xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สมศ.ทบทวนตัวเอง ปล่อยสถานศึกษาผ่านประเมิน แต่คุณภาพต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต กก. ปฏิรูป จี้ สมศ. ทบทวนตัวเองทั้งเครื่องมือและตัวผู้ประเมิน เหตุผลประเมินมีสถานศึกษาผ่านหลายแห่งแต่คุณภาพการศึกษากลับตกต่ำ ด้าน “รุ่ง” ยันการประเมินควรต้องมี แนะแทนจะเสนอ คสช. ปรับลดบทบาทน่าจะถือโอกาสปฏิรูปปรับระบบประเมินให้เข้มแข็ง ขณะที่ ผอ.สมศ. ยันต้องมี สมศ. ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพเตรียมพบ คสช. 4 ส.ค. นี้

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล สำนักงานงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จัดประชุมเสวนา เรื่อง การประกันคุณภาพ : หัวของการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรวงคุณวุฒิ วงการศึกษาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประมาณ 50 คน โดย ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า เข้าใจว่าการที่เครือข่ายอุดมศึกษา ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะอยู่ในยุคที่มีความหวังว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้นได้ แต่การจะปรับเปลี่ยนอะไรนั้นต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน และต้องดูด้วย สมศ. ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพมหาวิทยาลัยได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีอิสระ เสรีภาพ ในการบริหารจัดการค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานถ่วงดุลและตรวจสอบคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ตนจะเข้าพบ คสช. เพื่อชี้แจงบทบาทการทำงานของ สมศ. รวมถึงตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ด้วย

ด้าน ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จุดเด่นของการก่อตั้ง สมศ. เพื่อให้ทำงานได้อย่างอิสระและต่อเนื่อง เพราะเป็นองค์การมหาชน ตรงข้ามกับ ศธ. ที่คนในจะต้องระวังตัวว่าจะโดนย้ายหรือไม่ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ การต่อต้านประเมินนั้น มีแต่เริ่มก่อตั้งและมีมาตลอดไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้ทักท้วงแสดงว่ามีปัญหาที่จะต้องมาพูดคุยร่วมกัน และแก้ไขปัญหา ซึ่งที่สุดแล้วการประเมินยังคงต้องมีต่อไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษาที่ต้องมี และแทนที่จะเสนอ คสช. ให้ลดบทบาทควรเสนอให้ คสช. ที่กำลังปฏิรูปการศึกษาอยู่แล้วเข้ามาดูแลว่าทำอย่างไรให้ระบบการประเมินเข้มแข็ง แก้ไขจุดอ่อนที่มีเพราะการยกเลิก สมศ. จะยิ่งทำให้การศึกษาถอยหลังและมีปัญหามากขึ้น

ขณะที่ ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวว่า จากการประเมินของ สมศ. มีสถานศึกษาจำนวนมากที่ผ่านการประเมินแต่คุณภาพการศึกษากลับลดลง ดังนั้น สมศ. จำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์วิจัยเกณฑ์ ตัวบ่งชี้ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ สมศ. นำไปประเมินสถานศึกษาด้วยว่าช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน อยากให้มีการปรับคุณภาพผู้ประเมิน เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ประเมิน หรือผู้กำหนดเกณฑ์การประเมินของ สมศ. เองเข้าใจเกณฑ์จริงๆ หรือไม่ ซึ่งหากไม่เข้าใจเกณฑ์เมื่อลงไปประเมินก็ไม่สะท้อนความเป็นจริง และไม่ได้แก้ปัญหาคุณภาพของสถานศึกษาได้ตรงจุด  นอกจากนั้น สมศ. ต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้มาก กรรมการวิชาการ/กรรมการ สมศ. ระดับสูง ไม่เข้าใจระดับล่าง ก็ตั้งเกณฑ์ที่คิดว่าคนอื่นจะเข้าใจ ดังนั้น กรรมการวิชาการทุกระดับใน สมศ. ต้องปรับสัดส่วน ให้ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจการประเมินเข้ามาร่วมเป็นกรรมการให้สมัครต้องควบคู่กับการสรรหา ฐานข้อมูลเรารู้ว่าใครเก่งก็ดึงเข้ามา เพื่อเชื่อมโยงระหว่างระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติ เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องให้ กรรมการบริหาร สมศ. เพื่อการตัดสินใจ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น