xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.หวังคสช.ปฏิรูป9ด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามที่ คสช.ได้มีแนวทางการปฏิรูปทั้ง 9 ด้าน ซึ่งครอบคลุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาเพื่อที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่จะทำให้งานปฏิรูปสำเร็จลุล่วงสมดังจุดมุ่งหมายของ คสช.ที่กำหนดไว้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,218 คน ระหว่างวันที่ 18-28 มิ.ย.57 สรุปผลได้ ดังนี้
ประชาชนคิดว่า คสช. จะปฏิรูปสิ่งต่อไปนี้อย่างไร? จึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม
1. แนวทางการปฏิรูปการเมือง ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 จะต้องปฏิรูปการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใส เป็นระบบ พรรคการเมืองควรคัดเลือกผู้สมัคร ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด 88.86% อันดับ 2 มีมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบ บทลงโทษต้องเด็ดขาด เช่น ยึดทรัพย์ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดยติดตามและจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอย่างจริงจัง 82.18% อันดับ 3 สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ระบอบประชาธิปไตย สิทธิบทบาทหน้าที่ และการปฏิบัติตนตามกฎระเบียบต่างๆ 80.54% อันดับ 4 ทำลายการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่า เปิดโอกาสให้นักการเมือง รุ่นใหม่เข้ามา ทำงาน 64.95%
2. แนวทางการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 ผู้บริหารต้องมีจิตสำนึก ดำรงตนอยู่ในความดี ซื่อสัตย์ สุจริต 93.67% อันดับ 2 กำหนดวิธีการคัดเลือกและคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งบริหาร เช่น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ ได้รับการ ยอมรับจากสังคม ประวัติดี มีภาวะผู้นำ 82.77% อันดับ 3 คำนึงถึงส่วนรวม ไม่ใช้ระบบเส้นสาย ไม่ให้กลุ่ม
ใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป มีการถ่วงดุลอำนาจ 82.53% อันดับ 4 เปิดโอกาสให้ประชาชนและทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการสรรหา ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารประเทศ เมื่อพบการกระทำผิดต้องมีกฎหมายและบทลงโทษที่รุนแรง71.51%
3. แนวทางการปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน ไม่ให้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง89.68% อันดับ 2พัฒนาองค์กรให้เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับ มีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะคดีที่สังคมให้ความสนใจ 83.70% อันดับ 3 บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษอย่างจริงจัง 81.12% อันดับ 4 พิจารณาปรับแก้กฎหมาย ป้องกันไม่ให้มีผู้อาศัยช่องโหว่กระทำผิดและทันสมัยอยู่เสมอ 66.70%
4. แนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 ยึดแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้อง เป็นธรรม 92.61% อันดับ 2 มีกระบวนการติดตามตรวจสอบที่เคร่งครัด ตรงไปตรงมา ทั้งในด้านการบริหารงาน งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการตรวจสอบทรัพย์สินข้าราชการ 83.35% อันดับ 3 ปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้โปร่งใส ปราศจากการวิ่งเต้น เส้นสาย 81.94% อันดับ 4 ควรมีการบริหารราชการแบบกระจายอำนาจทุกภาคส่วน กำหนดโครงสร้างหน่วยงานที่ชัดเจน เหมาะสมเป็นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว 66.35%
5. แนวทางการปฏิรูปการศึกษา ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 สร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจน 87.81% อันดับ 2 กระทรวงศึกษาธิการต้องมีนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจน ต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย พัฒนาระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐาน และพร้อมเข้าสู่อาเซียน 84.86% อันดับ 3 ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน จะต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจน ตรงกัน ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้า 81.83% อันดับ 4 ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กได้มีส่วนร่วม รู้จักคิดวิเคราะห์ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 70.34%
6. แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าสาธารณูปโภคให้เหมาะสม 92.97% อันดับ 2 ส่งเสริมการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและประชาชน 85.70% อันดับ 3 รณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต 79.60% อันดับ 4 พัฒนาการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประเทศให้เข้มแข็ง ดูแลเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 69.05%
7. แนวทางการปฏิรูปด้านข่าวสาร ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 สื่อมวลชนจะต้องรักษาจรรยาบรรณของสื่อที่ดี เป็นกลาง ไม่เอนเอียง86.75% อันดับ 2 ควรมีหน่วยงานเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆที่สร้างความขัดแย้ง แตกแยก หรือไม่เหมาะสม 81.71% อันดับ 3 พูดคุย ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐกับสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อได้ทำงานอย่างเต็มที่เป็นอิสระ 81.36% อันดับ 4 ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับสื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลบิดเบือน ยั่วยุ เกินจริง หรือสร้างกระแสปลุกปั่นในสังคม 67.29%
8. แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกอาชีพ สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรจะได้รับ กระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม 92.50% อันดับ 2 ประชาชนควรนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รู้จักพึ่งตนเองไม่รอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือนโยบายประชานิยมเพียงอย่างเดียว 83.24% อันดับ 3 จะต้องสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับผู้นำ นักการเมือง และข้าราชการ 82.06% อันดับ 4 กฎหมายจะต้องเป็นธรรม ใช้ได้สำหรับทุกกลุ่ม ไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 65.65%
9. แนวทางการปฏิรูปการทุจริตคอรัปชั่น ควรทำดังนี้ คือ อันดับ 1 ควรมีการดำเนินคดี ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด บทลงโทษต้องรุนแรง ทำให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง กำหนดระยะเวลาของอายุความให้เหมาะสม 91.56% อันดับ 2 บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่เลือกปฏิบัติ 84.17% อันดับ 3ปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก ค่านิยมของคนในชาติ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม 80.66% อันดับ 4 มีการแต่งตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ 65.06%
**หวังคสช.แก้คอร์รัปชัน-ลดราคาก๊าซ/น้ำมัน
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับความคาดหวังในการปฏิรูปประเทศไทยของ คสช. โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในจังหวัดสงขลา จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 มิ.ย. 2557 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มากที่สุด (ร้อยละ 77.63) รองลงมา คือ คุณอานันท์ ปันยารชุน (ร้อยละ 10.51) และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (ร้อยละ 6.74) ตามลำดับ
โดยที่ประชาชนคาดหวังให้มีการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในการปฏิรูปประเทศไทย มากที่สุด (ร้อยละ 56.25) รองลงมา คือ ปฏิรูปนักการเมือง (ร้อยละ 48.00) ปฏิรูปการศึกษา (ร้อยละ 32.75) ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ร้อยละ 30.25) ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ (ร้อยละ 25.75) และปฏิรูปหนี้สิน และความยากจนของเกษตรกร (ร้อยละ 17.75) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามประเด็นย่อยในการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ซื้อเสียง มากที่สุด (ร้อยละ 96.68) รองลงมา คือการกำหนดให้มีบทลงโทษในการคอร์รัปชันที่รุนแรง (ร้อยละ 96.16) การมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดสำหรับผู้ซื้อสิทธิขายเสียง (ร้อยละ 94.62) การสร้างโอกาสในการศึกษาของเยาวชนอย่างเท่าเทียม (ร้อยละ 94.04) การให้สิทธิประชาชนในการฟ้องคดีทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 93.09) และการลงทุนระบบชลประทานเพื่อให้ทุกชุมชนเข้าถึงแหล่งน้ำ (ร้อยละ 91.19) ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังให้ คสช. คืนความสุขให้คนไทยเกี่ยวกับการลดราคาก๊าซและน้ำมันอย่างเป็นธรรมมากที่สุด (ร้อยละ 78.75) รองลงมา คือ แก้ปัญหาค่าครองชีพแพง (ร้อยละ 74.50) และลดราคาค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 54.50) ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การขึ้นราคาพลังงาน และราคาค่าไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพในระดับมาก (ร้อยละ 72.87) นอกจากนี้ประชาชนเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน (ร้อยละ 49.60) รองลงมา เป็นปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม (ร้อยละ 34.67) และอัตราการเก็บภาษีต่างๆ (ร้อยละ 15.73 )
กำลังโหลดความคิดเห็น