกนนำต้องตอบคำถามญาติผู้เสียชีวิต 25 คน และผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 1 พันคนให้ได้