xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาพระปกเกล้า ชูแผนกระจายอำนาจ ยุบอบต.รวมเทศบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 28 ต.ค.) สถาบันพระปกเกล้า จัดงานสัมมนา สู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย ครั้งที่ 5 หัวข้อ การปฏิรูปประเทศไทย : ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย เพื่อเป็นเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนความคิด และให้ข้อเสนอแนะต่อทิศทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการปกครองท้องถิ่น มีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน
นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดงานว่า การกระจายอำนาจ ถือเป็นแกนหลักของการพัฒนาประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเป็นการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่รากขึ้นมาโดยตรง ทำให้การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นกลไกสำคัญต่อการเรียนรู้รูปแบบประชาธิปไตย ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อสังคมไทยเข้าสู่ยุคการปฏิรูป การกระจายอำนาจท้องถิ่น จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงอย่างมาก ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบ อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การยุบหรือรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือ เครือข่าย และกลไกการเชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับภาคสังคม ก็เป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจ และมีความสำคัญต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยทั้งสิ้น
จากนั้น นายวุฒิสาร กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "หลักคิดกับการปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย" ตอนหนึ่งว่า เป้าหมายของการกระจายอำนาจคือ การนำอำนาจไปไว้ใกล้กับปัญหา ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีความหลากหลาย มีความเป็นอิสระ ต้องทำงานสอดคล้องกับท้องถิ่น ที่ผ่านมามักจะพูดว่า ท้องถิ่นมีปัญหา แต่ไม่ค่อยพูดสิ่งดีๆ ที่องค์กรท้องถิ่นทำดีไว้ ส่วนตัวคิดว่าท้องถิ่นต้องปฏิรูปตัวเอง โดยภายใน 1 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ขณะเดียวกัน 15 ปีที่ผ่านมานี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะองค์กรท้องถิ่น เป็นข้อต่อระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ส่วนสาเหตุที่ต้องปฏิรูป เพราะปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข และมีปัญหาใหม่เข้ามาตลอด
"ที่ผ่านมา มีการเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ประชาชนมีความพอใจในการทำงานของท้องถิ่นมากขึ้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทิศทางการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะออกมาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ยังคาดเดาไม่ได้ แต่การกระจายอำนาจต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นหลักสำคัญ เป็นการเมืองเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่การเมือง เพื่อการเมือง"
นายวุฒิสาร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ท้องถิ่นเกิดการทุจริตแล้วจึงเกิดแนวคิดในการปฏิรูปว่า ควรเลิกระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไป เพราะการทุจริตมีทุกที่ในทุกสังคม ซึ่งก็ต้องแก้ช่วยกันป้องกัน ขณะที่ปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนในพื้นที่นั้น จะแก้ไขด้วยการจัดอำนาจหน้าที่ใหม่ อย่างหลายประเทศมีท้องถิ่นหลายชั้น แต่จัดการได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคราวนี้ ควรทำให้ชัดเจน โดยท้องถิ่นต้องปฏิรูปตัวเอง และรู้จุดดี จุดด้อยของตัวเอง เช่น เปลี่ยนวิธีคิดโดยต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เปลี่ยนวิธีการทำงาน ให้สอดคล้องกับชีวิต และความต้องการของประชาชน โดยการปฏิรูปท้องถิ่นมีความท้าทายหลายอย่าง อาทิ การหารายได้ให้ท้องถิ่น เพราะถ้าท้องถิ่นไม่มีรายได้ ก็จะมีการพัฒนายาก เนื่องจากจะกลายเป็นปัญหาเรื่องการจัดงบประมาณให้ท้องถิ่นอีก การปฏิรูปต้องคิดว่า เอาอำนาจส่วนกลางไปไว้ในท้องที่ และทำงานร่วมกัน การที่จะทำให้ประชาชนศรัทธาท้องถิ่น ต้องปรับรูปแบบการทำงาน คิดว่าสิ่งที่สำคัญของการปฏิรูปท้องถิ่น คือ การเชื่อมั่นปรัชญาการกระจายอำนาจ ต้องเชื่อว่า การกระจายอำนาจ คือ การเอาอำนาจไปไว้ที่ประชาชน
จากนั้นได้มีการสัมมนาในหัวข้อ "ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป : ข้อเสนอการปฏิรูปท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย" โดย นายตระกูล มีชัย อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปกระจายอำนาจยุคนี้ ไม่ง่าย เพราะมีแรงต้านเพื่อรักษาฐานอำนาจหน้าที่ ขณะเดียวกันรัฐก็เน้นการรวมศูนย์ และวิตกกังวลสถานการณ์ความมั่นคง มากกว่าการกระจายอำนาจ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดการกระจายอำนาจ โดยดำเนินการแบบบูรณาการ คำนึงถึงขนาด ขีดความสามารถการเข้าถึงบริการสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงยกเลิกกฎระเบียบที่ทำให้องค์กรท้องถิ่นขาดอิสระ และแบ่งอำนาจ หน้าที่ของรัฐ กับท้องถิ่นให้ชัดเจน ต้องไม่ให้เป็นลักษณะการควบคุม สั่งการ แต่ต้องเป็นการร่วมมือทำงาน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนการกระจายอำนาจต้องเป็นเอกภาพ
นายโกวิทย์ พวงงาม อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่น มีศักยภาพและขีดความสามารถ เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศ ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นเขตปลอดทุจริต คอร์รัปชัน และปลอดการซื้อเสียง รวมทั้งต้องสร้างรากฐานประชาธิปไตย ควรมีการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล แล้วไปรวมกับเทศบาล ยกฐานะเทศบาลนคร ที่มีประชากรตั้งแต่ 3 แสนคนขึ้นไป ให้เป็นเทศบาลมหานคร พร้อมแก้ไขอำนาจหน้าที่และปรับโครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดสำหรับท้องถิ่นระดับล่างให้มีเพียงเทศบาลระบบเดียว
นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องถือว่า การกระจายอำนาจเป็นวาระสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ เพราะหากไม่สนับสนุนจริงจัง การกระจายอำนาจจะไม่ก้าวหน้า เห็นว่าต้องเริ่มจากการพิจารณาภารกิจที่จะถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นก่อนจึงปรับปรุงโครงสร้างให้เหมาะสมกับภารกิจโดยโครงสร้างต้องมีขนาดเหมาะสม และมีมาตรการป้องกันการทุจริต ซึ่งรัฐต้องไปเน้นกำกับดูแล ไม่ใช่การควบคุม
ขณะที่นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่นมีอยู่จริง แต่ถูกขยายความมากเกินไป อาทิ ความรุนแรง การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ การซื้อเสียง การเชื่อมต่อทางการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ และการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น
หากจะปฏิรูปการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องก้าวข้ามการถกเถียงเรื่องที่มา เพราะการเลือกตั้ง คือวิธีได้มาซึ่งตัวแทนประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วม และสามารถตรวจสอบได้มากที่สุด ที่ผ่านมาเราละเลยว่า ประเทศไทยเหมาะสมการเลือกตั้งในแบบใด นอกจากไปบริหารการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรมมากขึ้น จึงต้องมีการจัดการข้อพิพาท การคัดค้าน การนับคะแนน และการกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง คุณสมบัติให้ชัดเจน หรือสนับสนุนพรรคการเมืองท้องถิ่น กำหนดโควต้าให้ผู้หญิงสมัคร และปรับเขตเลือกตั้งเป็นเขตเดียวทั้งระดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น