xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้ประโยชน์ขัดกันปฏิรูปไม่สำเร็จ นักการเมืองมีส่วนได้เสีย เมินร่วม สปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
หน.ปชป.เผยเหตุเมินส่งคนร่วม สปช. ยันหนุนปฏิรูปมาตลอด ที่ผ่านมาพรรคให้ความร่วมมือ แต่การไปนั่ง สนช.เป็นการไม่เหมาะ เปรียบนักการเมืองเป็นผู้เล่นไม่ควรอยู่ในฐานะผู้กำหนดกติกา เพราะมีส่วนได้เสีย และหากทุกพรรคส่งตัวแทนร่วม ก็ทำให้มีนักการเมืองมากไป ส่งบางพรรคก็ถูกครหา ชี้ปฏิรูปไม่สำเร็จหากประโยชน์ขัดกัน

วันนี้ (5 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลที่พรรคตัดสินใจไม่ส่งคนเข้าร่วมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งๆ ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปมาโดยตลอดว่า สืบเนื่องมาจากประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมือง สามารถนำเสนอชื่อบุคคลไม่เกิน 2 ชื่อ เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น (สปช.) เช่นเดียวกับนิติบุคคลอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคสนับสนุนการปฏิรูปมาโดยตลอด โดยในช่วงที่เป็นรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูป และในช่วงที่มีการชุมนุมของ กปปส. ตนก็ได้นำเสนอให้เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน โดยให้พรรคการเมืองและนักการเมืองทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะหรือให้ข้อมูล จนเมื่อมีการยึดอำนาจ และคสช.ได้ตั้งคณะทำงานด้านการปฏิรูป ตนก็ได้ไปให้ข้อมูลด้วยวาจาหลายชั่วโมง รวมทั้งได้มอบงานการศึกษาต่างๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ให้แก่คณะทำงานด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคพร้อมและได้ให้ความร่วมมือกับ คสช.เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปเป็น สปช.นั้น ตนเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสม เพราะอำนาจที่สำคัญที่สุดของ สปช.คือการพิจารณาและเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะเป็นกติกาสูงสุดทางการเมืองต่อไป โดยมีพรรคการเมืองในฐานะผู้เล่น ดังนั้น พรรคการเมืองตลอดจนผู้เล่นอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระ ไม่ควรจะอยู่ในฐานะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบหรือกำหนดกติกาต่างๆ ที่ตนเองจะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในภาวะที่เสียงเรียกร้องการปฏิรูปต้องการแก้ปัญหาการเมืองแบบขุดรากถอนโคน สืบเนื่องจากความผิดหวังต่อระบบการเมืองในอดีต มิฉะนั้นการเข้าไปใช้สิทธิในฐานะสภาปฏิรูปแห่งชาติก็จะมีลักษณะของการมีผลประโยชน์ขัดกัน เพราะจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดขอบเขตอำนาจและกติกาเกี่ยวกับตนเองต่อไปในอนาคต และการที่พรรคการเมืองทั้งหมดกว่า 70 พรรค มีสิทธิ์เสนอชื่อพรรคละ 2 ชื่อ จะสร้างความลำบากใจและความยุ่งยาก เพราะหาก คสช.สรรหาบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไปดำรงตำแหน่งสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกพรรค แม้เพียงพรรคละ 1 คนก็จะทำให้น้ำหนักของตัวแทนพรรคการเมืองในสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมากเกินไป เพราะในรัฐธรรมนูญเองต้องการให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบไปด้วยบุคคลจากภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และภาควิชาชีพเป็นหลัก และกรณีที่มีการสรรหาตัวแทนจากเพียงบางพรรค ก็ย่อมทำให้เกิดข้อครหาถึงความเป็นกลางได้อีก

“พรรคยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับการทำงานของ สปช.อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับการทำงานอย่างสร้างสรรค์ จึงอยากให้ คสช.และ สปช.ให้ความสำคัญกับหลักการการไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน เพราะหากสังคมไม่จริงจังในเรื่องนี้การปฏิรูปประเทศจะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ ที่ผ่านมาประเด็นนี้ถูกปล่อยปละละเลยจากหลายๆ ฝ่ายจนเป็นที่มาของวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา วันนี้ปัญหาการควบตำแหน่งของบุคคลที่เป็นข้าราชการพอเข้าใจได้ในภาวะไม่ปกติที่มีข้อจำกัด แต่หวังว่าการแต่งตั้ง ครม.และการกำหนดบทบาทของ สปช.หลังการปฏิรูปจะยึดถือหลักการการไม่มีผลประโยชน์ขัดกันอย่างเคร่งครัด แม้ว่าปัจจุบันจะมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 73 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดช่องไว้ก็ตาม” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น