“..... ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะถอยเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนโยบายพลังงานอื่นๆ ที่เอื้อกลุ่มทุน ก็ต้องบอกว่าคิดผิด แท้จริงเป็นเพียงการถอยทางยุทธวิธีเพื่อลดกระแส แต่เป้าหมายไม่เคยเปลี่ยน....” นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงงานไทย (คปพ.) มองการเบรกเกมของรัฐบาลแบบทะลุปรุโปร่ง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อย่างที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดชัด “.... รัฐบาลไม่ได้ถอย ทุกอย่างทำตามขั้นตอน และทำตามกฎหมาย...”
“ต่อไปไฟฟ้าจะไม่ดับที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเราก็ต้องเตรียมการล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีโรงไฟฟ้าที่จะดูแลประชาชนในอนาคตเลย แต่ยังมีประชาชนไม่เข้าใจ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่อง การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ฉบับเดิม เรามีผู้ทรงคุณวุฒิได้ไปศึกษาแล้ว และมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน”พล.อ.ประวิตร กล่าวอย่างเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์อันยาวไกลของตัวเอง
“บิ๊กป้อม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งนาทีนี้คงหมายรวมถึง “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เข้าไปด้วยนั้น ย้ำให้เข้าใจกันถ้วนทั่วอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้ถอย .... และ “มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ชัดป่ะ !!
การตอกย้ำเดินตามเป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ให้ได้ไม่เปลี่ยนแปลงนั้น หมายความว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะ ที่มีมติให้ไปทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือบ้านคลองรั้ว และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ใหม่อีกครั้ง โดยมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาหนึ่งชุด โดยคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี นั้น เป็นเพียงการถอยเพื่อรอจังหวะรุกอีกครั้ง อย่างที่ นางสาวรสนา อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ วิเคราะห์ขาด
ถ้ายังไม่ลืมกันง่ายไปก็คงจำได้ว่า เมื่อคราวที่แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าแห่งนี้ อดข้าวคัดค้านราวครึ่งเดือนเมื่อกลางปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี มีตัวแทน 29 คน จากฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายประชาชนเพื่อศึกษานโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และศึกษาทางเลือกด้านพลังงานสำหรับกระบี่ด้วย โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธาน จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็เดินย่ำกลับมาตั้งไตรภาคีอีกครั้ง
การวิเคราะห์ของนางสาวรสนา จึงไม่ได้กล่าวลอยๆ ว่านี่เป็นการถอยทางยุทธวิธี ยิ่งเมื่อเทียบเคียงกับเส้นทางการต่อสู้เรื่องกฎหมายปิโตรเลียม ที่ผ่านมาเกือบสองปีแล้ว ยิ่งชัดเจน เพราะรัฐบาลเล่นพายเรือวนในอ่าง
นางสาวรสนา ฉายภาพให้เห็นว่า “.... นโยบายเรื่องพลังงานของทุกรัฐบาลในระยะ15 ปีที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลจากการรัฐประหาร ไม่มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ประชาชนถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงาน เพราะนโยบายนี้คือกติกาการบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใครนั่นเอง นโยบายพลังงานถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนและกลุ่มข้าราชการมานาน และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้จากบนลงล่าง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการกระทำและคำพูดของนายกรัฐมนตรี
“อย่างเช่นคำพูดที่ว่าเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2550 ดังนั้นที่ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะถอยเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนโยบายพลังงานอื่นๆ ที่เอื้อกลุ่มทุนก็ต้องบอกว่าคิดผิด แท้จริงเป็นเพียงการถอยทางยุทธวิธีเพื่อลดกระแส แต่เป้าหมายไม่เคยเปลี่ยน ไม่เชื่อขอให้ดูร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับที่อยู่ในการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นกติกาสำคัญในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ แทนที่รัฐบาลจะใช้เวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาแก้ไขจุดอ่อนตามข้อทักท้วงของประชาชนที่ต้องการเพียงแค่ให้รัฐบาลแก้ไขตามรายงานการศึกษาของ สนช. แต่การที่รัฐบาลเล่นรำวงวนเวียน แต่ไม่แก้ไขจุดอ่อนก็ไม่ต่างจากเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่รัฐบาลตั้งไตรภาคีก็เป็นเพียงพิธีกรรมอันกลวงเปล่า พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลไม่ได้จริงใจแก้ไขในสิ่งที่ควรจะเป็น....”
ยิ่งเมื่อมองย้อนขึ้นไปก่อนหน้าที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถอยทางยุทธวิธีเพื่อลดกระแสต้าน และห่วงสถานการณ์อาจบานปลาย ก็จะเห็นชัดเจนว่า ทั้ง 3 คน พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แท็คทีมดันกันสุดลิ่มทิ่มประตู ชนิดที่ฝันหวานกันว่าถึงคราปักธงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากบิ๊กป้อมว่า “ผิดแผน” มาหลายปี ซึ่งที่ถูกต้องน่าจะเป็น “แผนผิด” จึงเดินต่อไปไม่ได้มากกว่า
อันที่จริง ก็อย่างที่รู้ๆ กันดีในแวดวงพลังงานว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan - PDP) หรือแผนพีดีพี ไม่ว่าจะเป็นแผนพีดีพี 2015 ที่กำหนดจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือแผนพีดีพี ฉบับไหนๆ ก็จัดทำกันขึ้นมาแบบ “ลวกจิ้ม” ทึกทักเอาบ้าง มโนกันไปบ้าง อ้างตัวเลขเศรษฐกิจจะเติบโตพุ่งกระฉูดเกินจริง เพื่อจะได้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มารองรับ ซึ่งความจริงที่ผ่านมาไม่เคยเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์เอาไว้เลย
ที่เจ็บแสบยิ่งกว่านั้นก็คือ ความไม่รับผิดชอบเมื่อวางแผนผิดพลาด เพราะเมื่อกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือบานเบอะก็ยังมาให้ประชาชนแบกรับต้นทุนที่ดันผลิตมาล้นเกินนั่นเสียอีก เหล่านี้คือสิ่งที่ทำกันเช่นนี้มานมนานชั่วนาตาปี โดยกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่วางแผนกับกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งพวกขายเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าล้าสมัย และขายเชื้อเพลิง ได้รับประโยชน์สุขเกษมเปรมปรีดิ์กันถ้วนหน้า
ดังนั้น พื้นฐานในการทำแผนพีดีพี จึงเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีความชอบธรรม ไม่สมเหตุสมผล มาตั้งแต่ต้น และแผนพีดีพี ที่ทำกันไม่เคยมีตัวแทนประชาชนอยู่ในนั้นเลย แผนจัดหาพลังงานไฟฟ้า ล้วนทำกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้องวงแคบๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน นอมินีหรือตัวแทนของผู้ขายเชื้อเพลิงรายใหญ่ให้โรงไฟฟ้าอย่าง ปตท. และนักวิชาการด้านพลังงานหน้าเดิมๆ
จากนั้น ก็เอาแผนที่มโนกันมาให้นักการเมืองที่นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการด้านพลังงานชุดต่างๆ ประทับตรา “ผ่าน” แผนพีดีพี จึงสร้างปัญหาเสมือนโรคร้ายเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ไม่ว่าจะผ่านมากี่แผนหรือปรับปรุงใหม่กี่ครั้งก็ตาม
คำถามเวลานี้ คือบรรดานักวางแผนทั้งหลายและนักการเมือง จะแอ่นอกออกมารับผิดชอบไหม เมื่อธรรมชาติอันสวยสดงดงามของท้องทะเลกระบี่ถูกทำลายย่อยยับ บอกได้ล่วงหน้าเลยว่า ถึงเวลานั้น ย่อมไม่มีใครหน้าไหนออกมายอมรับความผิดพลาดนี้ แม้แต่นายกฯ “ลุงตู่” และ “บิ๊กป้อม” ซึ่งไม่รู้ว่าวันนั้นไปอยู่เสียที่ไหนแล้ว
และคราวนี้ นักการเมืองที่เป็นที่พึ่งของพี่น้องในภาคใต้อย่าง “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ก็เงียบฉี่ ไม่นับว่านักการเมืองจากค่ายประชาธิปัตย์ ขวัญใจชาวใต้อีกคนอย่างนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย ได้ออกมาชูรักแร้เชียร์โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อีกต่างหาก
อย่างที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการด้านพลังงานชุดต่างๆ มายาวนานเกือบทุกรัฐบาล จนเรียกได้ว่าเป็น “คนวงใน” ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เอาไว้ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า มีข้อบกพร่องที่รุนแรงมาโดยตลอด และเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว อีกทั้งยังมีการใช้ข้อมูลตัวเลขที่ไม่ค่อยโปร่งใส ทำกันแบบเร่งรัดมากเกินไป การเปิดรับฟังความเห็น ก็เป็นแบบทำไปอย่างงั้น เพราะข้อสรุปออกมาก็เหมือนเดิม
ความบกพร่องอย่างรุนแรงของแผนพีดีพี ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่กลายเป็นเรื่องทะเลาะกันเกิดขึ้นเพราะข้อมูล ความเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน
นี่ยังไม่นับว่า บรรดานักวางแผนพลังงาน ทั้งกระทรวงพลังงาน กฟผ. และระดับนโยบายที่ตัดสินใจเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน มีความคิดคับแคบ มุ่งเน้นแต่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ไม่ก๊าซธรรมชาติ ก็ถ่านหิน ไม่งั้นก็สร้างเขื่อน ย้ำคิดย้ำทำกันอยู่อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ทั่วโลกเขาก้าวไปไกลถึงไหนๆ แล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคต เช่น โซล่าเซลล์ ที่พี่ไทยเอาแต่บอกว่าแพงไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ซึ่งอีกความหมายหนึ่งก็คือการกีดกัน ไม่อยากลงทุนพัฒนา
ไม่นับเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน เพราะรัฐบาลดันใช้ให้ กฟผ. เป็นหัวหอกในการพัฒนาพลังงานแห่งอนาคต ทั้งที่ กฟผ. เป็นพวกนิยมฟอสซิลเข้าสายเลือด
ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง เมื่อพื้นฐานในการวางแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศ มีความบกพร่องอย่างรุนแรง จึงได้เห็นการต่อล้อต่อเถียงกันเรื่องความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มาโดยตลอด รัฐบาลและฝ่ายหนุน ก็บอกว่าไฟฟ้าภาคใต้จะขาดแคลน ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้รองรับ อย่างที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “.... ถ้าไม่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ไฟฟ้าก็จะดับเพราะมีปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่สร้างขึ้นในพื้นที่ภาคใต้...”
ขณะที่ภาคประชาชนที่คัดค้านก็กางข้อมูลออกมาโต้แย้งว่า มีไฟฟ้าอยู่เพียงพอ สายส่งไฟฟ้าก็ครอบคลุมทั่วทั้งภาคใต้อยู่แล้ว ถ้าไม่พอจะทะลึ่งส่งไฟออกไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านทำไม
ดังที่ นายประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ว่าไว้ “ กระบี่มีโรงไฟฟ้าขนาด 340 เมกกะวัตต์ ใช้ไฟฟ้าพีคสุด 140 เมกกะวัตต์ ภาคใต้มีการผลิตและสายส่งขนาด 3,800 เมกกะวัตต์ ใช้ไฟฟ้าพีคสุด 2,600 เมกกะวัตต์ ประเทศไทยมีกำลังการผลิต 41,000 เมกกะวัตต์ ใช้ไฟฟ้าพีคสุด 29,000 เมกกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ตรงไหนที่ไฟฟ้าไม่พอ ไฟฟ้าที่เกินกำลังสำรองไปจำนวนมากมีมูลค่าหลายแสนล้านประชาชนทุกคนต้องจ่ายผ่านค่าไฟทุกเดือน
“ตามแผนพีดีพีฉบับนี้จะสร้างไฟฟ้าให้ถึง 70,000 เมกกะวัตต์ กำลังสำรองจะเกินไปมากเพราะแนวโน้มการเติบโตไม่ได้มากมายขนาดนั้น ที่ผลิตไว้มากนั้นเป็นความตั้งใจเพราะผลิตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เงิน
“โรงไฟฟ้าที่สร้างไว้จำนวนมาก ไม่ผลิตเราก็ต้องจ่ายและขณะนี้ผลิตเกินจำนวนมากมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ผลิตเต็มศักยภาพ เราก็ต้องจ่ายภายใต้กติกาค่าความพร้อมจ่ายซึ่งปีที่แล้วมีมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท คนไทยทุกคนต้องจ่าย
“การสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากจึงเป็นที่ปรารถนาของ กฟผ.และกลุ่มทุนพลังงาน เพราะส่วนเกินทั้งหมดผู้ผลิตไม่ต้องรับผิดชอบแต่ประชาชนรับผิดชอบภายใต้กฎหมายที่เขียนขึ้นมาแบบไม่เป็นธรรม มหกรรมการสร้างโรงไฟฟ้าจึงเกิดขึ้นจำนวนมาก ด้วยมูลค่าที่ประชาชนจะต้องจ่ายปีละกว่า 6 แสนล้านบาท
“6 แสนล้านบาทนี้กระจายไปยังใครไม่กี่กลุ่ม พลังงานหมุนเวียนจึงเกิดขึ้นไม่ได้เพราะส่วนแบ่งเหล่านี้จะกระจายไปยังประชาชนทั้งประเทศ กลุ่มทุนที่กุมสภาพของพลังงานไว้สามารถนำเงินจำนวนมากเหล่านี้ไปจัดการกับอำนาจรัฐเพื่อให้สร้างกฎกติกาที่เป็นประโยชน์กับตัวเองได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น พิจารณาจากวงการพลังงานไฟฟ้าแล้ว สามารถคาดเดาวงการอื่นๆ ในประเทศได้ว่าเลวร้ายขนาดไหน ... ประเทศไทยจึงมีสภาพของการโตขึ้นของคนบางกลุ่มและความยากลำบากของคนจำนวนมาก วาทกรรมที่เลวร้ายเรื่องไฟฟ้าขาดจึงเพียงสร้างขึ้นมาเพื่อความชอบธรรมในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เท่านั้นเอง
“.... ทุกภาครับและส่งไฟให้แก่กันเป็นเรื่องปกติ แต่พอจะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ วาทกรรมอันเลวร้ายว่าไฟฟ้าขาดจึงผุดขึ้นทันที ความเลวร้ายแบบนี้สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย"
ตบท้ายด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำ คปพ. ที่ตั้งคำถามว่า “..... ถ้าสายส่งจากภาคกลางส่งไปไปภาคใต้มีปัญหาจริงและไฟฟ้าภาคใต้ขาดจริงด้วยแล้ว เหตุใดประเทศ ไทยจะยอมให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขายไฟฟ้าผ่านโครงข่ายสายส่งของไทยส่งไกลข้ามประเทศไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ไกลมากมายมหาศาล ได้อย่างไร?
“โดยเฉพาะปีนี้ลาวจะเริ่มส่งไฟฟ้าผ่านโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทยไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ เดือนกันยายน 2560 จำนวน 100 เมกกะวัตต์ และอาจะเพิ่มขึ้นต่อๆ ไปในอนาคต คำถามคือถ้าภาคใต้ของไทยมีวิกฤต มีปัญหาสายส่งจากภาคกลางจริง แล้วจะเห็นชอบส่งออกไฟฟ้าไปมาเลเซียเพิ่มขึ้นดึงไฟฟ้าจากภาคใต้ของไทยไปเพื่ออะไรหรือว่าเป็นเทคนิคที่ทำให้ไฟฟ้าที่ภาคใต้ขาดแคลนมากยิ่งขึ้น ใช่หรือไม่?
“ถ้ารัฐบาลห่วงใยในเรื่องไฟฟ้าที่ภาคใต้จริง และไฟฟ้าขาดแคลนจริง เหตุใดจึงปล่อยให้ไตรเอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งจะหมดอายุสัญญาผลิตไฟฟ้าลงแต่ยังมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าต่อไปอีก 10 ปี และพร้อมขายไฟฟ้าในประเทศไทย ในราคาที่ถูกลง แต่กลับไปปล่อยให้บริษัทดังกล่าวส่งออกไฟฟ้าไปเมียนมาร์ เพื่อลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลง อันเป็นเหตุอ้างที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใช่หรือไม่ ?
พร้อมทิ้งคำถามตัวโตๆ ว่า “... แท้จริงแล้วภาคใต้จึงไม่ได้ขาดไฟฟ้า แต่มีคนบางกลุ่มหวังรวยจากถ่านหิน ที่กำลังเป็นธุรกิจขาลงทั่วโลกใช่หรือไม่ ?
ถามต่อว่า กลุ่มทุนไหนกำลังคิดรวยจากถ่านหิน ต้องติดตามการคุ้ยแคะของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การอนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหนินกระบี่ โยงดีล “ปตท.-กฟผ.-แม้ว” ถอนทุนเหมืองถ่านหิน โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 ปตท. ซื้อเหมืองถ่านหิน ปี 2555 จากนั้น มีข่าวนายทักษิณ ชินวัตรเจรจาซื้อเหมือง ปี 2556 (แต่ไม่ยืนยันว่าเจรจาสำเร็จ) ตามด้วย กฟผ. ที่เข้าซื้อเหมือง ปี 2559 โดยราคาของถ่านหิน ได้พุ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนจากระดับราคา 30-40 ดอลลาร์ต่อตัน ขึ้นไปสูงสุดถึงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อตัน ในช่วงปี พ.ศ. 2548-2553 หลังจากนั้นก็อ่อนตัวลงมาเรื่อย
ขณะที่กลุ่มทุนที่ไปซื้อเหมืองยังฝันหวานอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ราคาถ่านหินจะกลับขึ้นไปเกิน 120 ดอลลาร์ต่อตัน เหมือนเดิม แต่ความจริงคือ ยัง “ติดยอดดอย” เพราะแนวโน้มราคาถ่านหินประเมินโดยธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ จะอยู่ระดับไม่เกิน 60 - 70 ดอลลาร์ต่อตัน ดังนั้น พ่อค้าถ่านหินจึงย่อมจะผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าในไทยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เท่านั้นที่จะสร้างหลักประกันว่า เหมืองจะขายถ่านหินได้ต่อไปในอนาคตอีก 30 ปี
และมันมีความเป็นไปได้อย่างที่คอลัมนิสต์ดังค่ายสื่อเครือผู้จัดการ "พายัพ วนาสุวรรณ" ถามไถ่ไหมว่า ".... นี่ถามจริงๆ เลยนะ มันมีขบวนการจะกินค่าหัวคิวถ่านหินอินโดฯ มาตั้งแต่ต้นแล้ว เป็นไปได้ไหม? เป็นไปได้แน่นอน!!! ถ้าสินบนโรลส์รอยซ์เป็นไปได้ ทำไมเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้ !!!
ดังนั้น ถ้าจะโทษ “บิ๊กป้อม” ถ้าจะบ่น “บิ๊กตู่” ก็ต้องไม่ลืมบรรดา “บิ๊กๆ กฟผ.” ผู้ซึ่งชงแผนและผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมเข้าไปด้วย
โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกทยอยปิด
ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้ว 94 โรง ตั้งแต่ปี 2013 โดยบารัก โอบามา ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประกาศยกเลิกการใช้งบประมาณของรัฐในการสนับสนุน โรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ รวมทั้ง มีแผนการยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกกว่า 150 โรงภายใน 4 ปี สนับสนุนความมั่นคงของชาติด้วยพลังงานหมุนเวียน
ประเทศนิวซีแลนด์ เดินหน้าการปฏิรูปพลังงาน ตั้งเป้าเลิกใช้ถ่านหินภายใน 2018 โดยมีความพยายามลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นว่าการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง จะมีการลงทุนในพลังงานทดแทนอื่นๆ มากขึ้น ภายในปี 2025
ประเทศออสเตรเลีย รัฐควีนส์แลนด์ งดสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินเพิ่มโดยให้เหตุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดระบบ Ultra super-critical ยังก่อมลพิษมากกว่าใช้ Gas ถึง 2 เท่า และเทคโนโลยีการจับและกักเก็บคาร์บอนมีต้นทุนสูงเกินไป
ประเทศเนเธอร์แลนด์ รัฐสภาเปิดโหวตและมีผลคะแนน 77 ต่อ 72 ให้ปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของประเทศที่มีอยู่ 5 แห่ง เพื่อจะบรรลุเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 55 ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถ
ประเทศฝรั่งเศส ปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินเฮเซลวูด ย่านลาโทรบวัลลีย์ เนื่องจากไม่คุ้มทุนและก่อมลพิษมากมานานกว่าครึ่งศตวรรษ พร้อมประกาศปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทั้งหมดทั่วประเทศภายในปี 2023
สหราชอาณาจักร ประกาศปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2025 แล้วทดแทนด้วยพลังงานที่สะอาด มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก
ประเทศแคนาดา รัฐออนตาริโอ ประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องด้วยเหตุผลระดับมลภาวะในอากาศ
สาธารณรัฐจีน ล่าสุด ปี 2016 รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 103 แห่ง ที่อยู่แผนความมั่นคงด้านพลังงานและอยู่ระหว่างก่อสร้าง ทั้งนี้ เพื่อลดความสูญเปล่าในการลงทุน หลีกเลี่ยงพลังงานสกปรกสร้างมลภาวะ ภายในปี 2020 จะมุ่งไปสู่พลังงานใหม่ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ประกาศจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและยกเลิกโครงการถ่านหินทวาย ตั้งแต่ราวๆ ปี 2012
ประเทศเวียดนาม ประกาศทิศทางด้านพลังงานปฏิเสธถ่านหิน