xs
xsm
sm
md
lg

คิดอย่างไรกับการประกันคุณภาพการศึกษาและสมศ.

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

ข่าวคลิปแวดวงอุดมศึกษาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้นักศึกษาครูนำแสตมป์ร้านสะดวกซื้อมาแลกเกรดยังไม่ทันจางกลิ่นอุ ได้เกิดกระทู้วิพากย์ในสังคมออนไลน์ถึงกระแสร้อนที่ว่ามีนักวิชาการ เสนอให้ยุบสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือสมศ. ได้กระฉ่อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ สมศ. กำลังเดินหน้าจะประกาศใช้เกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (2559-2563) กอปรกับพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลายแหล่งกล่าวถึงนักวิชาการผู้ทรงนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา (องค์การมหาชน) อย่างศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ที่แสดงความเห็นตามรายงานข่าว ว่า “ยุบ 'สมศ.' ไม่ใช่ทางออก จวก 'อธิการฯ-คณบดี' กลัวถูกประเมินต่ำ” (ไทยรัฐออนไลน์, 17/7/2557) นี่จึงเป็นภาพสะท้อนการศึกษาไทยในมิติหนึ่ง

การประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นที่ดำเนินการอย่างเคร่งเครียดมาเป็นเวลานานแล้ว สำหรับการศึกษาไทย โดยรายงานข่าวดังกล่าว (ไทยรัฐออนไลน์, 17/7/2557) ระบุว่า ศ.ดร.อุทุมพร ยังกล่าวถึงการยุบ สมศ.ว่า การยุบ สมศ.มิใช่คำตอบ แต่ถ้าเสนอให้ สมศ.ปรับปรุงวิธีทำงานให้ดีขึ้น น่าจะเป็นทางออกที่ดี หรือถ้ายุบ สมศ. ก็น่าจะใช้ World Ranking เป็นตัวประกันคุณภาพแทน ซึ่งจากการตรวจสอบลำดับของมหาวิทยาลัยไทยเทียบกับมหาวิทยาลัยในโลก พบว่า อยู่ในระดับไม่สูงและไม่เคยสูง บางแห่งติดลำดับ 3,000 ของโลก แพ้มหาวิทยาลัยในประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศเสียอีก จึงเสนอว่า ถ้าอธิการบดีและคณบดี ยอมรับความจริงเรื่องคุณภาพ แล้วหันมาช่วยกันพัฒนาคุณภาพผลผลิต 4 อย่างตามพันธกิจมหาวิทยาลัยของตน ก็จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง นั่นคือตัวเองประเมินตัวเองก่อน แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ใช้เกณฑ์ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ติดลำดับ 500 ลำดับแรกของโลก ก็ยุบมหาวิทยาลัยนั้นเสีย จากรายงานข่าวดังกล่าว จึงเป็นหัวข้อหนึ่งในวงเสวนาของการอุดมศึกษา

เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 พบว่า ในหมวด 6 กล่าวถึงมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา 5 มาตรา คือ มาตรา 47-51 โดยมีสาระสำคัญที่ขอเสนอเกี่ยวกับมาตรา 47-49 ว่า

มาตรา 47 ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 48 ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก

มาตรา 49 ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษามีฐานะเป็น องค์กรมหาชน ทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา

กล่าวสรุปคือ พระราชบัญญัติการศึกษาให้มี สมศ. เพื่อทำการรับรองมาตรฐานการศึกษา และประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยมีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ

อนึ่ง จากการศึกษาสภาพปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา โดยดร.จำรัส นองมาก ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้เขียนยอมรับว่า กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวไว้ในอดีตแต่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยท่านได้กล่าวถึง “สภาพปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา” ไว้ในจุลสาร สมศ. ประจำเดือนสิงหาคม 2545 ไว้ว่า

ในขณะนี้เรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นทั้ง สถานศึกษาและหน่วยงานที่ควบคุมกำกับ สถานศึกษาซึ่งเห็นความสำคัญและพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิบัติในเรื่องของการประกันคุณภาพกันอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น และการปฏิบัติก็มีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง แต่ผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูก ต้องจะสร้างปัญหาต่อระบบการประกันคุณภาพไปอีกนานเพราะทำให้คนเห็นแบบอย่างที่ผิดๆ แล้วไปทำตามแบบที่ผิดๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด ก็เลยคิดว่า การประกันคุณภาพไม่มีประโยชน์ จนอาจมีผลกระทบในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานในด้านนี้ต่อไป

ปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาแยกกล่าวได้เป็นหมวดหมู่ตามขั้นตอนเกี่ยวกับการประกันคุณภาพได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจ เรื่องการประกันคุณภาพความเข้าใจผิดเรื่องการประกันคุณภาพ ทำให้เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในวงกว้าง มีดังต่อไปนี้

1. เข้าใจว่าการประกันคุณภาพเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากบุคลากรในโรงเรียน ขณะนี้ต้องมีภาระงานในความรับผิดชอบมากมายอยู่แล้ว จึงไม่สนับสนุนให้บุคลากรเหล่านั้นต้องมาทำเรื่องการประกันคุณภาพอีก ทั้งๆ ที่ความจริงการประกันคุณภาพในโรงเรียนก็คือการประกันคุณภาพของงานที่ทำอยู่ตามปกติ งานในความรับผิดชอบมากมายแค่ไหน ถ้ามุ่งจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ดีขึ้นก็เข้าข่ายการประกันคุณภาพแล้ว

2. เข้าใจว่าการประกันคุณภาพเป็นเรื่องเฉพาะกิจ เกิดกระแสชั่วครั้งชั่วคราว อีกไม่นานก็เลิกล้มไปอีกตามนโยบายของผู้มีอำนาจ ในเรื่องนี้ถ้ามองการประกันคุณภาพว่า เพื่อหวังเพียงป้ายประกาศ หรือหนังสือรับรอง ก็อาจจะเป็นไปอย่างที่เข้าใจได้ แต่ถ้ามองว่า การประกันคุณภาพเป็นเรื่องของการบริหารงานปกติที่ต้องการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น การดำเนินการในเรื่องนี้ก็ต้องทำอย่าง ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา องค์กรใดที่มุ่งจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นก็ต้องอาศัยระบบการประกันคุณภาพ ถ้าปราศจากการประกันคุณภาพ ก็ไม่แน่ใจว่าองค์กรนั้นจะพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นหรือไม่

3. เข้าใจว่าการประกันคุณภาพไม่เกิดประโยชน์ เสียงบประมาณ และทรัพยากรเพื่อการนี้โดยไม่คุ้มค่า สาเหตุที่เข้าใจเช่นนี้คงเป็นผลมาจากได้เห็นแบบอย่างที่ผิดๆ ในเรื่องของการประกันคุณภาพ แต่คุณภาพไม่ได้ปรากฏ เห็นการปฏิบัติของผู้ทำหน้าที่ประเมินสถานศึกษา ตามกระบวนการประกันคุณภาพที่สนใจ แต่ส่วนปลีกย่อยไม่พยายามชี้แนะให้โรงเรียนเห็นข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไป เห็นการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนในการจัดทำเอกสาร และวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ โดยไม่จำเป็น ฯลฯ ถ้าได้พบเห็นตัวอย่างที่ผิดๆ เหล่านี้ ก็อาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่คุ้มค่า ไม่จำเป็น แต่ถ้าโรงเรียน ผู้ประเมินและผู้ควบคุมกำกับโรงเรียนเข้าใจบทบาทและทำเรื่องนี้อย่างถูกต้องทุกฝ่าย งบประมาณที่ใช้เพื่อการประกันคุณภาพมุ่งใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพจริงๆ ตัดทอนส่วนที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นออกไป ก็จะเป็นงบประมาณจำนวนน้อย ถ้านำไปเทียบส่วนกับการใช้จ่าย ด้านอื่นๆ

กลุ่มที่ 2 ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติเรื่องการประกันคุณภาพปัญหาในกลุ่มนี้สืบเนื่องจากปัญหาในกลุ่มแรกทำให้หน่วยงานปฏิบัติ คือ โรงเรียน หรือสถานศึกษาดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่ถูกต้อง ดังจะยกมากล่าวเป็นข้อๆ ดังนี้

1. โรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องเอกสาร โดยจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับงานและโครงการต่างๆ มากมายใส่แฟ้มจำแนกเป็นรายมาตรฐานหรือรายตัวชี้คุณภาพ โดยเอกสารที่รวบรวมเข้าแฟ้มเหล่านั้นไม่ค่อยสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงๆ ของบุคลากรในโรงเรียน เป็นการแยกส่วนระหว่างการปฏิบัติงานจริงกับการดำเนินการเรื่องการประกันคุณภาพ ซึ่งการปฏิบัติในลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาตามเจตนาของการประกันคุณภาพการศึกษาได้เลย

2. โรงเรียนจัดให้ครูเพียงบางส่วนจากจำนวนครูทั้งหมดในโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่ในเรื่องการประกันคุณภาพ ครูที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้ มีหน้าที่รวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ เขียนรายงานการดำเนินงานตามแบบอย่างของโรงเรียนอื่นที่คาดหวังว่าดี มีความเหมาะสม โดยรายงานและเอกสาร หลักฐานต่างๆ เป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติงานจริงๆ ผู้เขียนพยายามเขียนในสิ่งที่คาดหวัง ว่าจะทำให้ผู้อ่านหรือผู้ประเมินมีความพอใจมากกว่าเขียนตามสภาพจริงเพื่อหวังผลในการปรับปรุงพัฒนา การดำเนินงานลักษณะนี้ไม่ได้ ส่งเสริมให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนดีขึ้น แต่เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ ทั้งคนและเงินงบประมาณ ที่ต้องทำหลักฐานเท็จ เพื่อหวังว่าจะสามารถหลอกกรรมการผู้มาประเมินได้

กลุ่มที่ 3 ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการใช้ผลจากการประเมินและตรวจสอบการประเมินและตรวจสอบ เป็นกิจกรรมสำคัญของการประกันคุณภาพ ในวงจรการประกันคุณภาพเมื่อได้มีการประเมินและตรวจสอบผลการดำเนินงานไปแล้ว ก็ต้องนำผลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนางานให้มี คุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป การใช้ผลจากการประเมินและตรวจสอบ เท่าที่เป็นปัญหา อาจแยกกล่าวเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. ผู้ถูกประเมินไม่กล้ารับความจริง เนื่องจากการประเมินแต่ละครั้ง จะต้องมีผลทั้งในทางดี และไม่ดี ผู้ถูกประเมินบางคน ไม่กล้ายอมรับความจริง ถ้าเรื่องไหนประเมินแล้วว่าไม่ดีก็จะไม่พอใจผู้ประเมิน ถ้าผู้ประเมินหลีกเลี่ยงสิ่งที่ ผู้ถูกประเมินไม่พอใจ โดยเขียนผล การประเมินที่ไม่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ก็จะเป็นการประเมินที่คลาดเคลื่อน ผลการประเมินในลักษณะนี้จึงไม่สามารถนำไปเป็นข้อมูล เพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ตรงกับสภาพจริงๆ ได้

2. ใช้ผลการประเมินไม่คุ้ม เนื่องจากวัตถุประสงค์สำคัญของการประเมิน ก็เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานต่อไป แต่ถ้าประเมินแล้วเก็บไว้เฉยๆ ไม่นำผลไปใช้ประโยชน์ ก็นับว่าใช้ผลการประเมินไม่คุ้ม เพราะในการประเมินแต่ละครั้ง หน่วยงานต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และกำลังคนในการทำงานมาก ปัญหาส่วนใหญ่ในโรงเรียน ก็คือเรื่องการใช้ผลการประเมินไม่คุ้มหรือไม่ได้ ใช้ผลการประเมินเลย โรงเรียนไม่ได้นำผลจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาแล้ว ไปปรับปรุงแก้ไข หรือกำหนดแนวทางพัฒนางานในความรับผิดชอบของแต่ละคนในโรงเรียน ให้เป็นไปตามระบบของการประกันคุณภาพ ผลการประเมินเป็นอย่างไร บางครั้งผู้บริหารไม่สนใจ กลับปฏิบัติเหมือนเดิม ความผิดพลาด บกพร่องจึงไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข

บทสรุปคือปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ ทั้งสามกลุ่มเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถูกต้อง ถ้าปล่อยให้มีการกระทำที่ผิดพลาด ก็จะเป็นการขยายปัญหาให้ กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะคนที่ไปพบเห็นแบบอย่างที่ผิดๆ แล้วสรุปว่านั่นเป็นการปฏิบัติเพื่อการประกันคุณภาพ ก็จะยิ่งช่วยให้ระบบประกันคุณภาพที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ในการทำงานเพื่อแสวงหาสภาพที่ดีกว่า ต้องเป็นที่สงสัยของคนในสังคมมากไปด้วยว่าจริงหรือไม่มาช่วยกันทำให้ถูกต้อง โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน ก็จะพิสูจน์ได้ว่า การประกันคุณภาพดีอย่างไร

ตามความคิดเห็นของผู้เขียน คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่บุคคลหรือหน่วยงานองค์กร จะมีเจตคติไม่ทางบวกก็ทางลบต่อการประเมินจากบุคคลหรือหน่วยงานองค์กรภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการประเมิน (รวมถึงผู้เขียนด้วย) จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยภายในสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า ทัศนคติหรือเจตคติของผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา มีต่อการประกันคุณภาพการศึกษานั้นมีทั้งในทางบวกและทางลบ ตัวอย่างงานวิจัยของลัดดา ปกป้อง (2550) ได้ทำการวิจัย เรื่อง ความคิดเห็นของบุคลากรสายสนับสนุนในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา ผลการวิจัย พบว่า

(1) บุคลากรสายสนับสนุนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาในระดับร่วมรับรู้ เมื่อแยกเป็นรายด้านพบว่า มีส่วนร่วมด้านการดำเนินงานมากที่สุดในระดับร่วมคิดรองลงมา คือ ด้านการปรับปรุงระบบงาน ด้านการวางแผนและด้านการตรวจสอบผลการดำเนินงานในระดับร่วมรับรู้

(2) ภาวะผู้นำการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา และความรู้ในการประกันคุณภาพการศึกษามีผลต่อการมีส่วนร่วมของบุคลากรสายสนับสนุนในระดับปานกลาง และความคิดเห็นในการประกันคุณภาพการศึกษามีผลต่อการมีส่วนร่วมของบุคลากรสายสนับสนุนในระดับต่ำ

(3) ปัญหาและอุปสรรคในการมีส่วนร่วม ได้แก่ บุคลากรสายสนับสนุนมีความเห็นว่า งานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหน้าที่ของผู้บริหารคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับสำนัก/สถาบัน/ศูนย์และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเท่านั้น บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจในงานประกันคุณภาพการศึกษาจึงมีทัศนคติทางลบ มีความเห็นว่างานประกันคุณภาพ การศึกษาเป็นการเพิ่มงาน การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษายังขาดการสนับสนุนให้บุคลากรในหน่วยงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และขาดการเผยแพร่ผลการประเมินตนเองของหน่วยงานแก่บุคลากรทำให้บุคลากรไม่ทราบจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงหรือจุดแข็งที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น และงานวิจัยของพัชรนันท์ วงศ์สิงห์และคณะผู้จัดทำโครงการวิจัย (2555) เรื่อง การศึกษาความรู้และทัศนคติของบุคลากรที่มีต่อการประกันคุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ พบว่า ทัศนคติเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิอยู่ในระดับมาก

ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ทัศนคติ และความคิดเห็นในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการประชุมหรือฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ และให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึง เปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาและควรทบทวนระบบและกลไกการประกันคุณภาพในทุกระดับหน่วยงาน โดยจัดให้มีช่องทางและการให้ข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงบุคลากรของหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งควรสร้างทัศคติที่ดีต่อการประกันคุณภาพการศึกษา และสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากร ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง รวมทั้งงานวิจัยเรื่อง การดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2554) ที่กล่าวถึงผลการวิจัยในมิติของความเข้าใจในงานประกันคุณภาพการศึกษา (นำเสนอบางส่วน) พบว่า

ข้อ 1 ในด้านความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของการประกันคุณภาพ จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งมีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมของการประกันคุณภาพการศึกษาปานกลาง/พอสมควร (ร้อยละ 57.58)

ข้อ 2 ความรู้ความเข้าใจในการประกันคุณภาพของ สมศ. กลุ่มตัวอย่างคำตอบว่า มีความรู้ความเข้าใจ ระดับน้อย (ร้อยละ 46.97)

ข้อ 3 สำหรับความรู้ความเข้าใจในการประกันคุณภาพของ สกอ.มีรู้ความเข้าใจในการประกันคุณภาพการศึกษาของ สกอ.ระดับน้อย (ร้อยละ 46.97)

ข้อ 6 ทราบกระบวนการและวิธีดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาของคณะ มีความเข้าใจในระดับปานกลาง/พอสมควร (ร้อยละ 54.55)

ข้อ 7 ทราบขั้นตอน วิธีการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง มีความเข้าใจในระดับปานกลาง/พอสมควร (ร้อยละ 56.06)

ข้อ 8 ความต้องการในการพัฒนาศักยภาพในงานประกันคุณภาพการศึกษา ตัวย่างร้อยละ 65.91 ต้องการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ

กล่าวได้ว่า แม้ตัวอย่างงานวิจัยบางส่วนที่ยกมาแสดงจะเป็นข้อมูลย้อนหลังไปร่วมหลายปี แต่ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพการศึกษา ยังมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเชื่อได้ว่า มีแนวโน้มไม่แตกต่างกันโดยจะต้องทำการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม ทั้งจากผลการประเมินคุณภาพภายในและภายนอกของสถานศึกษาทุกระดับโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินโดยตรงอย่างต้นสังกัดและสมศ. ตามกฎหมาย

ประสบการณ์ส่วนหนึ่งของผู้เขียนในการมีส่วนร่วมต่อการประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา ทั้งการประเมินคุณภาพภายในและภายนอก แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ การประเมินคุณภาพภายนอกนั้น พบว่า

1. สถานศึกษาทุกระดับ ได้ดำเนินการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษาให้กับบุคลากรอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อาจไม่ทั่วถึงบุคลากรทุกระดับและสถานศึกษาบางแห่ง

2. จากการรับฟังความคิดเห็นของครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหลายสังกัด (สพฐ. อปท. สช.) โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เคยไปเยี่ยมเยือนของภาคใต้ตอนล่าง 5 จังหวัด โดยส่วนมากมองว่า การประเมินคุณภาพภายนอก สร้างความเครียดและเป็นภาระหนัก

3. จากการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในเวทีการประชุมเครือข่ายและการพบปะอย่างไม่เป็นทางการ โดยส่วนมากมองว่าการประเมินคุณภาพภายนอก สร้างความเครียดไม่แตกต่างกัน

4. การเตรียมพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นการเพิ่มภาระในการจัดเตรียมสถานที่และจัดเตรียมบางอย่างขึ้นเพื่อรองรับการประเมินเป็นเฉพาะกิจ

5. แต่สถานศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาหลายแห่ง เชื่อมั่นและยอมรับว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ทำให้บุคลากรในสถานศึกษาตื่นตัว ตระหนักและทำงานให้ได้มาตรฐานการศึกษาสูงขึ้น

จึงกล่าวได้ว่า ความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งทางลบและทางบวกต่อการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพการบริหารจัดการศึกษาของชาติ ว่า ควรมีทิศทางและควรเป็นไปอย่างไรในอนาคต โดยเฉพาะจากข้อมูลบางส่วนที่ได้นำเสนอ

ส่วนการประเมินคุณภาพภายในนั้น พบว่า สถานศึกษาได้ดำเนินการไปตามปกติ เพราะสถานศึกษารับทราบว่า การประเมินนั้นเป็นภารกิจอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานต้นสังกัด และต้องดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละระดับ ที่ประกาศไว้ให้เป็นมาตรฐานการศึกษาชาติ

ข้อสังเกตของผู้เขียนที่มีต่อการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอก มีคำถามอยู่ว่า

1. เหตุใดเกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณภาพภายนอก ไม่สัมพันธ์โดยมากหรือสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณภาพภายในของแต่ละระดับการศึกษา

2. บางประเภทการศึกษา ทำไมจึงมีมาตรฐานและตัวบ่งชี้มากเป็นพิเศษ เช่นโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เป็นต้น

3. การรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำเกณฑ์การประเมินภายนอก เหตุใดเวทีรับฟังจึงบอกว่า ให้เสนอความคิดเห็น แต่ สมศ.จะเอาหรือไม่เอาข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการจัดทำเกณฑ์การประเมินในแต่ละรอบก็ได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อการใด

4. ปัญหาในการตีความเกณฑ์ของผู้ประเมินภายนอกแต่ละคน ในแต่ละระดับการศึกษากับหลักฐานที่ใช้ประกอบตามเกณฑ์ในการประเมิน ทำไมจึงแตกต่างกัน จนทำให้ไม่แน่ใจว่า การดำเนินการของสถานศึกษาได้มีหลักฐานหลักตามข้อกำหนดของเกณฑ์การประเมินหรือไม่อย่างไร ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า นี่เป็นปัญหาที่เกณฑ์การประเมินหรือผู้ประเมิน หรือสถานศึกษากันแน่

5. เมื่อ สมศ.รับรองคุณภาพการศึกษาแล้ว จะมีกระบวนการติดตามตรวจสอบถึงการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของการประเมินภายนอกในแต่ละรอบ (รอบละ 5 ปี) โดยมีทิศทางและกระบวนการเป็นอย่างไร เพราะสถานศึกษาแต่ละแห่งต่างมีแผนยุทธศาสตร์ หรือแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของตนที่ปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสังคมอาเซียนและสังคมโลกอยู่เฉพาะ

จากข้อสังเกตเหล่านี้ จึงทำให้เกิดคำถามต่อการประเมินคุณภาพภายนอก ที่ผู้เขียนเพียงได้แต่ตั้งข้อสังเกตและพยายามหาคำตอบด้วยตนเอง

ผู้เขียนคิดเห็นว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการประเมินคุณภาพการศึกษา ที่ไม่อิงต่อการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจมากจนเกินไป แต่จะต้องเป็นการประเมินคุณภาพการศึกษาที่เป็นไปตามการศึกษาในความมุ่งหมาย ที่ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ความรู้ คุณธรรมและจริยธรรม มีความสามารถในดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เพราะหากการประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องยากและลำบากเกินไป เกณฑ์ผลการประเมินไม่สะท้อนความเป็นจริง ไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียนและสถานศึกษาแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า จะประเมินคุณภาพการศึกษาเพื่อประโยชน์อะไร เพราะหลักการศึกษานั้น ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การศึกษานั้น ควรเป็นเรื่องเข้าถึงได้ เข้าถึงง่าย เรียนรู้แล้วได้ผลลัพธ์เป็นความสมบูรณ์องค์รวมทั้งความรู้ ความสามารถและความดีงามในตัวบุคคล

อนึ่ง บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือหน่วยงานใด เพราะผู้เขียนเพียงพยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา และ สมศ.ซึ่งดูเสมือนเป็นโจทย์ให้ต้องให้คนไทยและผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกภาคส่วน ทุกสังกัดได้ร่วมกันขบคิดว่า จะให้มี สมศ.หรือว่าไม่มี สมศ. ด้วยน้ำหนักหรือเหตุผลใด เพราะผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาที่มีต่อเด็กเยาวชนและประชาชนของประเทศไทย ไม่ใช่หน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยผู้เขียนเห็นว่า ทุกคน ทุกภาคส่วน ควรมีส่วนร่วมแสดงรับผิดชอบและร่วมคิดพัฒนาระบบการศึกษาของชาติร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น