กปปส.ชงข้อเสนอการปฏิรูป ชูยกเลิก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส.ว.มาจากการสรรหา ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างพรรคการเมือง บริจาคเงินให้พรรคได้ 5% ของรายได้ต่อปี ลดอำนาจ กกต.แจกเหลือง-แดง สกัดอัยการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตั้งฉายา “รธน.ฉบับปฏิรูป” เผย “อภิสิทธิ์" นัดให้ความเห็น 27 ก.พ. ส่วน พท.อาจมาเดือนหน้า ขณะที่ นปช.ขอสละสิทธิ์ ระบุหลังได้กรอบยกร่าง รธน.แล้ว ต้น ก.พ.เชิญทุกพรรคหารืออีกรอบ ยันกฎอัยการศึก ไม่เป็นอุปสรรค เดินหน้าจัดสานเสวนา 10 เวที
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังรับฟังความเห็นจากตัวแทน กปปส.ว่า ข้อเสนอของ กปปส. คือ 1. ให้ยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย 2. มีการแบ่งแยกอำนาจชัดเจน ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 3. มีระบบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน มีกระบวนการสรรหาคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง ไม่ให้มีนายทุนพรรคการเมือง 4. สนับสนุนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจส่วนกลางและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนดูแลกันเองได้ 5. ให้มีบทบัญญัติสร้างความเท่าเทียมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรรัฐทั้งเรื่องที่ดินและแหล่งทุนได้ 6. ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญต้องมีกรอบเวลาและการปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอครอบคลุมเรื่องการปฏิรูปการเมือง ที่เห็นว่าต้องเน้นการขจัดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การทุจริตเลือกตั้ง ส่วนของพรรคการเมืองควรมีขนาดใหญ่พอสมควรมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้มีสิทธิลงคะแนน กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคเพื่อให้พรรคการเมืองมีความมั่นคง และเพื่อเป็นการส่งเสริมพรรคการเมืองควรกำหนดให้ประชาชนสามารถบริจาคผ่านการเสียภาษีได้มากกว่าจำนวน 100 บาท โดยอาจเพิ่มตามสัดส่วนรายได้ของผู้บริจาค เช่นอาจเป็นร้อยละ 5 ของรายได้ในแต่ละปี สำหรับการเลือกตั้งมีการเสนอให้ภาคประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการจัดการเลือกตั้ง และให้กรรมการเลือกตั้งมาจากกระบวนการสรรหาที่กว้างขวางเป็นธรรม มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งแต่ไม่มีอำนาจในการตัดสิทธิผู้สมัครหรือการออกใบเหลือง-แดง โดยให้ กกต.เป็นแค่ผู้รวบรวมและฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น รวมถึงให้ผู้เสียหายในการเลือกตั้งมีสิทธิฟ้องตรงต่อศาลได้ด้วย
สำหรับที่มาของ ส.ส.นั้น กปปส.ขอให้ตัด ส.ส.บัญชีรายชื่อออกเหลือแต่ ส.ส.ที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วนจำนวนของ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งควรลดจำนวนลงโดยเพิ่มสัดส่วนประชากรต่อ ส.ส.1 คน และให้วุฒิสภามาจากการสรรหาเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และกระบวนการสรรหาต้องเป็นธรรม กว้างขวางกว่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2550 พร้อมกับลดอำนาจ ส.ว.ลงเหลือแค่หน้าที่นิติบัญญัติ การแต่งตั้ง ไม่มีอำนาจถอดถอนเพราะมาจากการสรรหา
ส่วนข้อเสนอ กปปส.เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น เห็นว่าต้องไม่จำกัดอายุความของคุดีทุจริต และให้ ป.ป.ช.ฟ้องตรงต่อศาลได้ ถ้าคดีถึงที่สุดแล้วก็ให้ยึดทรัพย์ที่ต้องสงสัยได้ รวมถึงการเพิ่มโทษผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น เพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจทาง กปปส.เสนอให้ยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแต่ไม่ได้กำหนว่าจะให้ทำเริ่มเป็นบางพื้นที่ หรือพร้อมกันทุกพื้นที่ และยัง เน้นการปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการกระจายอำนาจโดยรัฐต้องส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งปกครองตนเองได้ และให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งได้สองวาระ ไม่ใช่เป็นได้ตลอดชีวิต
ขณะเดียวกัน เห็นควรมีการปฏิรูปโครสร้างตำรวจโดยกระจายไปสู่ภูมิภาคแก้ปัญหาการใช้อิทธิพลภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ประชาชนตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ได้ ส่วนอัยการสูงสุด เห็นว่าไม่ควรเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและควรจำกัดไม่ให้อัยการไปดำรงตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินงานของอัยการเป็นไปด้วยความโปร่งใส การสั่งคดีต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนรับทราบถึงเหตุผลทุกคดี
ส่วนการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เสนอให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน ที่ดินได้ มีกฎหมายให้ประชาชนมีโอกาสมีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะต้องปฏิรูปการศึกษาให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องการปฏิรูปพลังงานจะต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ธุรกิจพลังงานถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่จนมุ่งแต่แสวงหากำไร แต่ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานชุมชนเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวด้วยว่า ในการประชุม กรรมาธิการ ได้ตอบคำถามของตัวแทน กปปส.เกี่ยวกับกฎหมายลูกที่มีปัญหาว่าไม่มีการออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า กรรมาธิการฯตระหนักถึงปัญหานี้จึงตั้งอนุกรรมาธิการฯพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อให้มีความพร้อมในการเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาได้รวดเร็วกว่าในอดีต และอาจมีบทบัญญัติบังคับว่าหน่วยงานใดที่ไม่เสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญกำหนดต้องมีบทลงโทษซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ กปปส.มีความประสงค์ที่จะติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดโดยมีการตั้งคณะทำงานติดตามจึงมีการสอบถามว่ากรรมาธิการฯจะอำนวยความสะดวกได้มากน้อยเพียงใด จึงมีแนวทางว่ากรรมาธิการฯยินดีให้สอบถามความคืบหน้าจากประธานอนุกรรมาธิการฯทั้ง 11 คณะได้โดยตรง และตนพร้อมรับข้อเสนอจาก กปปส.ประสานไปยังประธานอนุกรรมาธิการฯ
“กปปส.บอกว่า ตอนรัฐธรรมนูญ 40 เราเรียกกันว่ารัฐธรมนูญฉบับประชาชน ฉบับปี 50 ก็เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉับบใหม่นี้เขาเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป”
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมาธิการฯ มีการหารือหรือไม่ว่ากฎอัยการศึกเป็นอุปสรรคต่อการรับฟังความคิดเห็น โฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ก็มีการพูดกันแต่กรรมาธิการยกร่างฯเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นประชาชนก็ดำเนินการได้ จึงไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค ขณะนี้เตรียมไว้ 10 เวทีมีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นเวทีละ 100 คน สุ่มตัวอย่างด้วยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งก็จะได้ข้อมูลในเชิงสถิติว่ากลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร การดำเนินการในลักษณะสานเสวนาดังกล่าวเหมือนการทำประชาพิจารณ์ที่เป็นข้อมูลทางวิชาการที่สามารถใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กรรมาธิการยกร่างฯ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประสานงานว่าจะมาชี้แจงในนามส่วนตัวในวันที่ 27 พ.ย. ส่วนพรรคเพื่อไทยอยู่ในระหว่างการประสานงานโดยคาดว่าอาจมาให้ความเห็นได้ในช่วงเดือนธันวาคม แต่กลุ่ม นปช.สละสิทธิ์ที่จะมาให้ความเห็นกับกรรมาธิการแล้ว และขณะนี้จากกรรมาธิการได้ทยอยส่งหนังสือไปขอรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.อีก 20 พรรคการเมือง ก็ได้รับหนังสือตอบกลับมาแล้ว ซึ่งก็จะได้มีการรวบรวมความคิดเห็นและจัดทำเป็นกรอบการยกร่างที่ก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองในช่วงต้นเดือน ก.พ.อีกครั้งหนึ่ง