xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอตัดทิ้ง "ประชามติ-รธน.” หวังปิดช่องไม่ให้กลุ่มต้านขยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ยุคนี้ อะไรก็ไม่ขลังและเด็ดขาดเท่ากับฟังจากปาก “ผู้นำ”อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่รอกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 –สภานิติบัญญัติแห่งชาติ-รัฐบาลของ คสช. จะคลอดออกมาช่วงไหน เริ่มทำงานได้ช่วงไหน เก็งกันไปกันมา ทำเอาเริ่มจะมึนกันไปหมด เพราะท้ายสุดแล้ว คนจะตัดสินใจเด็ดขาดขั้นสุดท้ายว่าจะเอาอย่างไร แม้แต่ตัดสินใจว่าจะให้ คสช.พ้นสภาพไปเมื่อไหร่ ก็อยู่ที่ บิ๊กตู่ คนเดียวจริงๆ
ช่วงหลัง พลเอกประยุทธ์ เริ่มโฟกัสเงื่อนเวลาชัดมากขึ้นถึงโรดแมป คสช. 3 ระยะ ก็เริ่มพอทำให้เห็นหน้าเห็นหลังอนาคตประเทศไทยในกำมือคสช.ได้บ้างแล้ว ผ่านการถอดความครั้งสำคัญ ที่พลเอกประยุทธ์ ย้ำไว้ 2 รอบ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ครั้งแรกคือกล่าวระหว่างมอบนโยบายให้หัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ที่สโมสรทหารบก และรอบที่สองวันเดียวกัน แต่เป็นการพูดผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”ที่จะมาทุกวันศุกร์ นับจากนี้
สรุปและถอดความได้ว่า พลเอกประยุทธ์ ขยายความเรื่องโรดแมปคสช. ที่แบ่งเป็น 3 ระยะ ว่า ระยะแรก คือนับแต่ 22 พ.ค.ที่เป็นวันยึดอำนาจไปอีก 3 เดือนที่ก็จะครบ 22 ส.ค.นี้ว่า เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 การตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตั้งนายกรัฐมนตรี และครม. ทั้งหมดจะเสร็จไม่เกินช่วงปลายสิงหาคม หรือต้นกันยายน ก็จะอยู่ในช่วง 3 เดือนหลังยึดอำนาจพอดี แต่ต้องเผื่อเวลาเกินไว้ด้วยส่วนหนึ่งสำหรับการนำรายชื่อต่างๆ เช่น ชื่อนายกฯ -ครม.–รายชื่อสนช. ขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วย โดยหากฟังจากที่พลเอกประยุทธ์ พูดก็คือ ต้องการสื่อสารว่า หลังมีการประกาศใช้รธน.ฉบับชั่วคราวแล้ว จะให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปพลางๆ คือ รอบนี้จะให้มี สนช.ก่อนมีนายกฯและครม.
**เพราะพลเอกประยุทธ์บอกว่า หลังเดือนกันยายนไปแล้ว คือเดือนตุลาคมเป็นต้นไปคงมีรัฐบาลที่มาบริหารประเทศเต็มตัว
จากที่ พลเอกประยุทธ์ ขยายความโรดแมปดังกล่าว ก็สามารถตีความระหว่างบรรทัดได้ว่า คสช. น่าจะวางเดดไลน์ ให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 คลอดออกมาในช่วงปลายเดือนมิ.ย. หรือกลางเดือนก.ค. แล้ว พอรธน.ฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ ตามมา เช่น การแต่งตั้ง สนช.-การนำชื่อประธานสนช. ขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นก็ให้กระบวนการนิติบัญญัติ คือ สนช.เดินหน้าประชุมร่างกฎหมายอะไรต่างๆ ไป โดยมีวาระสำคัญเรื่องแรกที่ คสช.จะส่งไปให้พิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่เคาะกันออกมาแล้วทั้งจากคสช. และสำนักงบประมาณว่า เม็ดเงินในงบฯ ปี 58 คือ 2.575 ล้านล้านบาท และทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งไทม์ไลน์ไปยัง คสช.ว่าควรจะต้องส่ง ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯ เพื่อให้ลงมติเห็นชอบวาระแรกในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม คือไม่เกิน 6 สิงหาคม
ดังนั้นที่ พลเอกประยุทธ์ บอกว่าน่าจะมีรัฐบาลได้ช่วงกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม จึงหมายความว่า จะมีการตั้งสนช.ให้ทำหน้าที่สำคัญคือพิจารณาเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมไปพลางก่อน หากเป็นไปตามนี้ ก็หมายถึงว่า ในชั้นการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เข้าสภานิติบัญญัติฯ คงให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำแต่ละกระทรวง เช่น ปลัดกระทรวง เป็นผู้ต้องไปชี้แจงกรอบการจัดทำงบประมาณต่อสภานิติบัญญัติฯ แล้วพอสนช.เห็นชอบวาระแรก ก็เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในชั้นกมธ.เพื่อให้พิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกินช่วงกลางเดือนกันยายน แล้วจากนั้นก็ให้ส่งกลับมายังสภานิติบัญญัติฯ เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
พิจารณาดูแล้ว การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ของสนช.ทั้ง 3 วาระจะเสร็จทันก่อน 1 ต.ค.58 ที่เป็นวันแรกของปฏิทินงบประมาณแน่นอน สบายใจได้
**ส่วนการตั้งนายกฯและรัฐบาลที่บิ๊กตู่บอกว่าจะได้เห็นกันในช่วงปลายเดือนก.ย.หรือตุลาคม พุดแบบนี้ ก็ไม่ต้องตีความกันให้มาก มีโอกาสสูง พลเอกประยุทธ์ ที่จะเกษียณ 30 ก.ย.นี้ นั่งนายกฯ ค่อนข้างสูงแล้ว หลัง บิ๊กตู่ พูดชัดขนาดนี้
อันนี้ คือการถอดกรอบโรดแมป คสช. ออกมาให้พอเห็นทิศทางกันคร่าวๆ ก่อน อย่างไรก็ตาม ดูแล้ว ทุกอย่างยังไม่มีอะไรตายตัว อาจมีการเปลี่ยนแปลงโรดแมปดังกล่าวได้หากพลเอกประยุทธ์เห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนให้เข้ากับสถานการณ์ ที่ก็จะมารายงานให้ทราบกันต่อไป
อีกหนึ่งความคืบหน้าที่น่าสนใจก็คือ เรื่อง สภาปฏิรูปประเทศ ที่ค่อนข้างชัดในเบื้องต้นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จะไม่มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะให้เป็น สภาปฏิรูป ทำหน้าที่ส่วนนี้ โดยทำทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการวางกรอบปฏิรูปประเทศทั้งระบบ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เบื้องต้น เคาะกันออกมาแล้วว่า สภาปฏิรูปจะมีสมาชิก 150 คน โดยมีที่มาคือ จะมาจากการเลือกตั้งกันเอง จากตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ แต่จะคัดให้เหลือ 150 คนยังไง ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด
**ส่วนที่ชัดเบื้องต้นคือ จะให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จำนวน 35 คน แยกเป็น มาจากสภาปฏิรูปประชุม และส่งชื่อคนไป 20 คน และมาจากการส่งชื่อไปของคณะรัฐมนตรี 5 คน จากสภานิติบัญญัติฯอีก 5 คน และจาก คสช. 5 คน โดยให้ทั้ง 35 คน ทำหน้าที่เป็นกมธ.ยกร่างรธน.ฉบับใหม่ แล้วพอยกร่างเสร็จ ก็ให้ส่งไปให้สภาปฏิรูปลงมติว่า จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ
โดยมีกระแสข่าวว่ารธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 จะไม่มีการกำหนดว่าเมื่อสภาปฏิรูปผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ต้องจัดให้ประชาชน ลงประชามติว่า จะรับร่างหรือไม่รับร่าง รธน. ฉบับใหม่ เหมือนรธน.ชั่วคราว ปี 49 หมายความว่า หากสภาปฏิรูปเห็นชอบร่างรธน.ฉบับใหม่แล้วก็ให้นำร่างดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที แต่หาก สภาปฏิรูปประเทศไม่เห็นชอบ ร่าง รธน.ฉบับใหม่ ที่ร่างกันมา ก็ให้ คสช.มีอำนาจหยิบรธน.ฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยบังคับใช้มาก่อนหน้านี้มาประกาศใช้ต่อไป อันเป็นหลักการที่คล้ายกับรธน.ปี 49 ของ คสช.
ส่วนเหตุผลที่ทำไม คสช.ไม่ต้องการให้มีการทำ ประชามติ แม้คนใน คสช. ไม่บอก แต่ก็พอเดากันได้ไม่ยากว่า เพราะรู้ดีว่า หากเปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้น ก็คือเปิดพื้นที่ให้ พวกต้าน คสช. อย่างคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาก่อหวอดปลุกกระแส ต้านรธน.ฉบับ คสช. โดยการรณรงค์ให้ลงติ ไม่รับร่าง รธน.ของ คสช.
**จนทำให้การลงจากอำนาจของคสช.ในช่วงปลายๆ อาจมีปัญหาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น