xs
xsm
sm
md
lg

ใช้เงินบริจาคศิษย์เก่า ร่วมเกณฑ์ประเมินคุณภาพ อธิการบดีนิด้ารับไม่ได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิการนิด้า ย้อน สมศ. ไม่กลัวการประเมินคุณภาพ แต่รับไม่ได้กับเกณฑ์รอบสี่ อีกทั้งตัวบ่งชี้ระดมทุนศิษย์เก่าอาจไม่สะท้อนคุณภาพ
รศ.ดร.ประดิษฐ์  วรรณรัตน์
วันนี้ (29 ก.ค.) รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวถึงกรณี 4 เครือข่ายอุดมศึกษา ได้แก่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการประเมินภายนอกสถาบันอุดมศึกษาเป็นการชั่วคราว ว่า ที่ผ่านมา ทปอ. เคยนำเสนอความคิดเห็นต่อ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง สมศ. คงถือว่ามีอำนาจเป็นองค์การมหาชนที่รัฐบาลให้การยอมรับจึงตั้งกฎเกณฑ์ กติกาการประเมินคุณภาพการศึกษา แต่ก็ไม่ทราบว่าหลักเกณฑ์ที่ประกาศใช้เอาอะไรมาคิด ทาง ทปอ. ก็แย้งไปหลายครั้ง หรือแม้แต่ นิด้า ก็เคยส่งเรื่องแย้งไปหลายหน ก็ไม่เคยได้ผล อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวตนรับไม่ได้กับเกณฑ์และตัวบ่งชี้ของการประเมินรอบสี่ ที่มีการวัดเงินบริจาคจากศิษย์เก่า เพราะหากมีมหาวิทยาลัยที่อยากขายปริญญาบัตร และขายให้กับเศรษฐี นักธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ได้มาเรียนจริง เมื่อจบแล้วก็นำเงินมาบริจาคให้มหาวิทยาลัย ซึ่งถามว่าเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาที่จุดใด

“ขอยืนยันว่า นิด้าไม่ได้กลัวการประเมิน แต่ขอให้ตัวชี้วัดต้องเหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ถ้าตัววัดไม่ตรงตามบริบทของมหาวิทยาลัยก็วัดไม่ได้ ส่วนที่ สมศ. ระบุว่าตัดชี้วัดศิษย์เก่าไม่ได้วัดจากเงิน แต่วัดจากการช่วยเหลือมหาวิทยาลัยนั้น ก็อาจจะถือเป็นตัววันหนึ่งได้ แต่อาจจะไม่ได้บอกเรื่องคุณภาพการศึกษา อาจวัดในแง่ความสัมพันธ์ ความผูกพัน ส่วนที่ สมศ. ระบุว่ายังมีเวลาให้มหาวิทยาลัยเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงตัวบ่งชี้ที่ผ่านมาส่งหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่สำหรับรอบที่ 4 มันเกินไปจริงๆ” รศ.ดร.ประดิษฐ์ กล่าวและว่า ขณะนี้กำลังรอการตัดสินใจจาก คสช. อยู่ภายหลังจากที่ยื่นหนังสือไปก่อนหน้า
ด้าน ศ.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าตัวบ่งชี้ของ สมศ. ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่าคุณภาพ โดยปัญหาหนึ่งเป็นเพราะกรรมการผู้ตรวจ ยังไม่มีความเข้าใจบริบทการเรียนการสอนของแต่ละคณะ/สาขา จึงใช้กฎกติกาที่เคร่งครัดกินไป ผลประเมินจึงอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้ ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้กลัวถูกประเมินไม่ผ่าน แต่กลัวว่าผู้ประเมิน ประเมินไม่ถูกต้อง ผลประเมินออกมาผิดพลาดก็จะกลายเป็นความผิดมหาวิทยาลัย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น