ASTVผู้จัดการรายวัน-"ไพบูลย์"ยันรัฐธรรมนูญไม่ห้ามหัวหน้า คสช. ถ่างควบนายกฯ โอ่ "ประยุทธ์" เหมาะสมเก้าอี้ผู้นำ หลังพิสูจน์ตัวเองผ่านผลงาน 2 เดือน "วิษณุ"เผย ม.48 นิรโทษเฉพาะ คสช. ส่วนม็อบหนุนต้าน ลุ้นคลอดกฎหมายอีกที รับม. 44 ให้อำนาจล้น แต่ไม่ข่มรัฐบาล แค่ให้คำปรึกษาแนะนำ ยันไม่มีอำนาจปลดนายกฯ "มาร์ค"ข้องใจ มีอำนาจพิเศษเต็มมือ เหนือทั้งนิติบัญญัติ ตุลาการ และกลับคำพิพากษาศาลได้ หนักกว่ายุค "สฤษดิ์-รสช.-คมช." จี้ "บิ๊กตู่"แจงด่วน หวั่นจุดไฟขัดแย้งเพิ่ม
เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (23ก.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ฝ่านกฎหมาย ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงความเป็นมาของการจัดทำรายละเอียดของรัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเปิดการแถลงข่าวว่า ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จนทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ นั้น ก็เป็นไปตามที่หัวหน้า คสช. ชี้แจงกับประชาชนว่าภายในเดือนก.ค. จะมีรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามโรดแมปขั้นที่ 2
"ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้มา ผมในนามของ พล.อ.ประยุทธ์ ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่มีความห่วงใยในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอยืนยันเจตนารมณ์ของ คสช.ว่า การเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพื่อมาแก้ไขปัญหาของชาติ ที่มีมาก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ให้กับประชาชนชาวไทย จึงจำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ตามแผนงานที่เคยให้ไว้กับประชาชน มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และยืนยันว่า จะนำไปใช้ในสิ่งทีดี เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จึงขอโอกาส และเวลาให้กับคสช. ได้ปฏิบัติตามแผนงานที่เคยให้ไว้" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ด้านนายพรเพชร ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า คสช.ได้บัญญัติพระราชอำนาจไว้อย่างชัดเจน นอกจากการคงหมวด 2 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้ว ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการตราพระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ และแต่งตั้งข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และพระราชอำนาจในการอื่นๆ ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
** คลี่คลายความขัดแย้งใน 1ปี
นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ได้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ตามขั้นตอนโรดแมป ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้ ขั้นที่ 2 นี้ เราเริ่มต้นด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งบังเอิญครบเวลา 2 เดือนของการครอบครองอำนาจ ซึ่งคงต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประมาณ 1 ปี เพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 20 เสร็จสิ้น ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 3 ที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพื่อคืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ เชื่อว่าในระยะ 1 ปี จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง และจากนี้จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเสียงบ่นว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่เสียของหรือสูญเปล่า ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงต้องวางหลักการบางอย่างที่ดูเข้มข้นหรือยุ่งยาก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ตนขอชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ เป็นเหมือนต้นทางของแม่น้ำอีก 5 สาย
โดยสายที่ 1 คือ การเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยหัวหน้า คสช. เป็นผู้เลือกสรรแล้วนำความกราบบังคมทูล ทั้งนี้ สมาชิก 220 คน ไม่มีการรับสมัคร แต่หัวหน้า คสช. พิจารณาจากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทุกจังหวัด และภูมิภาค
สำหรับคุณสมบัติของสมาชิก สนช. ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเป็นเวลา 3 ปี จึงห้ามเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้า รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่ห้ามผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งนี้ สมาชิก สนช. มีหน้าที่สำคัญ 4 ข้อ คือ 1.ออกกฎหมายเหมือน ส.ส.และ ส.ว.ในอดีต รวมถึงมีอำนาจอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาสำคัญที่รัฐบาลไปทำกับต่างประเทศ 2.ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ส่วนจะเลือกนายกฯ จากคนใน หรือคนนอก สนช. ก็แล้วแต่การพิจารณาของ สนช. 3.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี และขอเปิดการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติได้ แต่ไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี และ 4.ให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา อาทิ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่น อัยการสูงสุด เลขาธิการกฤษฎีกา เลขาธิการ ปปง. และบุคคลในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
แม่น้ำสายที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี รวมนายกฯ มี 36 คน แต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้ ซึ่งจะเป็นข้าราชการประจำ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ได้ เพราะตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ เป็นการบริหารราชการระยะสั้น จึงเปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ผู้ที่จะเป็น ครม. ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปี ก่อนวันที่รับการแต่งตั้ง และมีการกำหนดเป็นครั้งแรก ที่ให้ ครม. มีอำนาจหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1.อำนาจหน้าที่ในการปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งที่ ครม.ดำริเอง หรือมีข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 2.อำนาจหน้าที่ในการสร้างความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ เป็นภารกิจสำคัญที่ ครม. ต้องปฏิบัติ
แม่นำสายที่ 3 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหาจากจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 77 คน โดยคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด เสนอชื่อจังหวัดละ 5 คน แล้วให้ คสช.เลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน ส่วนที่เหลือ 173 คน มาจากบุคคล 11 ด้าน คือ ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่นๆ ซึ่งมีคณะกรรมการสรรหาประจำแต่ละด้าน ด้านละ 1 คณะ โดยใช้วิธีการเสนอชื่อจากสมาคม มหาวิทยาลัย หรือองค์กรตามด้านต่างๆ ไม่ใช่การมาขอสมัครเอง ผู้ที่อยากเป็น สปช. ต้องมีองค์กรให้การรับรอง และเสนอชื่อขึ้นมา ทั้งนี้ ไม่มีข้อห้ามนักการเมือง ส่วนอำนาจหน้าที่ของ สปช. คือ เสนอแนะแนวทางปฏิรูปได้เลย ไม่ต้องรอกฎหมาย แต่ถ้าเรื่องใดจำเป็นต้องมีกฎหมาย ก็ให้ สนช. เสนอกฎหมายมารองรับ
แม่น้ำสายที่ 4 คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มี 36 คน แบ่งเป็นสมาชิกที่สภาปฏิรูปฯ เสนอ 20 คน และที่เหลืออีก 15 คน มาจากการเสนอของ สนช.-ครม. และ คสช. เสนอฝ่ายละ 5 คน และ คสช. จะเสนอผู้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างอีก 1 คน คุณสมบัติของผู้เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาที่ถูกกำหนดต้องยกร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่ถ้าทำไม่เสร็จ ก็มีบทลงโทษ นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เป็นเวลา 3 ปี และห้ามผู้เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคตเป็นเวลา 2 ปี
สำหรับกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น จะมีการป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยทุจริตการเลือกตั้งหรือกระทำทุจริต กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ปิดทางการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสามารถพิจาณาทำได้ตามสมควรในอนาคต และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการลงพระปรมาภิไธยแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ถือว่าสิ้นสุดหน้าที่
ทั้งนี้ กรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ หรือที่เคยพูดกันว่า “มาตรา 7” ที่เคยเขียนว่า ถ้าไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตามประเพณีหรือธรรมเนียม ซึ่งมาตรานี้ เคยสร้างปัญหามาแล้ว ดังนั้น ครั้งนี้ จึงแก้ปัญหา โดยให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นไปตามประเพณีการปกครองหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่เกิดการถกเถียงกัน
แม่น้ำสายที่ 5 คือ คสช. ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังให้คงไว้ โดยให้ คสช.มีอำนาจ 1.เสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา ซึ่งไม่จำเป็นที่ ครม.ต้องรับพิจารณาทุกเรื่อง 2.ขอเชิญ ครม.ประชุมร่วมกัน เพื่อหารือปัญหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช.ไม่เชิญไป รัฐมนตรีจะเชิญมาก็ได้
"ไม่มีบทบัญญัติใดให้ คสช. สามารถปลดนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีได้ตามคำร่ำลือ ไม่มีการบัญญัติให้ คสช. เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยของ ครม. ไม่มีให้ คสช. มีอำนาจบังคับบัญชา ครม. หรือข้าราชการประจำใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้ คสช. มีอยู่เพื่อช่วยดูแลแบ่งเบาภาระ ครม. ด้านความมั่นคง การรักษาความสงบ เพื่อ ครม. จะได้บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่วอกแวก กับปัญหาที่อาจจะแทรกซ้อนเข้ามา ในช่วยเวลา 1 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรา 46 กำหนดให้ คสช. อาจใช้อำนาจพิเศษ หากจำเป็นต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ แม้เป็นอำนาจเชิงนิติบัญญัติ ผมเชื่อว่า จะไม่มีการใช้พร่ำเพรื่อ และไม่กระทำการนอกรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลต่างๆ ศาลทหาร และองค์กรอิสระต่างๆ ยังอยู่ไปตามปกติ"นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญนี้ แม้จะมี 48 มาตรา หลายคนอาจสงสัยว่า มีแค่นี้จะพอใช้ในการแก้ปัญหาหรือไม่ และสิ่งที่เคยเกิดในอดีต เรื่องมาตรา 7 ก็ต้องมาปรากฏอีก เรารู้ว่ามันยุ่ง แต่จะไม่เขียนไว้ ก็ไม่ได้ เพราะอาจเกิดช่องว่างขาดหลายมาตรา ดังนั้น หากสงสัยว่าเรื่องใดเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ และสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 นี้ เมื่อร่างเสร็จแล้ว จะให้ลงประชามติหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นสิ่งที่จะไปพิจารณาได้ ตามความจำเป็นในอนาคต และเมื่อใดที่รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 19 มีปัญหาที่จะต้องแก้ไข ให้ ครม. และ คสช. จับมือกันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบกพร่องที่ควรจะมีได้
สำหรับข้อสงสัยว่า ลำธาร 5 สาย จะอยู่ถึงเมื่อใด คำตอบ คือ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทน ฉบับเก่าก็ปลดไป ส่วน สนช. เมื่อมี ส.ส. แล้ว สนช. ก็หมดไป ครม. จะอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่มารับไม้ต่อ สภาปฎิรูป จะอยู่ต่อไปหรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จ และเขียนถึงสภาปฏิรูปอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น และคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่เสร็จ และหมดไป เมื่อร่างเสร็จ และลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ และ คสช. เมื่อประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคงไม่กำหนดให้มี คสช. ซึ่ง คสช.ก็จะหมดไปเมื่อนั้น
** ปัดให้อำนาจคสช.แทรกแซงรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามถึงเนื้อหา มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งให้อำนาจหัวหน้า คสช. ค่อนข้างมาก จนอาจจะอยู่เหนือนายกฯ และคณะรัฐมนตรี และถูกมองว่า คล้ายคลึงกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายพรเพชร กล่าวอธิบายว่า ยืนยันว่า มาตรา 44 ไม่ได้ให้อำนาจ คสช. ในการแทรกแซงฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ รวมทั้งไม่ได้มีอำนาจที่จะไปสั่งการรัฐบาล หรือ สนช. แต่อย่างใด ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 ต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งทางบวก และทางลบ ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป หากกระบวนการของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติต้องใช้ระยะเวลานาน หัวหน้า คสช. ก็อาจจะออกคำสั่ง หรือประกาศเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม คงไม่ไปไกลถึงขนาด จอมพลสฤษดิ์ ที่ไปยุ่งเกี่ยวกับคดีอาญาปกติ
"ผมมีความเชื่อมั่นว่า ท่านหัวหน้า คสช. ในขณะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่านเป็นรัฐฏาธิปัตย์ ทำได้มากกว่า มาตรา 44 แต่ก็ยังไม่เคยทำ หรือไปลงโทษใครในลักษณะที่ว่าเลย แม้กระทั่งการย้ายข้าราชการ ก็ทำเพื่อความเหมาะสม ผมกลับมั่นใจว่า มาตรา 44 จะช่วยสร้างสรรค์ และคุ้มครองดูแลประเทศไทยในเรื่องความสงบเรียบร้อยมากกว่า" นายพรเพชรระบุ
นายวิษณุกล่าวเสริมว่า เรื่องของการใช้อำนาจพิเศษ เป็นผลที่ตามมาจากการคง คสช. ไว้ หาก คสช. ไม่มีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็น การที่ให้มี คสช. อยู่ ก็เพื่อให้ทำหน้าที่บางอย่างที่คณะรัฐมนตรีอาจจะกระทำได้ลำบาก ทั้งแบบแผนของการมี มาตรา 44 นี้ มีมาในอดีตทุกครั้งที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยมองว่า การที่องค์กรยึดอำนาจยังคงต้องอยู่ต่อ แล้วไม่มีอำนาจพิเศษไว้ในมือ ในบางสถานการณ์ ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ลงท้ายก็ต้องเกิดการยึดอำนาจซ้อนขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามในอนาคตว่า คสช. จะใช้ประกาศิตนี้ ในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ส่งเสริม หรือกำราบ เป็นเหมือนดาบที่มีสองคม เพราะ คสช. อยู่ภายใต้การจับตาดูของทุกฝ่ายอยู่แล้ว
"วิธีใช้อำนาจใน มาตรา 44 คงไม่ใช่อำนาจประจำวัน หรือนึกจะใช้ก็ใช้ได้ หากไม่เขียนไว้ ก็ไม่ได้ เพราะบางเรื่องกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่มีแล้วจะใช้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง 2 เดือนที่ผ่านมา คสช. มีอำนาจล้นพ้น มากกว่ามาตรา 44 แต่ไม่ใช้ จนหลายคนสงสัยด้วยซ้ำ อย่างคดีฆาตกรรมเด็กหญิงแล้วโยนร่างออกจากรถไฟ มีเสียงเรียกร้องให้ คสช. ใช้อำนาจพิเศษ เพื่อให้การดำเนินคดีรวดเร็ว แต่ คสช.ก็เชื่อว่าใช้กระบวนการยุติธรรมปกติได้" นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อหัวหน้า คสช. มีอำนาจตาม มาตรา 44 ซึ่งใหญ่กว่ากฎอัยการศึกอยู่แล้ว คสช. มีแนวคิดที่จะยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับการประกาศ หรือยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ และความจำเป็นในอนาคต ต้องเข้าใจ เหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค. ใช้กฎหมายทุกอย่างแล้ว แต่ไม่ช่วยอะไรได้ ขอเวลาอีกสักพัก ในการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อความมั่นใจ
** ม.48 นิรโทษเฉพาะคสช.
เมื่อถามถึงบทบัญญัติใน มาตรา 48 ที่คุ้มครองการกระทำของ คสช. ที่เกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครอง แต่ไม่มีเนื้อหาครอบคลุมความผิดของบุคคลอื่น อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จนอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง นายวิษณุ กล่าวตอบว่า เนื้อหาที่สำคัญของ มาตรา 48 คือ ช่วงที่กล่าวว่า “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย” แต่ไม่ได้พูดว่า ที่แล้วมา คสช. ทำผิดกฎหมาย เพราะเมื่อมีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สิ่งที่กระทำไปนั้น ก็ไม่ผิด แต่ที่ต้องระบุไว้ก็เพราะอาจมีบางฝ่ายมองว่า คสช. ทำผิดกฎหมาย แล้วนำไปสู่การฟ้องร้อง แทนที่จะต้องเสียเวลา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงบอกไว้ในมาตรานี้เพื่อตัดปัญหา
"จะกล่าวว่าเป็นบทนิรโทษกรรมก็ได้ แต่เป็นความจำเป็นที่เป็นแบบอย่างของการเขียนรัฐธรรมนูญภายหลังการยึดอำนาจทุกครั้งตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา หากไม่เขียนไว้ ก็จะเกิดการจองล้างจองผลาญกันไม่จบสิ้น" นายวิษณุระบุ
สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง หรือผู้ที่ต่อต้าน คสช. และกระทำผิดกฎอัยการศึกนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พูดถึงเพียงในส่วนของ คสช. และบุคคลที่ได้รับคำสั่งจากคสช. ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่เข้าข่ายนั้น ยังไม่ได้รับอานิสงส์ ในครั้งนี้ ส่วนจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ อย่างไร ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องไปตรากฎหมายในอนาคต
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบคณะรัฐมนตรี ยังเป็นไปตามปกติหรือไม่ รวมไปถึงการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิษณุ กล่าวว่า การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังคงเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แม้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองรับอยู่ เพราะฉะนั้น กลไกการตรวจสอบ ทั้งหลายยังมีอยู่ต่อไป ในส่วนของ สนช. และ สปช. ที่ยังไม่มีการระบุในกฎหมายที่มีอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งเหล่านั้นเพิ่มตามความจำเป็น
ต่อข้อถามถึงจุดประสงค์ที่ระบุให้ คสช. สามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าร่วม คสช. เพิ่มเติมไม่เกิน 15 คนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ในทางกฎหมายแล้ว ต้องการให้มีผู้ที่เข้าร่วมกันทำงาน จากเดิมที่มีเพียง 6 คน ซึ่งในอนาคตบางคนอาจได้รับตำแหน่งทางการเมือง หรือมีภาระอื่นที่ต้องทำ ก็จำเป็นที่ต้องมีคนเข้ามาช่วยงานแทน แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องตั้งคนเข้ามา เพียงแต่ว่า หากไม่กำหนดตัวเลขไว้ ก็อาจจะแต่งตั้งเข้ามามากเกินไป จึงกำหนดไว้ที่ 15 คน
** ชู"ประยุทธ์"เหมาะนั่งนายกฯ
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ง คสช.ได้ 15 คน ขณะนี้ยังไม่รู้ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคนที่เป็นหัวหน้า คสช.กับนายกฯ จะแยกกันหรือไม่ จำนวน คสช. ที่มีทุกวันนี้เพียงพอต่องานในอนาคตหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม คสช. มาเป็นรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า หากหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี อีกตำแหน่ง เหตุใดยังต้องคงอำนาจ คสช.ไว้ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า การดำเนินการของ คสช. ดำเนินการไปตามโรดแมป วันที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐบาล เป็นการควบคุมโดย คสช. และ คสช. เป็นคนทำสัญญาประชาคมตามที่ประชาชนต้องการให้เกิดความสุข ทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบ เพราะคนที่ทำในวันนั้น คสช.เป็นคนทำ ส่วนการดำเนินการหลังการเกษียณของผู้นำเหล่าทัพ เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการคุยกัน แต่ได้ตั้งไว้ คสช. มีไม่เกิน 15 คน และการที่จะให้หัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ก็ยังไม่ใช่แนวคิดของ คสช. แต่ก็มีการคุยกันถึงหน้าตาคณะรัฐมนตรี และตัวนายกรัฐมนตรี คสช. คิดทุกแง่มุมว่า อะไรจะทำให้โรดแมปที่เราทำสัญญาประชาคมไว้ นำไปสู่ความสำเร็จ ที่บ้านเมือง จะกลับมาสงบสุข ต้องคิดทุกปัจจัย ทั้งปัจจัยรัฐบาล กฎหมาย ทุกอย่างเป็นที่มา บทเรียนที่ผ่านมาสอนเรา
ส่วน คสช. ที่จะเกษียณอายุราชการแล้ว จะต้องมีตำแหน่งรองรับหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องถามหัวหน้า คสช. ซึ่งคงจะดูว่าใครจะเหมาะสม ที่จะบริหาร แต่ละกระทรวง รวมถึงทีมที่ปรึกษา คสช. ด้วย ตนไม่ทราบว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตนทราบแค่หลักการ
"ส่วนตัวเห็นว่า หัวหน้า คสช. มีคุณสมบัติ การปฏิบัติหน้าที่ทุกวันนี้ ก็ถือเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว การปฏิบัติงานของหัวหน้าคสช. 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ทำเรียบร้อยดี นั่งหัวโต๊ะบริหารกระทรวงมาได้อย่างเรียบร้อย" พล.อ.ไพบูลย์ระบุ
**คสช.ไม่มีอำนาจปลดนายกฯโดยตรง
นายวิษณุกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญให้หัวหน้าคสช. เป็นนายกฯ ได้ แต่ได้เป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ สนช. ที่ต้องเป็นผู้เลือก และมีอำนาจในการปลดนายกฯ ด้วย ดังนั้น คงต้องรอสอบถาม เมื่อมี สนช.แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช. มีอำนาจในการยับยั้งการกระทำของคณะรัฐมนตรีมากน้อยเพียงใด นายวิษณุ กล่าวว่า คสช.ไม่มีอำนาจแทรกแซงรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี มีเพียงการให้คำปรึกษา หรือแนะนำรัฐบาล รวมทั้งแจ้งความจำนงค์ในการขอประชุมร่วมกันในบางกรณี เช่นเดียวกับ คณะรัฐมนตรี ที่แจ้งขอเปิดประชุมร่วมกับ คสช.ได้ ถือเป็นการทำงานควบคุมกันไป
เมื่อถามว่า ในมาตรา 19 วรรค 3 ตีความว่า ให้อำนาจคสช. ในการเสนอปลดนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา กระบวนการถอดถอนนายกฯ ได้ให้ส.ส.เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนที่จะลงมติ ครั้งนี้ เมื่อ สนช. มีอำนาจแต่งตั้งนายกฯ ก็สมควรมีอำนาจในการถอดถอนด้วย แต่หากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนที่ผ่านมา สุดท้ายลงมติแล้วนายกฯ ชนะ ก็เกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีเหตุจำเป็น จึงกำหนดให้ คสช. มีอำนาจ ยื่นญัตติเสนอแนะสนช.ว่า สมควรที่จะปรับเปลี่ยนผู้ที่เป็นนายกฯ แล้วให้ สนช. เปิดอภิปรายก่อนที่จะลงมติอีกครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่ กับ สนช.
"คสช.ทุบโต๊ะเปรี้ยง ปลดนายกฯ เองไม่ได้ แต่ญัตติถอดถอนนายกฯ เริ่มจาก สนช. ไม่ได้ ต้องให้คสช. เป็นผู้เสนอแนะ อย่างไรก็ดี สนช. ก็ไม่จำเป็นต้องรับลูกก็ได้"นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึง เพราะเหตุใด จึงไม่ระบุขั้นตอนประชามติไว้ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร นายวิษณุ กล่าวว่า หากกำหนด หรือบังคับว่าต้องทำประชามติ อาจทำให้ใช้เวลายืดยาวเนิ่นนานออกไป ส่งผลต่อกระบวนการให้ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนด อาจจะต้องใช้เวลาอีก 4-6 เดือน กว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบังคับใช้ได้ จึงไม่ได้กำหนดไว้ แต่จะทำประชามติหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อีกทั้งบรรยากาศปรองดองยังไม่เกิดขึ้น การทำประชามติ อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมากกว่า สุดท้ายขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกัน ของรัฐบาล คสช. และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญด้วย
**ให้สนช.ถอดถอนอดีต ส.ส.-ส.ว.ได้
เมื่อถามว่า องค์กรอิสระหลายหน่วยงาน จะยังคงไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า บางองค์กรถ้าเอาออก ก็อาจเกิดช่องว่าง แต่หากจะล้ม ก็ไม่ยาก สามารถออกประกาศฉบับเดียวก็ล้มได้ แต่จะถูกข้อครหาว่าเป็นการช่วยกัน อย่าง ป.ป.ช. ที่ยังมีคดีค้างอยู่ 20,000 คดี ถ้าล้มจะทำยังไงกับคดีที่ค้าง
เมื่อถามว่า อำนาจ สนช. สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส.-ส.ว. ในคดีค้างเก่าในสภาฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในมาตรา 6 วรรค 2 เขียนไว้ว่า ให้สนช. ทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา ในการให้ความเห็นชอบและถอดถอน เรื่องนี้ต้องมาที่ สนช. ที่จำเป็นต้องพิจารณาตามกฎหมาย สามารถทำได้
**"วิษณุ"ไม่รับตำแหน่ง มีปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวด้วยว่า มีแนวคิดที่จะเสนอให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวกับการห้ามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถเปิดประชุม และเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามาร่วมเป็น สปช. เพราะหากไม่ปลดล็อกตรงนี้ ก็จะไม่มีตัวแทนของฝ่ายการเมืองเข้ามาในกระบวนการปฏิรูปประเทศ
ผู้สื่อข่าวถาม นายวิษณุอีกว่า คิดว่าตัวเองเหมาะสมกับหน้าที่รองนายกฯ หรือประธาน สปช. มากกว่า นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เหมาะกับตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น ตนอยู่ของตนอย่างนี้สบายกว่า และตนก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่อย่างน้อย ตนก็ไม่ได้เลวขนาดว่า ไม่ควรเป็นอะไร
เมื่อถามย้ำว่า หากหัวหน้า คสช. ขอให้เข้ามาช่วยงาน นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า “ไม่ตอบ”
**"มาร์ค"ข้องใจม.44อำนาจเหนือศาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง “สู่ระยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44” ว่า มาตรา 44 อาจถูกมองว่าผิดปกติ เพราะให้อำนาจหัวหน้า คสช. และ คสช. เป็นพิเศษอย่างที่ ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากโดยปกติการตราธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร จะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหาร เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคง เช่น เมื่อปี 2549 ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง คมช. กับครม. ได้ ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือในปี 2534 ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช. กับนายกรัฐมนตรี อาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความ มั่นคงได้
แม้แต่ในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งสังคมไทย จะกล่าวถึงเสมอ คือ มาตรา 17 ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จที่สุด ก็จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการสั่งการ หรือกระทำการเพื่อระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความแตกต่างในครั้งนี้ คือ ในมาตรา 44 อำนาจพิเศษนั้น เป็นของหัวหน้าคสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และ มาตรา 44 ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้ง หรือตรวจสอบ นั่นหมายถึงความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้ มาตรา 44 นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป หรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมด จึงอาจถูกมองได้ว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มาตรา 3
"ผมเชื่อว่า สังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีที่จะเกิดปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูป หรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปก็มีที่มาจาก คสช. อยู่แล้ว และการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคง ก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก ผมจึงหวังว่า หัวหน้าคสช. จะช่วยอธิบาย ถึงความจำเป็น และสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่า จะใช้อำนาจในมาตรา 44 นี้ในกรณีไหน อย่างไร โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือควมวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้" นายอภิสิทธิ์ ระบุ ผ่านเฟซบุ๊ก
**ไม่เชื่อจะปฏิรูปประเทศได้
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ว่า ตนเป็นคนไทยประเภทชนกลุ่มน้อยก็ว่าได้ คือไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายจะปฏิรูปประเทศได้ดีกว่านี้อีกแล้ว เพราะเราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดที่เราภูมิใจมาแล้ว เช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2517, 2540 แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เราใช้เสียจนพัง เหมือนเราเอาเครื่องเบนซ์ มาใช้กับรถไถนายันม่าร์ และเอาเครื่องยันม่าร์ มาใส่รถเบนซ์ ยังไงยังงั้น มันอาจดีที่รถไถนาวิ่งได้เร็วขึ้น และรถเบนซ์ประหยัดน้ำมันขึ้น
นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า ประเทศเราขัดแย้งกัน 2 เรื่อง 1.เราเถียงกันเรื่อง "ประชาธิปไตย" เป็นที่มาของวาทะ ไพร่-อำมาตย์ แล้วเรายกพวกฆ่ากัน เพื่อบอกว่าประชาธิปไตยคุณผิด ประชาธิปไตยผมถูก 2.เราเถียงกันเรื่อง "ความยุติธรรม" เรามองความยุติธรรมต่างกัน จนเป็นที่มาของคำว่า "สองมาตรฐาน" แล้วเราก็พยายามรื้อโครงสร้างเก่าทิ้ง เพื่อควานหาความยุติธรรม
"หากไม่เชื่อผม ลองถามคนข้างๆ คุณดูสิ ว่าประชาธิปไตยของเขา คืออะไร หรือ ความยุติธรรมในสายตาเขา คืออะไร รับรองไม่เกิน 5 นาที ก็ได้ทะเลาะกัน แต่เพื่อความปลอดภัย อย่าคุยกันเกิน 5 คน ก็แล้วกัน" นายนิพิฎฐ์ กล่าว
**คาดไม่มีสมาชิก ปชป.นั่ง สนช.
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สั่งห้ามลูกพรรค ไม่ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการปฏิรูป ว่า คงไม่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนไหน ที่ต้องการเสนอตัวเข้าไปเป็นทั้ง สนช. หรือสภาปฏิรูป ด้วย เพราะยังต้องเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ ไม่เช่นนั้นจะถูกตราหน้าว่าเป็นทอปบู๊ต และคงไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ขอให้เจ้าของประเทศ และกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย เข้าไปมีส่วนในการยกร่าง ปฏิรูป และเป็นสภาปฏิรูปดีกว่า โดยรวมคนที่มีความรู้จริงและเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพอย่างแท้จริง
***เผยได้ สนช. เดือนส.ค.-ก.ย.นี้
นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะร่างข้อบังคับเพื่อรองรับการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง แนวทางการดำเนินงานของรัฐสภา หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า เบื้องต้นจะทำการจัดพิมพ์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกทั้ง 2 สภา ได้ศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานต่อไป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จากทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ที่รับผิดชอบ ก็จะทำการศึษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ความเห็นที่ตรงกันในบางมาตรา ที่ทั้ง 2 สำนักงาน ต้องทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นถึงแนวทางการทำงานของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่กำกับดูแล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่กำกับดูแล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมี สนช. ประมาณเดือนส.ค.-ก.ย. เนื่องจากขั้นตอนการได้มาของสมาชิกไม่ซับซ้อน และมีวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบทำการพิจารณาอย่าง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 แต่ในส่วนของ สปช. น่าจะได้เริ่มทำงานประมาณเดือนต.ค. เนื่องจากกระบวนการสรรหา ทั้งจำนวนคณะกรรมการ วิธีการ และกำหนดเวลา จะต้องรอกำหนดจากพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยคสช.ในฐานะรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสรรหาสมาชิกแต่ละจังหวัด ตามมาตรา 30 ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร
**ตั้ง12คณะเฟ้นหาสภาปฏิรูป
แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. กล่าวว่า คณะทำงานได้ ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหารสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีคณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่สรรหาบุคคลด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 12 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง 2.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.ด้านการปกครองท้องถิ่น 5.ด้านการศึกษา 6.ด้านเศรษฐกิจ 7.ด้านพลังงาน 8.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9.ด้านสื่อสารมวลชน 10.ด้านสังคม 11.คณะกรรมการสรรหาด้านอื่นๆ 12.คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละ1 คณะ
**หมายจับ"อภิวันท์"หมิ่นเบื้องสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (23ก.ค.) พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้เสนอขออนุมัติหมายจับ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีต รองประธานสภาผู้แทนราษฏร์คนที่ 1 ฐานกระทำความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ในคดีอาญา ที่ 289/2557
ล่าสุดรายงานข่าวแจ้งว่า ศาลอาญา ได้อนุมัติหมายจับแล้ว ที่ 1241/2557 ลงวันที่ 23 ก.ค.2557 ซึ่งคดีนี้มีอายุความ 15 ปี
ทั้งนี้ นายอภิวันท์ ถือว่าเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีกลุ่มอำมาตย์ และมักใช้ถ้อยคำ พาดพิง หมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หลายครั้ง โดยเฉพาะในการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2553