xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กติกูบิ๊กตู่ ลัด “อีไอเอ” เมกะโปรเจ็กต์ “เขื่อนแก้แล้ง โรงไฟฟ้า” จ่อคิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตื่นตะลึงกันทั้งเมืองเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฯ 2557 ออกคำสั่งให้เดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์คู่ขนานไปโดยไม่ต้องรอให้ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ผ่านเสียก่อน งานนี้เรียกแขกรุมกระหน่ำ คสช. ถล่มทลายแบบไม่ต้องนัดหมายกันล่วงหน้า

งานนี้ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นักเคลื่อนไหวที่มีต้นทุนทางสังคมสูง และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนของ 46 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ออกหน้าสวนหมัดกลับคืนทันควัน

แถลงการณ์ของ 46 องค์กรเครือข่ายฯ ได้วิเคราะห์คำสั่งดังกล่าว 2 ข้อคือ
คำสั่งของ คสช.ที่ให้เดินหน้าเมกะโปรเจกต์คู่ขนานไปโดยไม่ต้องรอให้ EIA/EHIA ผ่านเสียก่อน
หนึ่ง คำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 เป็นการส่งสัญญาณทางนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม เช่น ท่าเรือ ระบบรถไฟ ทางด่วน ฯลฯ ชลประทาน เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมักประสบปัญหาการทำลายนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชนท้องถิ่นตลอดมา การเร่งรัดดังกล่าวเป็นการลดความสำคัญด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการโดยที่มาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังมิได้รับความเห็นชอบเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บกพร่องในการละเว้นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ

“สาระสำคัญและผลของคำสั่งนี้ จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้แสดงความผูกพันทางการเมืองในทางปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

สอง โครงการหรือกิจการเข้าข่าย คำสั่งที่ 9/2559 เป็นโครงการของหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต แม้ว่าจะยังให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่จะสร้างผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระในการจัดทำและพิจารณาของ EIA และจะยิ่งทำให้โครงการที่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว มีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เชื่อถือยอมรับจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่โครงการรวมทั้งจากสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม

องค์กรเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้องขอให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งนี้เสีย เพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งเพิ่มขึ้น และควรผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำอีไอเอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้เกิดความล่าช้าเกินควร และให้นำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) มาใช้ดำเนินการ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ทั้งฉบับ เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยข้อเสนอแนะการยกร่างปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวจัดทำไว้แล้วโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน วิเคราะห์คำสั่งดังกล่าวว่า เป็นการทำลายหลักการป้องกันล่วงหน้า และเป็นรายการคืนความสุขให้กลุ่มทุน เป็นการใช้อำนาจที่เกินความจำเป็น อันขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 4 และ 5 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 โดยชัดแจ้ง คำสั่งดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ แต่อย่างใด อีกทั้งยังส่งเสริมความขัดแย้งและแตกความสามัคคีของประชาชนในชาติ เพราะจะทำให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศออกมาคัดค้านกันอย่างมากมาย

“คำสั่งนี้ ถือเป็นการทำลาย “หลักการ” ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง ที่มุ่งเน้น “หลักการป้องกันไว้ล่วงหน้า” หรือ Precautionary Principle โดยการกำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (36+11 ประเภท) จะต้องจัดทำ EIA/EHIA เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเสียก่อนเท่านั้น”

นอกจากนั้น คำสั่ง คสช.ที่บัญญัติว่า “ระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้นั้น” เป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์หรือคืนความสุขให้กลุ่มทุน และจะเป็นการบีบบังคับการทำหน้าที่ของ คชก.ให้จำต้องให้ความเห็นชอบรายงาน EIA/EHIA ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปก่อนล่วงหน้าแล้วเท่านั้น เรื่องนี้หากคสช.ยังเดินหน้าต่อเจอกันแน่ที่ศาลปกครองสูงสุด

นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอีกคนหนึ่งคือ นายสุรชัย ตรงงาม จากสำนักกฎหมายนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยในทำนองเดียวกันว่า คำสั่งดังกล่าวมีข้อน่ากังวล เนื่องจากมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ กำหนดว่าโครงการขนาดใหญ่ที่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วเป็นอย่างดี จึงจะเริ่มโครงการ หรือจัดทำเอกสารเชิญชวนเอกชนเข้าประกวดราคาได้ แต่คำสั่งดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานสามารถเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาได้โดยที่ยังไม่ทราบผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

“โครงการแบบนี้มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ทั้งสิ้น และเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งมีมูลค่าโครงการพันกว่าล้านบาทขึ้นไป เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน ระบบขนส่ง รถไฟรางเดี่ยว รางคู่ หรือเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งการคมนาคม อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ยังเป็นปัญหาอยู่”

ข้อวิเคราะห์จากมุมมองของภาคประชาชน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า คำสั่งดังกล่าวกลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือ กลุ่มทุนหรือผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลสามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โครงการก่อสร้างเขื่อน รวมทั้งเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาสาธารณภัย เช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วม แต่การเดินหน้าโครงการโดยอาศัยคำสั่งดังกล่าว จะสร้างความขัดแย้งในพื้นที่โครงการใหญ่ทุกหย่อมหญ้าชนิดที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยกันเลยทีเดียว

หากกางแผนที่โครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ของประเทศไทยในเวลานี้ สามารถวาดภาพได้เลยว่า จะมีประชาชนที่รับผลกระทบจากคำสั่งนี้มากมายมหาศาลขนาดไหน ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว ครอบคลุมทุกพื้นที่ เหนือ อีสาน กลาง ใต้ เช่น เขื่อนในลุ่มน้ำภาคเหนือ 8 เขื่อน เช่น เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองชมพู เขื่อนห้วยตั้ง ฯลฯ เขื่อนและผันน้ำสาละวิน รวมถึงเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนลำสะพุง เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ เขื่อนคลองกลาย และโครงการที่อ้างเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม ที่วางไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น ฟลัดเวย์ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีโครงการใหญ่ เช่น ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเทียบเรือน้ำลึกชุมพร ท่าเทียบเรือกระบี่และเทพา รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้ามอเตอร์เวย์ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ
องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนออกแถลงการณ์ต่อต้านคำสั่งดังกล่าว
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาถ่านหิน กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวสะท้อนว่า คสช.กำลังตกอยู่ในอำนาจของทุนอุตสาหกรรม และคล้ายกับการลองของว่าจะมีปฏิกิริยาจากสังคมอย่างไรบ้าง โดยคำสั่งดังกล่าวส่งสัญญาณว่าไม่ว่าอีไอเอจะผ่านหรือไม่ก็ยินดีอนุมัติ หากไม่มีการคัดค้านคำสั่งนี้ ในอนาคตอาจมีการออกคำสั่งให้ไม่ต้องทำอีไอเอเลยก็ได้

เจอรุมยำจากภาคประชาชนทุกสารทิศ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โร่ออกมาชี้แจง โดยสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews รายงานว่า นายเกษมสันต์ ยืนยันว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 ไม่ใช่การยกเลิกหรือข้ามขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ทุกโครงการขนาดใหญ่ยังต้องทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอเหมือนเดิมทุกประการ

คำสั่งดังกล่าว จะทำให้กระบวนการจัดทำอีไอเอ อีเอชไอเอ การจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคม รวมทั้งการหาแหล่งเงินกู้หรือการร่วมทุนสามารถดำเนินการได้แบบคู่ขนาน ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐลงได้มากกว่า 2 ปี หรือครึ่งหนึ่งของระยะเวลาเดิม และยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ด้วย แม้ประกวดราคาผ่านแต่ก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญา และหากโครงการดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาอีไอเอหรืออีเอชไอเอก็ให้ยกเลิกโครงการไปได้

ถามว่าอะไรคือแรงขับดันอยู่เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าวของหัวหน้า คสช. มีคำอธิบายจาก พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชัดเจนว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีปัญหาเศรษฐกิจ จึงมีแต่โครงการลงทุนโครสร้างต่างๆ ที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการเร่งรัดเมกะโปรเจ็กต์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลต้องการเร่งรัดการลงทุนให้เร็วขึ้น จึงต้องการให้ขั้นตอนของการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดำเนินการไปพร้อมกับการชักชวนเอกชนมาร่วมลงทุนในคราวเดียวกัน แต่การดำเนินการจะไม่เกินเลยไปถึงขั้นลงมือก่อสร้างจนกว่าอีไอเอและอีเอชไอเอจะผ่าน ไม่ได้ลดขั้นตอนความสำคัญของการศึกษาอีไอเอ ไม่ใช่ทำเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น

“.....ทุกขั้นตอนต่างๆ ยังมีความสำคัญและดำเนินการตามเดิม เพียงแต่นายกฯ เน้นย้ำว่าระหว่างทำควบคู่ไปแล้ว การศึกษานั้นไม่ผ่านโครงการนั้นต้องหยุดและยกเลิกทันที โดยไม่เกิดความเสียหายใดๆ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น” โฆษกรัฐบาล กล่าว

คำอธิบายนี้จะฟังขึ้นหรือไม่ ภาคประชาชนได้วิเคราะห์ขาดตั้งแต่ต้นแล้ว และเลือกที่จะไม่เชื่อคำพูดของ คสช. เพราะเห็นความตั้งอกตั้งใจคืนความสุขให้กลุ่มทุนของคสช.มาหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 “ปลดล็อกผังเมือง” เพื่อนายทุน เรื่องเปิดทางให้เอกชนเช่าที่ดิน 99 ปี จนมาถึงล่าสุดลัดขั้นตอนอีไอเอ

เมื่อการออกคำสั่งเพื่อเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจต้องแลกด้วยความขัดแย้งในสังคม นาทีนี้หัวหน้า คสช.คงต้องคิดหนัก จะดึงดันเดินหน้าต่อไปหรือจะถอยมาพิจารณาทบทวนใหม่ เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ล้วนแต่มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งนั้น ยิ่งเศรษฐกิจทั่วโลกผันผวนกระทบภาคส่งออกติดลบ ซ้ำเติมด้วยภาวะภัยแล้งที่รุนแรงกว่าที่คาดชนิดที่แล้งสุดในรอบ 20 ปี กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลงต่ำกว่า 3.5% แต่การเลือกหนทางสร้างความขัดแย้งในสังคมก็ไม่เป็นผลดีต่อ คสช. ซึ่งตอนนี้คิดสืบทอดอำนาจอยู่กันยาวๆ เช่นกัน

อย่าดูเบาไป นี่ถือเป็นหมากอีกตาที่เดิมพันอนาคตของ คสช. “บิ๊กตู่” จะเลือก “กติกู” หรือจะเลือกรักษากติกา ??

ล้อมกรอบ//

คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 9/2559 คืนความสุขกลุ่มทุน

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาดังนี้ “โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินโครงการหรือกิจการของรัฐในการจัดการให้มีสาธารณูปโภคอันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะสามารถดำเนินการได้โดยรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักดิ์ราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 “ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณะภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผู้พันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้"

ข้อ 2 คำสั่งนี้ใช้คับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ



กำลังโหลดความคิดเห็น