xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” บี้ “บิ๊กตู่” แจงความจำเป็นผุด ม.44 อำนาจเหนือนายกฯ หวั่นไม่สอดคล้อง ม.3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
หน.ปชป.วิจารณ์ รธน.ชั่วคราว ม.44 อาจถูกมองผิดปกติ ให้อำนาจ คสช.เป็นพิเศษ ย้อนอดีตไม่ขนาดนี้ นายกฯ คงมีอำนาจจัดการความมั่นคง ต่างจากปีนี้ หน.คสช.กุมอำนาจสั่ง มีผลทั้งนิติบัญญัติ-ตุลาการ ถึงขั้นกลับคำพิพากษาได้ ไม่ได้จำกัดแค่ความมั่นคง ส่อไม่สอดคล้อง ม.3 บี้ “บิ๊กตู่” แจงถึงความจำเป็น กันเหตุป่วนที่จะเกิด

วันนี้ (23 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง “สู่ระยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44” ว่า มาตรา 44 อาจถูกมองว่าผิดปกติ เพราะให้อำนาจหัวหน้า คสช.และ คสช.เป็นพิเศษอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากโดยปกติการตราธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้นั้นกลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เช่น เมื่อปี 2549 ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อาจขอให้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่าง คมช.กับ ครม.ได้ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือในปี 2534 ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช.กับนายกรัฐมนตรี อาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงได้

แม้แต่ในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งสังคมไทยจะกล่าวถึงเสมอ คือ มาตรา 17 ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จที่สุดก็จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่งการหรือกระทำการเพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความแตกต่างในครั้งนี้ คือ ในมาตรา 44 อำนาจพิเศษนั้นเป็นของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และมาตรา 44 ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการได้โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึงความสามารถที่จะออกกฎหมายหรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้มาตรา 44 นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป หรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมดจึงอาจถูกมองได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 3

“ผมเชื่อว่าสังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีที่จะเกิดปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปก็มีที่มาจาก คสช.อยู่แล้ว และการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก ผมจึงหวังว่าหัวหน้า คสช.จะช่วยอธิบายถึงความจำเป็นและสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่าจะใช้อำนาจในมาตรา 44 นี้ ในกรณีไหนอย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้” นายอภิสิทธิ์ระบุผ่านเฟซบุ๊ก


กำลังโหลดความคิดเห็น