xs
xsm
sm
md
lg

ชง คสช.ปรับโครงสร้าง อปท.มุ่งเลือกตั้งผู้ว่าฯ จี้ กมธ.ยกร่างฯฟังปชช.-ทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ (แฟ้มภาพ)
สภาพัฒนาการเมือง เสนอ คสช.ปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเป้าปกครองตัวเองในอนาคต ถึงขั้นเลือกตั้งผู้ว่าฯ "ธีรภัทร" คาด 3 รูปแบบปฎิรูปการเมือง ประชาธิปไตยแบบเดิม เปลี่ยนแปลงนิดหน่อย ประชาธิปไตยครึ่งใบ และ ประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า "นายกฯ-ครม." มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นักการเมืองขี้ฉ้อ จะถูกลงโทษ เรียกร้องรับฟังความเห็นประชาชนให้มากที่สุด และควรทำประชามติ

นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง พร้อมสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ได้ร่วมแถลงข้อเสนอของสภาพัฒนาการเมืองต่อแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น(อปท.) โดยเห็นว่าการกระจายอำนาจเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศแต่ปัจจุบันท้องถิ่นยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงต้องใช้การกระจายอำนาจเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อผลักดันความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยแทนการดึงทรัพยากรมารวมศูนย์ ซึ่งผลการกระจายอำนาจในระยะยาวจะทำให้เกิดการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศในระดับที่ทัดเทียมกันจนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง

นายธีรภัทร กล่าวว่า ข้อเสนอในแนวทาง การปฏิรูปท้องถิ่นควรมีการจัดอันดับกลุ่มจังหวัดตามความระดับความพร้อมในการพัฒนาเป็น 3 ระดับคือ ตั้งแต่กลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาน้อย ปานกลาง และพัฒนาสูง เพื่อให้การดำเนินการกระจายอำนาจเป็นไปตามระดับความพร้อมของแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาน้อย รัฐต้องให้ความสำคัญสูงสุดในการทุ่มเทงบประมาณ และแผนการสร้างความเจริญเติบโต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยหรือข้าราชการที่ไม่สังกัดกระทรวงมหาดไทยไปกำกับดูแล มีการจัดทำแผนปรับโครงสร้าง อปท. ออกเป็น 3 ระยะ โดย 8 ปีแรกให้ดำรงโครงสร้าง อปท.ในกลุ่มจังหวัดนี้ไว้เช่นเดิม และทำแผนจัดตั้งสภาพลเมืองระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับจังหวัด ในระยะ 5 ปีต่อมาให้ อปท.ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลเมือง และเทศบาลชนบท และระยะ 2 ปีสุดท้าย ให้ อปท.ระดับจังหวัดปรับเปลี่ยนเป็นจังหวัดปกครองตนเอง และระดับต่ำกว่าจังหวัดคือเทศบาล

ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมระดับปานกลางให้มีการจัดทำแผนปรับรูปแบบและโครงสร้าง อปท.โดยแบ่งเป็น 3 ระยะเช่นกัน ระยะ 5 ปีแรกคงไว้ซึ่ง อปท.ส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด คือ อบจ. และอปท.ระดับต่ำกว่าจังหวัดคือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) และจัดทำแผนจัดตั้งสภาพลเมืองระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับจังหวัด ในระยะ 3 ปีต่อมาให้ อปท.ประกอบด้วย อบจ. เทศบาลเมือง เทศบาลชนบท โดยมีการยกฐาน อบต.เป็นเทศบาลชนบททั่วประเทศ และระยะ 2 ปีสุดท้ายให้ อปท.ระดับจังหวัดปรับเปลี่ยนเป็นจังหวัดปกครองตนเอง และระดับต่ำกว่า จังหวัดคือเทศบาล

ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาสูง ให้แปรสถานะราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดเป็น “สำนักงานข้าหลวงจังหวัด” มีฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาล ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางเทคนิคและวิชาการให้แก่ อปท. โดยข้าหลวงจังหวัดมาจากการสรรหาข้าราชการในส่วนกลางขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ยกฐานจังหวัดเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่เกิน 2 ปี

สำหรับโครงสร้างอำนาจและงบประมาณนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาจังหวัดจัดการตนเอง และฝ่ายบริหารคือผู้ว่าการจังหวัดจัดการตนเอง ใช้เขตจังหวัดจัดการตนเองเป็นเขตเลือกตั้ง และเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการปกครองตนเองของประชาชน ควรมีการจัดตั้งสภาพลเมือง ในระดับจังหวัดขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านในระยะต่อไป โดยสภาพลเมืองจะประกอบด้วยคนทุกกลุ่มอาชีพ และที่สำคัญจังหวัดจัดการตนเองมีอำนาจที่จะจัดเก็บภาษีที่ใช้ฐานร่วมระห่วงรัฐบาลกลางกับ อปท. โดยท้องถิ่นเก็บไว้ใช้เองไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 นำส่งส่วนกลางเป็นรายได้ของแผ่นดินไม่เกินร้อยละ 30 และหากมีความพร้อมสูงก็สามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดที่มีเขตพื้นที่พิเศษเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตวัฒนธรรมพิเศษ เขตท่องเที่ยวพิเศษ เขตพัฒนาการศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาการเกษตรพิเศษ ก็ให้มีการกำหนดพื้นที่เหล่านั้นเป็นรูปแบบการจัดการเขตพิเศษด้วยตนเอง และกรณีท้องถิ่นหรือจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หรือมีลักษณะวัฒนธรรมที่เป็นแบบเฉพาะของท้องถิ่น อาจมีการรวมพื้นที่ปกครองท้องถิ่นโดยรอบ หรือหลายจังหวัดรวมกันยกฐานเป็นมหานคร เช่นภูเก็ต อุบลราชธานี อุดรธานี เชียงใหม่ และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้น

ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเมืองจะได้มีการนำส่งข้อเสนอดังกล่าวให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในบ่ายวันนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป

นายธีรภัทร ยังกล่าวถึงผลการคัดเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถูกมองเป็นไปตามโผ ว่า เบื้องต้นคงยังไม่สามารถระบุได้ว่าแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปในทิศทางใด ต้องขอรอดูองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการเต็มคณะและรอฟังแนวความคิดหลักของกรรมาธิการว่าจะกำหนดรูปแบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าจะสอดคล้องกับสังคมไทยอย่างไร โดยดูจากหลักคิด กระบวนการได้มา ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ ควรรับฟังความเห็นจากคนทั้งประเทศและทางดีก็ควรจะทำประชามติ แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นช่องทางที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ

นายธีรภัทร กล่าวด้วยว่ารูปแบบที่จะนำไปสู่การปกครองที่จะมีการปรับเปลี่ยนนั้นเห็นว่ามีอยู่ 3 แบบ แต่ยังไม่รู้ว่ากรรมาธิการจะเลือกรูปแบบใด ซึ่ง 3 รูปแบบประกอบด้วย ประชาธิปไตยในลักษณะเดิม คือไม่มีการเปลี่ยนอะไรมาก เช่นยังคงระบบรัฐสภา แต่อาจปรับปรุงในเรื่องที่มาและจำนวนของ ส.ส. รูปแบบที่สอง ประชาธิปไตยแบบย้อนยุคหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่สภาฯ อาจมาจากทั้งการเลือกตั้งและแต่งตั้ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง และนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และรูปแบบที่ 3 ประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าที่จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนนักการเมืองที่ชอบทำผิดกฎหรือปฏิบัติในรูปแบบเดิม ก็อาจสร้างบนลงโทษจำกัดพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองนั้นเป็นรายบุคคลให้ชัดเจน ซึ่งในระบบนี้หากเป็นไปได้จะดีมากและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก แต่คงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้หากกรรมาธิการยกร่างฯ ไปเลือกแนวทางถอยหลังก็เป็นอันตรายต่อประเทศ

“แน่นอนว่ารายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาไม่ใช่องค์กรประกอบของคนทุกฝ่าย ผู้แทนของฝ่ายตรงข้ามเข้ามามีส่วนน้อย ซึ่งถ้าองค์ประกอบไม่หลากกลายความคิดก็จะกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือถ้ามีการกำหนดแนวทางของรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน มันก็อาจจะทำไปสู่การปฎิรูปประเทศที่ล้มเหลว เพราะเพียงแค่จะมารับฟังความคิดหรือประชาพิจารณ์ไม่เพียงพอ และยังไม่สะท้อนถึงการยอมรับ"


กำลังโหลดความคิดเห็น