xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปการเมือง เลือกนายกฯตรง-อ้อม-ตัดสิทธิ์ยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ารายงานตัวเป็นวันแรก ภายหลังจากมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสปช. จำนวน 250 คน ตั้งแต่วันที่ 8-15 ต.ค. เวลา 08.30-16.30 น. ปรากฏว่า พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นคนแรก ตั้งแต่เวลา 07.30 น. ส่วนสมาชิกสปช. อื่นๆ ที่ทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ นายอมร วาณิชวัฒน์ นายดุสิต เครืองาม นายนิรันดร์ พันทรกิจ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โดยทั้งวันมีผู้มารายงานตัวทั้งสิ้น 41 คน
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการสภาฯได้จัดเตรียมเอกสารแนวทางการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ให้กับสมาชิก และได้ทำการลงทะเบียนและถ่ายรูปติดบัตรสมาชิก สปช. ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารข้อมูล 11 ด้าน จัดทำโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัด กระทรวงกลาโหม ที่ได้ไปรับฟังปัญหา และรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน แล้วจัดทำขึ้นเพื่อให้สปช. ไปศึกษา และเตรียมความพร้อมการทำงาน โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

** ชงเลือกนายกฯโดยตรง-โดยอ้อม

การปฏิรูปด้านการเมือง มีการเสนอรูปแบบรัฐสภาใน 2 รูปแบบ คือ 1. รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ด้วยการเลือกนายกฯ จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา คราวเดียวกัน มีข้อดีคือ หัวหน้าฝ่ายบริหารมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับนายกฯ ที่จะกำหนดนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระจากรัฐสภา และการทำงานมีประสิทธิภาพ ขณะที่ข้อเสียคือ หาก ส.ส. หรือ ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้เป็นปัญหาต่อการประสานงาน และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนายกฯ ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2.รัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯรัฐมนตรีโดยอ้อม ถูกเสนอ 3 แบบ ได้แก่ แบบแรกสภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ตรา ปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น โดยรูปแบบนี้ อาจมีข้อจำกัดคือ หากตรากฎหมายบกพร่องอาจเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ส่วนพรรคการเมือง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่าย และปราศจากการครอบงำของทุน พรรคการเมืองต้องมีกระบวนการกลั่นกรองการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เน้นมีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การเสนอชื่อบุคคล หรือ คัดค้านบุคคลที่มีชื่อส่งแข่งขันเป็นต้น ต้องมีระเบียบห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส. เพื่อออกเสียงสนับสนุน หรือเข้าร่วมประชุม ส่วนนโยบายพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรมีบทบาทตรวจสอบนโยบายพรรคที่ไม่เป็นประชานิยมสร้างความเสียหาย รวมถึงผลกระทบกับประชาชน นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียง ต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศไว้
สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยมีหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้ง คือ ให้คนที่อาย 20 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายเพ่ง และพาณิชย์ ส่วนคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือ
1.ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถลงสมัครได้ง่าย เพิ่มความหลากหลายของผู้สมัครฯ แต่มีข้อจำกัดคือ ส.ส.ไม่มีวินัย มีการขายเสียง ควรมีอายุ 30 -70 ปี เพื่อให้ผู้สมัครมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม ส่วนระดับการศึกษาไม่มีข้อกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้าน มีสิทธิ์รับเลือก และที่สำคัญต้องให้มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธี Primary Vote จากประชาชนในพื้นที่ หรือต้องได้รับใบรับรองจากนายทะเบียน ว่ามีผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา โดยให้จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
ส่วนวิธีออกเสียงลงคะแนน ควรจะนำคะแนนโหวตโน มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด หากคะแนนโหวตโนมากกว่าให้เลือกตั้งใหม่ และยกเลิกการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย อีกทั้งควรให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมาก เกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าได้รับการเลือกตั้ง

**นายกฯไม่มีอำนาจยุบสภา

"นายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจประกาศยุบสภา ส่วนการถอดถอน ต้องทำโดยศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริตคอร์รัปชันที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยเฉพาะ และมีการออกกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการลงโทษนักการเมืองที่พฤติกรรมไม่เหมาะสม และให้คงอยู่บทลงโทษ ให้ยุบพรรคการเมืองโดยเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง และให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องนักการเมืองทุจริตได้โดยตรง"
ในส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ให้มาจากการเลือกตั้ง และสรรหา จากกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้ตัวแทนทุกกลุ่มอาชีพเข้ามาดูแลผลประโยชน์ โดยมีจำนวนเท่ากับ ส.ส.เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่เหมาะสม อีกทั้งกำหนดอายุผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระหว่าง 50 - 70 ปี ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคกรเมือง โดยต้องห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น ส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี ส่วนหน้าที่ ให้ทำเฉพาะกลั่นกรอง หรือ ยับยั้งร่างกฎหมายเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบและถอดถอน ส.ว. ใช้มาตรการเดียวกันกับ ส.ส.
นอกจากนี้ในส่วนของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี สามารถคัดเลือกนายกรัฐมนตรี 2 แนวทาง คือ จากการเลือกตั้ง โดยผ่านระบบบัญชีรายชื่อจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือเลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส.โหวตเลือกในสภา หรือจากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติ ส่วนมาตรการการตรวจสอบ และถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส.และส.ว.

** เสนอตั้งศาลเลือกตั้ง-ศาลทุจริต

นอกจากนี้ใน ด้านโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนด และกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความ และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีการปรับโครงสร้างในรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆ โดยแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ โดยมีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงาน ไม่มีอำนาจชี้ถูก ชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ควรมีการปรับโครงสร้างให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ ฝ่ายการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็นกกต. ขณะที่ กกต. จังหวัด ต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดหรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ โดยมีการหมุนเวียนผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดทุกๆ 3 ปี เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง และมีบทบาทจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนการวินิจฉัยความผิดให้เป็นหน้าที่ของศาล ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมีการปรับโครงสร้าง โดยเพิ่มสัดส่วน กรรมการสรรหา จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น ขณะที่ภาคประชาชน ควรมีโอกาสเข้าร่วมกับภาครัฐ ในด้านการตรวจสอบด้วย

**"นายกฯ"ย้ำรธน.ใหม่ต้องยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน้า คสช. กล่าวถึง พวกที่สมัครเข้ามา 7 พันกว่าคน แล้วไม่ได้เป็นสปช. ว่า ตนได้สั่งทีมกฎหมายไปดูว่า จะตั้งเป็น 2-3 คณะได้หรือไม่ ฉะนั้น 7 พันคน มีงานให้ทำหมด แต่จะให้เป็น สปช.ทั้ง 7 พันคน จะให้นั่งอย่างไร เพราะต้องมีเงินเดือนอะไรเยอะแยะไปหมด
"ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมต้องหารือร่วมกันในรัฐบาลว่า จะเอาใคร หลังจากที่ดูรายชื่อแล้ว คนที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำกฎหมายให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช้สร้างปัญหา ประเด็นอยู่ที่การสร้างความยอมรับ จะทำอย่างไร พวกเราต้องช่วยกันว่าจะสร้างประเทศให้เป็นอย่างไร หรือจะเปลี่ยนวิธีการใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย จะรับได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ จะลงแค่ไหนก็ว่ากันมา ทำอย่างไรจะเกิดความยั่งยืน แต่ทั้งหมดต้องฟังเสียงจากข้างนอกเข้าไป เมื่อเสร็จแล้วจะถามประชาชนด้วยการทำประชามติหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องดูว่า เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ อย่าเพิ่งถามดักหน้าดักหลัง เรื่องยังไม่เกิดต้องค่อยๆ ทำไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**"ชัยอนันต์"โยนที่ประชุมเลือกปธ.

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิก สปช. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเป็นแคนดิเดต ประธานสปช. ว่า ยังไม่ได้รับทราบชัดเจน รู้จากกระแสข่าวเท่านั้น และคิดว่าบุคคลอื่นอีกหลายคน มีความเหมาะสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมที่จะเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม คุณสมบัติผู้ที่จะเป็นประธาน ควรจะเป็นคนที่ให้โอกาศสมาชิกได้อย่างทั่วถึง
ส่วนแนวทางการปฏิรูปนั้น มองว่าเป็นงานที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยตนเองจะนำผลการศึกษาที่เคยทำงานร่วมกันในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่นำโดย นายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี มาปรับใช้ แม้ว่าจากงานปฏิรูปนั้น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยในระยะเวลาหนึ่งปีของสภาปฏิรูป ก็น่าจะสรุปประเด็นภาพรวมที่จะต้องแก้ไขปัญหาได้ โดยส่วนตัวสนใจในเรื่องการกระจายอำนาจ ความเหลี่อมล้ำ และการจัดระบบงบประมาณรายจ่าย ที่เคยนำเสนอและมีการศึกษาไว้ ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องทำประชามติหรือไม่ อย่างไร ก็ได้
ขณะที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่ สปช. ต้องเสนอชื่อนั้น ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า หากเปิดโอกาสให้เสนอคนนอกได้ ก็ควรจะมี หรือไม่อาจจะเสนอความเห็นในเวทีแสดงความเห็นของคณะกรรมาธิการ บนหลักการที่ สปช.ควรจะมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นที่สมาชิก สปช. จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือไม่ว่า ก็พร้อมยื่นตามกฎหมาย แต่ก็มองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมาทำหน้าที่เป็นผู้เสนอแนะแนวทางการปฏิรูปเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนได้เสีย

**"สังศิต"เสนอแก้นิยาม"คอร์รัปชัน"

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนจะเน้นการทำงานปฏิรูป ด้านการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน โดยปรับปรุงการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช) และข้าราชการประจำ อย่างบูรณาการ โดยจะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย แก้นิยามคำว่า "คอร์รัปชัน" ซึ่งในกฎหมายของไทย บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเงินอย่างเดียว ซึ่งแคบเกินไป ควรเปลี่ยนคำนิยมให้เหมือนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ครอบคลุมถึง การแต่งตั้งโยกย้าย ช่วยเหลือพรรคพวกเครือข่ายเดียวกัน หากรัฐบาลใช้อำนาจมิชอบ กลั่นแกล้งข้าราชการ ก็เข้าข่ายคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง เช่น กรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม สามารถเอาผิดคนเซ็นคำสั่ง ถึงขั้นติดคุกได้เลย ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ใช้กัน เพื่อทำให้ครอบคลุมการคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้น เช่น คนที่ถูกศาลวินิจฉัยว่าทุจริต ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งชีวิต รวมถึงสิทธิการเลือกตั้ง ถึงพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ทุน จะต้องถือว่ามีความผิดด้วย ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกมา จะต้องเปิดเผย โปร่งใส โดยเห็นว่า ควรจะนำจุดแข็งของรัฐธรรมนูญปี 40 เรื่องการมีองค์กรอิสระ และรัฐธรรมนูญปี 50 เรื่องการตรวจสอบที่เข้มแข็ง รวมถึงองค์กรอิสระ เช่น ดีเอสไอ หรือ ป.ป.ง. ควรจะมีกลไกลป้องกันไม่ให้การเมืองเข้าไปคุกคาม หรือควบคุมได้

**รธน.ใหม่แยกอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 กล่าวถึงรูปแบบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า น่าจะเป็นการปฏิรูปที่รอบด้าน โดยมุ่งแก้ไขปัญหาทางการเมือง และปัญหาของบ้านเมืองที่เคยมี ซึ่งหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นไปได้หมดทุกรูปแบบ แต่ส่วนตัวมีแนวคิดให้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่โดยไม่อยู่ภายใต้ภาวะปัญหาความขัดแย้ง กับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น นายกรัฐมนตรี อาจไม่มีอำนาจในการยุบสภาได้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีทำผิด ให้ใช้รูปแบบการถอดถอน ถ้าใครทำความผิดให้มีความผิดแต่ละบุคคล แต่ความคิดดังกล่าวยังไม่ตกผลึก ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การที่ขั้วขัดแย้งไม่ได้มีส่วนร่วมในสปช. อย่างเท่าเทียมกัน อาจทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อถึงเวลานี้ สปช. คงต้องทำให้ดีที่สุด และทำโดยเปิดเผย และรักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับ แม้จะไม่มีส่วนร่วมก็ตาม

** "ผาณิต"ผลักดันปฏิรูประบบราชการ

นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนทำงานราชการมากว่า 51 ปี จึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ ในการเสนอแนวทางการปฏิรูประบบราชการได้ เนื่องจากระบบราชการเป็นหัวใจสำคัญ เพราะประเทศจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับระบบราชการเป็นหลัก ส่วนที่กระแสสังคมกดดัน และคาดหวังการทำงานของสปช. ในการปฏิรูปประเทศนั้น ส่วนตัวมองว่า สปช. เป็นเพียงตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มีความรู้ความสามารถเหนือคนอื่น ดังนั้นทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพ ที่จะแสดงความคิดเห็นหรือเสนอความเห็นต่างๆได้ แต่ต้องเป็นข้อเสนอแนะที่นึกถึงภาพรวม และความเป็นไปได้ในการปฏิรูปประเทศด้วย
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตนเป็นเพียงหนึ่งเดียวขององค์กรอิสระ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเป็นสปช.นั้น จริงๆแล้วไม่อยากให้มองเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ประกอบกับกำลังจะพ้นจากตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย น่าจะเป็นข้อยกเว้นมากกว่า อย่าไปคิดว่า ต้องเป็นองค์กรนั้นองค์กรนี้ เพราะทุกคนทุกองค์กรก็สามารถเข้าสู่เวทีปฏิรูปได้ทั้งหมด ส่วนบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานสปช.นั้น มองว่าควรเป็นคนที่มีความเป็นกลาง สามารถกำกับดูแลการประชุมได้ แต่ยืนยันว่า ไม่มีใครอยู่ในใจ

** "ไพบูลย์"เสนอตัวเป็นกมธ.ยกร่างรธน.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศ จำเป็นต้องปฏิรูปการออกกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยตนจะผลักดันให้มีผลอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะออกเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีผลบังคับต่อทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งตนสนใจที่จะทำหน้าที่เป็น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญแห่งการปฏิรูปประเทศ ซึ่งตนยินดีที่จะถูกตัดสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองภายใน 2 ปี แต่ขอโอกาสให้มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะที่ผ่านมา ประชาชนเสียสละออก
มาต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ ถ้าตนไม่นั่งเข้าไปเป็น กมธ. ก็คงจะทำความฝันไม่เป็นจริง คิดว่าประชาชนทุกฝ่ายน่าจะพอใจ เพราะจะเป็นการปฏิรูปที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการตรวจสอบ ไม่ใช่ผ่านตัวแทนอย่างที่ผ่านมา และเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากสาระสำคัญมีประโยชน์ต่อประชาชน ก็จะสามารถใช้ได้ตลอดไป ส่วนเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เป็นเรื่องที่สมาชิก สปช. ทุกคนต้องทำ
ส่วนเรื่องประธาน สปช.นั้น ตนมองว่าเป็นดุลพินิจของ สปช. ว่าจะเลือกใคร แต่โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้ที่เหมาะสม แต่นายบวรศักดิ์ ได้พูดคุยกับตนว่า มองว่ามีหลายคนที่มีความอาวุโสกว่า มีความซื่อสัตย์สุจริต มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นที่ประจักษ์ในสังคม ตนจึงเห็นว่านายบวรศักดิ์ ไม่ขัดข้องที่จะเป็นรองประธาน สปช. ซึ่งตนขอคิดดูก่อนว่าใครจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะหน้าที่ประธานสปช.


**"ดุสิต"ดันกม.ด้านพลังงานทดแทน

นายดุสิต เครืองาม สมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนสมัครเป็น สปช. ด้านพลังงาน มีแนวคิดการปฏิรูปด้านพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ พลังลม เพื่อทดแทนพลังงานปิโตรเลียม ที่ใกล้หมดลง ซึ่งการส่งเสริมพลังงานทางเลือก มีแนวคิดจะผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาข้อติดขัดด้านการส่งเสริมการผลิตพลังงานทางเลือก รวมทั้งการใช้พลังงานทางเลือกในครัวเรือน เนื่องจากการไฟฟ้าไม่ส่งเสริมพลังงานทางเลือก ยืนยันว่า การออกกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่เกี่ยว ข้อง แต่จะเน้นลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หากติดตามข่าวด้านพลังงาน พบว่าการประมูล สัมปทาน หรือรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หนีไม่พ้นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ส่วนภาคธุรกิจสิ่งที่จะเข้ามาควบคุมได้ คือ มาตรการเข้มงวดการจัดซื้อจัดจ้าง
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การได้เป็นสปช. ไม่ได้เป็นเพราะพี่ให้ หรือเส้นสายความสัมพันธ์ส่วนตัวในฐานะน้องชายนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช. ยืนยันว่า การสมัครเพราะการคัดเลือก และลงมติ ของสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ที่มีตนเป็นนายกสมาคมฯ โดยก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้อยากสมัคร แต่เมื่อมีการลงมติ จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ตัวแทน และตนก็มีความรู้ความสามารถ คุณสมบัติที่เหมาะสม มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการันตี
กำลังโหลดความคิดเห็น