หน.ปชป.นำลูกพรรคในนามสถาบันออกแบบประเทศ พบองค์การต้านคอร์รัปชัน ชี้แก้ กม.ดัดหลังโกง เหมาะทำช่วงมี คสช. พร้อมให้ข้อมูลหากต้องการ เร่งดัน สนช. หวังทุจริตไม่มีอายุความ แนะ คสช.โชว์ตัวอย่างโปร่งใสทำโครงการนำร่องตรวจสอบได้ พร้อมร่วมมือไม่เคลื่อนไหว แต่มีสิทธิ์จ้อที่ไม่ใช่เรื่องขัดแย้ง-มั่นคง เชื่อไม่มี ม.17 แบบยุคจอมพลสฤษดิ์
วันนี้ (8 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยตัวแทนสถาบันออกแบบประเทศไทย ประกอบด้วย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบัน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการสถาบัน เข้าพบองค์การต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและร่วมผลักดันมาตรการในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เคยมีการประสานงานกันหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ
โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีการทบทวนถึงสถานภาพล่าสุดเกี่ยวกับข้อเสนอว่าเป็นอย่างไร เช่นการแก้ไขกฎหมายไม่ให้การทุจริตมีอายุความ การปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรื่องการปราบปรามการทุจริต กฎหมายที่เป็นหลักประกันในการให้บริหารส่วนราชการเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาต คิดว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะมีการเสนอที่เป็นแผนกรอบเวลาชัดเจน อาจจะเป็นช่วงที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้กฎหมายมีความเป็นไปได้ที่จะผ่านมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการนำร่องเช่นการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลการมีส่วนร่วม หากสามารถทำเป็นโครงการนำร่องในช่วงนี้ได้ จะทำให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งทั้งองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นและสถาบันออกแบบประเทศไทยพร้อมที่จะให้ข้อมูลหาก คสช.ต้องการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปของ คสช.ก็เชิญเกือบทุกองค์กร แต่ขณะนี้กำลังจะมีบทบาทของ สนช. จึงเห็นว่ามีกฎหมายมากพอสมควรที่ต้องการให้มีการผลักดันเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต รวมทั้งที่จะช่วยให้ตางชาติมั่นใจต่อกฎหมายที่ไทยเป็นภาคีการต่อต้านคอรัปชั่นตามมาตรฐานขององค์กรสหประชาชาติ ที่ขณะนี้ค้างอยู่ใสกระทรวงยุติธรรมประมาณ 2-3 ฉบับ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกรณีที่ คสช.มีคำสั่งฉบับที่ 80/2557 ห้ามตนและนักการเมืองบางส่วนออกนอกประเทศและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ขณะนี้พรรคการเมืองให้ความร่วมมือที่จะไม่เคลื่อนไหวให้เกิดปัญหา แต่การแสดงความเห็นและติดตามประเด็นที่เป็นประโยชน์ประเทศชาติเป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้นการแสดงความเห็นจึงเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะหากแสดงความเห็นเพื่อให้การบริหารในระดับนโยบายเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ได้แสดงความเห็นเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือความไม่มั่นคง ส่วนการร่างธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับดุลอำนาจของ คสช.ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลนั้น โดยปกติก็จะคล้ายๆ กัน คือ รัฐบาลและ สนช.ทำหน้าที่เหมือนสภากับ ครม.ตามปกติ แต่ผู้ยึดอำนาจจะคงอำนาจบางอย่างไว้เพื่อให้ทิศทางโดยรวมสามารถบริหารจัดการได้ เชื่อว่าคงไม่มีอะไรต่างจากนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดถึงมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่ามีความจำเป็นที่ต้องบรรจุไว้ในธรรมนูญนี้ คิดว่ามีความจำเป็นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่ามาตราที่ให้อำนาจมากขนาดนั้นคงไม่น่าจะมี แต่ก็ต้องรอดูก่อนเพราะสถาน์การณ์ในขณะนี้ก็ไม่มีปัญหารุนแรงเรื่องความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความไม่มั่นคง คสช.ต้องวางน้ำหนักให้พอดีเพราะการจำกัดสิทธิเสรีภาพสร้างความอึดอัดได้ ต้องระวัง และการจำกัดการเคลื่อนไหวนักการเมืองนั้นคงพูดโดยรวมไม่ได้ เพราะมีบางคนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบ แต่ยังมีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวอีกมากที่ต้องการให้ประเทศชาติดีกว่านี้ตามแนวทางการปฏิรูป จึงเหมารวมไม่ได้