xs
xsm
sm
md
lg

เขาจะปฏิรูปอะไร จะปฏิรูปอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่อวานนี้จะเป็นวันสุดท้ายสำหรับการรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ซึ่งก็ได้ สปช.เข้าสภาฯ เกือบครบ 250 คน กล่าวคือคนสุดท้ายท่านว่าติดภารกิจ จะมารายงานตัวในวันที่ 20

รายการนี้คงจะไม่มีเรื่องถอนตัว หรือขาดคุณสมบัติเหมือนกรณี สนช.บางท่าน นั่นเพราะทุกคนนั้นสมัครใจกันมา ผ่านการสมัครหรือเสนอชื่อผ่านองค์กรต่างๆ ส่วนเรื่องคุณสมบัตินั้น คุณสมบัติของ สปช.ค่อนข้างเปิดกว้างและอิสระกว่า อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีคณะกรรมการตรวจสอบคัดเลือกกันมาละเอียดเหมือนกรองด้วยกระชอนมาแล้วจากคนเป็นพันๆ ดังนั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร

หลังจากนี้ก็จะมีการประชุม สปช.เป็นครั้งแรก และจากนี้อีก 15 วัน จะต้องมีการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวน 36 คน โดยให้ สปช.เสนอได้ 20 คน สนช. ครม. และ คสช.อีกฝ่ายละ 5 คน เป็น 35 คน และให้ประธาน คสช.ตั้งประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 คน

โดยกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะเป็นคนนอก สปช. สนช.หรือแม้แต่เป็น คสช.ก็ยังได้ ต้องห้ามอย่างเดียวคือไม่เป็นผู้พิพากษา ตุลาการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในองค์กรอิสระ

ดังนั้น คนที่ได้ “ประกาศ” ชื่อไปแล้วให้เป็น สปช. สนช. หรือแม้แต่ คสช.สมทบ หรือแม้แต่ คสช.รุ่นก่อตั้ง ก็ยังสามารถไปนั่งควบในตำแหน่งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ ดังนั้น อย่างอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ (คสช.) อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (สปช.) อ.สมคิด เลิศไพทูรย์ (สนช.) ก็อาจจะมานั่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ว่าถ้าท่านครึ้มอกครึ้มใจ ท่านประยุทธ์เองจะมานั่งเป็นประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังได้

อันนี้ว่ากันตามตัวบทรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 32 เปิดช่องไว้

สปช.จะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็ด้วยกรอบนี้ คือการนำเสนอความเห็นในการปฏิรูปการเมือง ส่งให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญไปร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็น และจะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบเมื่อร่างเสร็จแล้ว

ถ้าเปรียบเทียบเป็นการสร้างบ้าน สปช.ก็เหมือนสถาปนิกออกแบบว่าจะให้บ้านเป็นอย่างไร ส่งไปให้วิศวกรสร้าง และมาตรวจงานว่าตรงตามแบบไหม

แต่กระนั้น “กรอบ” หรือ “โครงบ้าน” ของรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ถูกกำหนดไว้แล้วในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 10 อนุมาตรา กับอีกหนึ่งวรรค เป็นหลักการ 10 + 1

ขอนำมาลงไว้เพื่อการทบทวน เพราะไม่ใคร่มีใครกล่าวถึงกันสักเท่าไร หลักการสิบข้อนี้ได้แก่

1. การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

2. การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย

3. กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกํากับและควบคุมให้การใช้อํานาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

4. กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

5. กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงําหรือชี้นําโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6. กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ

7. กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

8. กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

9. กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทําลายหลักการสําคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้

10. กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสําคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป

และข้อที่เป็นเหมือนข้อ 11 หรือ +1 คือมาตรา 35 วรรคสอง ที่ทำให้องค์กรอิสระต่างๆ หนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน คือ “ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจําเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จําเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดําเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย” องค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ได้แก่ องค์กรที่ไม่ใช่ศาล เช่น กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ นี่ถือเป็นศาลไม่ใช่องค์กรอิสระ

ที่องค์กรอิสระหนาวๆ ร้อนๆ ก็เพราะองค์กรเหล่านี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีลักษณะประเภท “อะไรดีๆ เราก็เอาอย่างเขามา” แต่พอทำงานกันจริงๆ ก็มีประสิทธิภาพบ้าง ไม่มีประสิทธิภาพบ้าง หรือมีเงินเดือนมีรถประจำตำแหน่งมากมาย สุดท้ายเป็นเสือกระดาษ ทำอะไรไม่ได้นอกจากออกแถลงการณ์บ้างอะไรบ้างไปตามเรื่อง ผลของวรรคสองนี้เองที่จะทำให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะต้อง “ทบทวน” ว่าจะ “เก็บ” องค์กรไหนไว้ หรือยุบองค์กรไหนไป นี่แหละทำให้องค์กรที่มีหน้าที่มีผลงานทำได้แต่ออกแถลงการณ์หนาวๆ ร้อนๆ ว่าอาจจะโดนยุบได้ ดังนั้นต่อจากนี้ เราอาจจะได้เห็นองค์กรพวกนี้ลุกขึ้นมา “ส่งการบ้าน” กันบ่อยขึ้น

ส่วนกรอบของรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ข้อนั้นก็เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ ข้อที่น่าสนใจก็เช่น ข้อ 4 ที่ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาว่าทุจริตหรือโกงการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง “โดยเด็ดขาด” นั่นคือ ถ้าทุจริตหรือโกงการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ยุบพรรค หรือตัดสิทธิทางการเมืองชั่วคราวเท่านั้น แต่คราวนี้จะโดน “ทำหมัน” ถาวรกันเลยทีเดียว

ลองมาไล่ชื่อเรียงเบอร์ดู ก็จะเห็นว่า อดีตนายกฯ อดีต ส.ส. อดีต รมต.หลายคนไม่ได้ผุดได้เกิดแน่ๆ ตรงนี้นี่เองที่ทำให้พวกที่จะโดนถอดถอนจากคดีแก้รัฐธรรมนูญและจำนำข้าว ซึ่งรวมถึงอดีตนายกฯ ปูด้วย จะต้องดิ้นรนว่า อย่าให้ สนช.มีอำนาจถอดถอนได้ ไม่งั้นรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาไม่ได้ผุดได้เกิดแน่

ขอทายว่า “ศึกเยื้อถอดถอน” นี้จะเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องเดือดร้อนศาลรัฐธรรมนูญอีกแน่นอน เพราะมันไม่ใช่แค่ว่าจะถอดถอนจากตำแหน่งในอดีตที่พ้นไปแล้วอย่างที่พวกฝ่ายนักการเมืองเก่าพยายามสร้างวาทกรรมให้ว่า พ้นจากตำแหน่งแล้วจะถอดถอนอะไรกัน หรือพยายามสร้างภาพว่ากำลังถูกใส่ความหาเรื่องฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังจะมาเอาโทษตามรัฐธรรมนูญเก่ากันอีก

นั่นเพราะสิ่งที่จะต้องถอดถอนนั้น จะเป็นผลต่อไป “ในอนาคต” ดังนั้นเรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจถอดถอนของทั้ง สนช. และศาลรัฐธรรมนูญ จึงพึงต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบส่วนข้อสำคัญที่สุด ที่อาจจะเรียกว่าเป็นหัวใจของการปฏิรูปเลยก็ได้ คือ ข้อ 2 คือ การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทยนั้น เรียกว่าเป็นสาระสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปเลยก็ว่าได้

เราอาจจะชินกับรูปแบบการปกครองในแบบรัฐสภา ที่มีสภาฯ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง มี ส.ว.จากการแต่งตั้งบ้าง เลือกตั้งบ้าง และสภาฯ ก็จะเลือกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีตั้งคณะรัฐมนตรีให้สภาตรวจสอบ นี่คือรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งใช้กันมากว่า 80 ปีแล้ว ส่วนผลเป็นอย่างไรก็คงเห็นกัน

ขอให้สังเกตว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่า รูปแบบของ “ประชาธิปไตยไทย” จะเป็นอย่างไร นอกจากกำหนดล็อกไว้ข้อเดียวว่า “ต้อง” เป็น ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเงื่อนไขว่า ต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย

ดังนั้น เราก็อาจจะได้เห็นสภาผู้แทนราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาหรือวิธีการเลือกที่ไม่เหมือนเดิมก็ได้ หากมันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการเมืองของไทยได้อย่างเหมาะสมกับประเทศชาติ เพียงแต่จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่งเราจะต้องพิจารณา และติดตามกันต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น