คาด คสช.เคาะธรรมนูญชั่วคราวกลางเดือน ก.ค.นี้ ตั้งสภาให้ทันพิจารณางบฯ 58 ปูดได้ชื่อ สนช.200 คนครบแล้ว “มีชัย-วิษณุ” เบียดนั่งประธานคุมเกม ส่วนกลไกตั้งสภาปฏิรูปยังไม่ตกผลึก วางกรอบ 250 คน เน้นคู่ขัดแย้ง “เหลือง-แดง-กปปส.-วิชาการ” ก่อนตั้ง กมธ.ยกร่าง รธน.35 คน มีตัวแทน คสช.แจมด้วย 5 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงความคืบหน้าในการร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราว ที่มีนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมายเป็นหัวหน้าทีม ว่าจำนวนสัดส่วนสภาปฏิรูปที่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งให้นายวิษณุตรวจทานและปรับปรุงพบว่า ในสัดส่วนของสภาปฏิรูปมีจำนวน 250 คนนั้น ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าสุดท้ายแล้ว คสช.จะเพิ่มหรือลดจำนวนดังกล่าวลงหรือไม่ เนื่องจากมีบุคคลที่อยากเข้าไปเป็นสภาปฏิรูปจำนวนมาก
ขณะที่วิธีการสรรหาบุคคลเข้าไปเป็นสภาปฏิรูปนั้น เดิมทีจะใช้วิธีเลือกกันเองเช่นเดียวกับการคัดเลือกสมัชชาแห่งชาติในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ที่กำหนดให้มีการสรรหาจากผู้แทนสาขาอาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จำนวน 2,000 คน แล้วให้เลือกกันเองให้เหลือ 200 คน จากนั้นให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เลือกจนเหลือเพียงแค่ 100 คน แต่มีข้อท้วงติงว่าหากจะใช้วิธีดังกล่าวอาจจะเกิดความวุ่นวายเพราะ คสช.ต้องการความหลากหลาย และคนที่เป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. นักวิชาการ จึงจะใช้ระบบสรรหา โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เข้ามาสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นสภาปฏิรูป
“ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้คณะกรรมการสรรหากี่ชุด เช่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ หรือภาควิชาชีพต่างๆ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะไปดูว่าจะนำใครมาบ้าง อาจมีการเสนอเป็นจำนวน 2-3 เท่าของจำนวนสภาปฏิรูปแล้วให้ คสช.เลือกว่าจะเอาบุคคลใดจนเหลือจำนวนที่กำหนดไว้” แหล่งข่าวระบุ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับสภาปฏิรูปจะมีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และดูแลเรื่องกรอบการปฏิรูป โดยจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจำนวน 35 คน โดยมาจากสภาปฏิรูป 20 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน และ คสช.5 คน ซึ่งกรรมาธิการฯจะต้องไปร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ จากนั้นเสนอให้สภาปฏิรูปให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่จะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้น ยังมีความลังเลกันอยู่ว่าจะกำหนดให้ทำประชามติทำหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ
“ส่วนหนึ่งกังวลว่าหากมีการทำประชามติแล้ว ถ้าเสียงไม่ผ่านหรือแพ้ก็จะมีปัญหา แต่ในทางกลับกันมองว่าการลงประชามติจะเป็นผลดี เพราะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเข้มแข็ง และคุ้มครองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ เหมือนกับตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเอาไว้ว่าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งฉบับได้ เพราะผ่านการลงประชามติมา” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจาก คสช.เปิดเผยด้วยว่า คาดว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวปี 57 ประมาณกลางเดือน ก.ค. เพื่อให้มี สนช.เข้ามาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ซึ่ง คสช.กำหนดปฏิทินให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือน ก.ค. และนำเข้าพิจารณาในชั้นฝ่ายนิติบัญญัติไว้ช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ อีกทั้งตามขั้นตอนหลังจากมี สนช.แล้วจะต้องมีการประชุมเพื่อเลือกประธาน สนช. และรองประธาน สนช. รวมไปถึงการออกข้อบังคับการประชุม นอกจากนี้ โดยปกติที่ผ่านมาก่อนการเปิดประชุม สนช.เพื่อพิจารณางบฯ จะต้องเผื่อเวลาให้กับ สนช.ได้พิจารณาตรวจดูรายละเอียดการจัดทำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานเป็นการล่วงหน้าก่อน เพื่อไปกำหนดขั้นตอนการประชุม
“สำหรับ สนช.จำนวน 200 คน ขณะนี้มีรายชื่อแล้ว โดย สนช.ชุดนี้จะมีความหลากหลาย มาจากหลายภาคส่วน ทั้งทหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และอาจมีปลัดกระทรวงด้วย อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนสนับสนุนให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน สนช.ปี 50 มาทำหน้าที่อีกครั้ง หรือไม่ก็เป็นนายวิษณุเอง เพราะผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวต้องสามารถควบคุมงานและการประชุมได้ แต่ในรายนายวิษณุนั้นยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีชื่อเป็นแคนดิเดตรองนายกฯ ด้วย” แหล่งข่าวระบุ